posttoday

เราจะอยู่ยังไงเมื่อเดลตาดับฝันการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

11 สิงหาคม 2564

ผู้เชี่ยวชาญเผยการระบาดของ Covid-19 สายพันธุ์เดลตาอาจทำให้เราสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สำเร็จ

นอกจาก Covid-19 สายพันธุ์เดลตาจะทำให้หลายประเทศที่เคยควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วกลับมาพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากอีกครั้ง และยังลดประสิทธิภาพของวัคซีนแล้ว เดลตาอาจทำให้โลกไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะหยุดยั้ง Covid-19 ได้

แอนดรูว์ พอลลาร์ด หัวหน้าทีมวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและหนึ่งในทีมพัฒนาวัคซีนป้องกัน Covid-19 ร่วมกับบริษัท AstraZeneca เผยต่อสมาชิกสภาอังกฤษว่า ด้วยการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในขณะนี้ การบรรลุเป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นไปไม่ได้แล้ว เนื่องจากผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้

พอลลาร์ดอธิบายว่า ปัญหาก็คือ Covid-19 สายพันธุ์เดลตาไม่เหมือนโรคหัดที่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 90% ของประชากร แต่คนที่ฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 แล้วยังติดเดลตา ซึ่งนั่นหมายความว่าเราไม่มีสิ่งที่จะหยุดการระบาดได้แล้ว

พอลลาร์ดยังกังวลว่าอาจเกิด Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดได้ดีในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว

ทำไมเดลตาจึงทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ยาก

ยิ่งไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายเกณฑ์ที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ยิ่งสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้รายงานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งคาดดการณ์ว่า หากวัคซีนให้การปกป้อง Covid-19 ตลอดชีวิต ต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 60-72% ของประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่หากวัคซีนมีประสิทธิภาพ 80% ประชากร 75-90% ต้องได้รับวัคซีนจึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

แต่ล่าสุด สมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐพบว่าเกณฑ์ภูมิคุ้มกันหมู่ต้องมากกว่า 80% และอาจถึง 90% จึงจะสู้สายพันธุ์เดลตาได้ และ แบรด พอลแล็ค ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดสวิสเผยว่า จะต้องฉีดเร่งฉีดให้ครบเกณฑ์ภูมิคุ้มกันหมู่อย่างรวดเร็วเพื่อให้แน่ใจว่าสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่นจะไม่อุบัติขึ้นก่อนที่เราจะหยุดการแพร่ระบาดได้

ส่วน แอนโทนี ฟาวซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและที่ปรึกษาทีมรับมือ Covid-19 ของสหรัฐพูดถึงสถานการณ์ระบาดในสหรัฐว่า หากสหรัฐไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 90% เชื้อจะแพร่กระจายไปตลอดช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งมีโอกาสเพียงพอที่เชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม

ฟาวซียังเผยอีกว่า ตราบใดที่ไวรัสยังแพร่ระบาดมันก็จะกลายพันธุ์และสร้างสายพันธุ์ที่อินตรายมากขึ้น และแม้วัคซีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้จะมีประสิทธิภาพกับทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้ ก็อาจมีสายพันธุ์อื่นมาแทนที่สายพันธุ์เดลตา

ยิ่งแพร่เชื้อสู้คนอื่นได้มากเกณฑ์ที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ยิ่งสูงขึ้น

ภูมิคุ้มกันหมู่คำนวณโดยอัตราการติดเชื้อ โดยใช้ตัวเลข R0 หรือ ค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คนจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมมี R0 อยู่ที่ 2.5 สายพันธุ์อัลฟาซึ่งพบครั้งแรกที่อังกฤษอยู่ที่ 4-5 แต่สายพันธุ์อินเดียอยู่ที่ 5-8 ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วย Covid-19 1 คนสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น 5-8 คน

เจนนิเฟอร์ เคตส์ ผู้อำนวยการนโยบายสาธารณสุขโลกและเอชไอวีจาก Kaiser Family Foundation เผยว่า “เพราะสายพันธุ์นี้ (เดลตา) แพร่เชื้อได้มากขึ้น มันจึงบ่งบอกว่าคุณต้องมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นเพื่อสู้กับมัน”

ยกตัวอย่างกรณีของอินโดนีเซียเพิ่งประกาศว่าขณะนี้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้วไม่ว่าจะใช้วัคซีนใดก็ตาม โดยโมเดลของอินโดนีเซียประเมินว่าอัตราการแพร่เชื้อของเดลตาอยู่ที่ 6.5 ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อทุกๆ 10 คนจะแพร่เชื้อให้คนอื่นอีก 65 คน และเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อินโดนีเซียต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 154% ของประชากรทั้งหมดหากใช้วัคซีนของ Sinovac หรือ 128% หากใช้วัคซีนของ Pfizer ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้

นอกจากนี้ สายพันธุ์เดลตายังทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง โดยผลการวิจัยของอังกฤษพบว่า เดลตาดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาซึ่งพบครั้งแรกในอังกฤษ โดยเฉพาะในผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว ซึ่งหมายความว่า ตัวเลขของคนในชุมชนที่จะต้องได้รับวัคซีนจะยิ่งสูงขึ้นหากต้องการบรรลุเกณฑ์ภูมิคุ้มกันหมู่

Photo by CLAUDIO MONGE / AFP