Pfizer ยังรับมือเดลตาไหวไหมหลังเจอฤทธิ์เดลตา
สื่อบางเจ้าบอกว่า Pfizer ประสิทธิภาพลดเมื่อเจอเดลตา บางเจ้าบอกว่าช่วยลดอาการป่วยหนักได้ แล้วจนถึงตอนนี้ Pfizer ยังสู้เดลตาไหวไหม
วานนี้ (5 ก.ค.) มีการเปิดเผยประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer/BioNTech ในอิสราเอลหลังจากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาด ปรากฏว่าสื่อตะวันตกตีข่าวกันคนละแง่มุม โดย Reuters บอกว่าประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ขณะที่ Bloomberg บอกว่า Pfizer ช่วยลดอาการป่วยหนักได้
แล้วสรุปว่า Pfizer รับมือสายพันธุ์เดลตาที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยเตือนว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วได้มากน้อยแค่ไหน
จากการใช้งานจริงของอิสราเอลพบว่า ระหว่างวันที่ 6 มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer ในการป้องกันการป่วยอยู่ที่ 64% ขณะที่ตัวเลขประสิทธิภาพก่อนหน้านี้อยู่ที่ 94%
ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.-5 มิ.ย. อยู่ที่ 98.2% แต่ระหว่างวันที่ 6 มิ.ย.-3 ก.ค. ลดลงเหลือ 93%
จะเห็นว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยลดลงค่อนข้างเยอะ ส่วนการป้องกันอาการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาการหนักต่างกันเล็กน้อย
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลยังพบว่าผู้ติด Covid-19 รายใหม่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว เมื่อวันศุกร์ (2 ก.ค.) 55% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ฉีดวัคซีนแล้ว และจนถึงวันที่ 4 ก.ค. มีผู้ป่วยอาการหนัก 35 คนจากประชากรทั้งหมด 9.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 21 คนเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางการอิสราเอลตั้งข้อสังเกตว่าประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer ลดลงในช่วงที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายในอิสราเอล และการผ่อนคลายมาตรการสกัดการแพร่ระบาดอย่างการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและการเว้นระยะห่างที่เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.
ด้าน เดอร์วิลา คีน โฆษกของ Pfizer ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลล่าสุดของอิสราเอล เพียงแต่ชี้ไปที่การวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีนยังคงป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ เพียงแต่ลดลงในบางกรณี และย้ำว่าจนถึงตอนนี้หลักฐานยังชี้ให้เห็นว่าวัคซีนยังคงป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้ได้อยู่
ทว่า รัน บาลิเซอร์ ประธานที่ปรึกษาด้าน Covid-19 แห่งชาติของอิสราเอลเผยว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินประสิทธิภาพที่แม่นยำของวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อในอิสราเอลหลังได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสยังมีน้อย และเนื่องจากการสัมผัสเชื้อและความเป็นไปได้ที่จะได้รับการตรวจหาเชื้อยังกระจายไม่ครอบคลุมประชากร ซึ่งทำให้ความพยายามในการหาข้อสรุปซับซ้อนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้รัฐบาลอิสราเอลมีแผนจะทำการศึกษาผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังติด Covid-19 รวมทั้งปัจจัยต่างๆ อาทิ อายุ อาการป่วยที่มีอยู่ก่อนแล้ว และวันที่ได้รับวัคซีน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนและอัตราที่ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
ขณะที่ อัลเบิร์ต บัวร์ลา ซีอีโอของ Pfizer เผยว่า หลังจากได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสไปแล้ว 12 เดือนอาจต้องฉีดเข็มที่ 3 อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เฉพาะวัคซีน Pfizer เท่านั้นที่ประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลตา
การวิจัยของอังกฤษโดยนักวิจัยจากราชวิทยาลัยลอนดอน สถาบันฟรานซิสคริก และมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ เพื่อศึกษาการลดประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกัน Covid-19 ต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ ซึ่งตีพิมพ์ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ medRxiv พบว่า สายพันธุ์เดลตาและเบตา (แอฟริกา) มีความเกี่ยวข้องกับการลดประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) หรือสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่น
Photo by JACK GUEZ / AFP