posttoday

สื่อนอกตั้งคำถาม ไทยจะเปิดประเทศใน 120 วันได้จริงหรือ 

08 กรกฎาคม 2564

บลูมเบิร์กมองว่าไทยอาจเปิดประเทศเต็มที่ไม่ได้ภายใน 120 วัน เพราะคุม Covid-19 ไม่อยู่จนตัวเลขติดเชื้อพุ่ง 10 เท่า

บทความของสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า ไทยเสี่ยงพลาดเป้าหมายที่จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน เนื่องจากไม่บังคับใช้มาตรการสกัด Covid-19 ที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมการติดเชื้อในระลอกที่รุนแรงที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การแพร่กระจายของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาและอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นไม่หยุด ในขณะที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเหลือแล้ว หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น 10 เท่านับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.

Bloomberg ระบุต่อว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแรกนอกจีนที่พบผู้ติด Covid-19 กำลังดิ้นรนเพื่อหยุดยั้ง Covid-19 หลังจากประสบความสำเร็จในการสู้กับการแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้วซึ่งมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ทว่าการล็อกดาวน์ครั้งนั้นก็กระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและฉุดเศรษฐกิจให้ร่วงหนักที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ

รอบนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงพยายามเดินหน้าเปิดประเทศให้เร็ว

ทว่า การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาซึ่งกระจายไปทั่วภูมิภาคอาเซียนเพิ่มแรงกดดันให้บรรดาผู้นำประเทศอย่างพลเอกประยุทธ์และประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย งัดมาตรการเข้มงวดออกมาใช้

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) มองว่า ความลังเลต่อจากนี้อาจนำมาสู่วิกฤตที่เลวร้ายสำหรับประเทศไทย

“การล็อกดาวน์ที่เข้มงวดคือทางออกเดียว” ดร.อนันต์เผย “มันอาจกระทบเศรษฐกิจตอนนี้ แต่ทุกอย่างจะดีขึ้นในระยะยาวหากเราควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว”

ก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ตั้งเป้าว่าจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วภายใน 120 วัน ด้วยความหวังว่าจะให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ในสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพีกลับมาคึกคักอีกครั้ง และเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดรายได้

นั่นหมายความว่าธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาเปิดได้ตามปกติทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงแมว่าจะเป็นพื้นที่สีแดงก็ตาม และแม้ว่าทางการไทยจะสั่งจำกัดการเปิดร้านอาหารและการก่อสร้างไปแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังคงพุ่งเกินกว่า 5,000 คน จนในวันนี้ (8 ก.ค.) ตัวเลขผู้ติดเชื้อทุบสถิติไปอยู่ที่ 7,058 ราย และเสียชีวิต 75 ราย

“หากสถานการณ์นี้ยังดำเนินต่อไป การแพร่ระบาดในไทยจะเลวร้ายกว่าในอินโดนีเซียในแง่ของตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อหัวประชากร โดยอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าไทยอาจมีผู้ติดเชื้อมากถึงวันละ 20,000 ราย” ดร.อนันต์กล่าว “การติดเชื้อไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแคมป์คนงานก่อสร้างหรือชุมชนแออัด มันกระจายไปกว้างกว่านั้น ดังนั้นมาตรการที่ใช้ในขณะนี้จึงไม่เพียงพอ”

Bloomberg ระบุอีกว่า การฉีดวัคซีนช้าเป็นอุปสรรคในการควบคุมการแพร่ระบาด โดยขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนไปราว 11.3 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรเพียง 8% รั้งท้ายประเทศอื่นอีกกว่า 120 ประเทศ

สถานการณ์การแพร่ระบาดที่แย่ลงยังกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินบาทได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงมากกว่า 4% หลังจากพุ่งสู่จุดสูงสุดในรอบ 19 เดือนเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยถึง 1,480 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสที่ 2

ขณะที่บรรดาบริษัทห้างร้านในไทยยังจับตาดูการกลับมาเปิดประเทศอย่างเร่งด่วนโดยที่ยังควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยผู้บริหารส่วนใหญ่ที่สภาอุตสาหกรรมไทยสอบถาม ต้องการให้รัฐบาลเปิดประเทศหลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น

ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะงะชักเพราะการฉีดวัคซีนล่าช้า ความไร้ประสิทธิภาพของวัคซีนบางยี่ห้อในการสู้กับสายพันธุ์เดลตา และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเดลตา และกล่าวอีกว่า นโยบายด้านการเงินและงบประมาณต้องพุ่งเป้าโดยตรงไปที่คนที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19

“ขณะนี้สุขภาพคือปัจจัยภายนอก และสิ่งที่ไทยควรทำตอนนี้คือออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น” ดร.สมประวิณกล่าว “มันเหมือนกับการเข้าห้องไอซียู คุณต้องทำให้เศรษฐกิจรอดก่อนแล้วค่อยทำให้มันดีขึ้น”

ดร.อนันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า “หลักฐานชี้ว่าการติดเชื้อแพร่เป็นวงกว้างแล้ว และมาตรการที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็ไม่ช่วยควบคุมการระบาด ถ้าเรายังไม่ยกระดับมาตรการ อัตราการติเชื้อจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ”

REUTERS/Athit Perawongmetha