posttoday

ขุนศึกผู้ชิง 'ไข่มุกพันปี' ปฏิบัติการปล้นสุสานซูสีไทเฮา

05 ตุลาคม 2564

ซุนเตี้ยนอิงผู้สร้างความไม่พอใจไปทั่วแผ่นดินจีนด้วยการบุกปล้นสุสานราชวงศ์ชิง แต่เขาอ้างว่านี่คือการทำเพื่อการปฏิวัติโค่นล้มศักดินา

หลังการปฏิวัติซินไฮ่เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง จีนกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่การปกครองประเทศไม่ได้เป็นปึกแผ่นและเป็นประชาธิปไตยอย่างที่นักปฏิวัติผู้มีอุดมการณ์หวังไว้ ตรงกันข้ามจีนกลายเป็นประเทศที่แตกเป็นเสี่ยงๆ มีรัฐบาลที่แย่งอำนาจกัน 2 รัฐบาลคือรัฐบาลภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งต่างก็ไม่มีอำนาจแท้จริงอีก เพราะอิทธิพลจริงๆ ตกอยู่ในมือของแม่ทัพหรือขุนศึกที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ จึงเรียกว่า "ยุคขุนศึก"

ขุนศึกแต่ละคนล้วนแต่มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ บางครั้งฆ่าคนไม่สนใจหลักการอะไร บางครั้งปล้นชิงเหมือนโจร เพราะบางคนเคยเป็นโจรมาก่อน ก่อนที่จะมีวาสนาได้ใส่เครื่องแบบเป็นทหารจนไต่เต้าได้นำกองทัพของตัวเอง หนึ่งในขุนศึกจำวพกนี้คือ "ซุนเตี้ยนอิง"

เกิดในปี พ.ศ. 2430 หรืออาจะเป็น พ.ศ. 2441 หรือ พ.ศ. 2432 ก็ไม่ทราบแน่ชัด เป็นคนเมืองหย่งเฉิง มณฑลเหอหนาน เข้าร่วมซ่องโจรในวัยหนุ่ม เป็นสายเดินข่าวให้กับจางผิงหัวหน้าโจรหยางซาน แต่ต่อมามีโอกาสได้ "กลับตัว" เข้าร่วมกับกองกำลังปราบโจรและซงซานซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยอดีตโจรนั่นเอง

ในกองทัพปราบโจรแห่งซงซาน ซุนเตี้ยนอิงไต่เต้าขึ้นมาเป็นระดับบังคับบัญชาได้ แต่แล้วชะตาพลิกผันอีกเมื่อต้องกลับมาเป็นโจรเพราะหัวหน้ากองกำลังถูกขุนศึกตัวจริงสังหาร นั่นคือ เฝิงอวี้เสียง ซึ่งเป็นขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลอย่างมาก

แต่ซุนเตี้ยนอิงเป็นโจรอยู่ได้ไม่นานก็คิดถึงชีวิตในเครื่องแบบอีก จึงตั้งกองกำลังของตัวเอง (ในยุคนั้นใครตั้งกองกำลังได้ก็ถือเป็นขุนศึกย่อมๆ คนหนึ่งแล้ว) โดยเคลื่อนไหวในภูเขาแถบเหอหนานตะวันตกจนถึงมณฑลอานฮุย และสามารถยึดเมืองปั๋วโจวได้จนเข้าตาขุนศึกใหญ่คือ จางจงชาง ขุนศึกจอมโหดคนหนึ่งแห่งยุคจึงตั้งเข้าให้เข้าร่วมกองทัพของตน

อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นขุนศึกเปลี่ยนข้างกันไปเปลี่ยนข้างกันมาตามจังหวะโอกาสชีวิต ซุนเตี้ยนอิงอยู่กับจางจงชางไม่นานก็เปลี่ยนไปเข้าข้างฝ่ายกองทัพปฏิวัติของเจียงไคเช็ก แล้วก็เปลี่ยนข้างอีก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของยุคขุนศึกที่ทุกอย่างขึ้นกับผลประโยชน์ไม่ใช่อุดมการณ์ ยิ่งพวกขุนศึกส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษาและจรรยาด้วยแล้ว มักทำตัวตามอำเภอใจไม่สนใจถูกผิดใดๆ

ขุนศึกยุคนี้จึงมีคนที่สังคมประณามมากกว่าคนที่สังคมยกย่อง ยิ่งเป็นซุนเตี้ยนอิงด้วยแล้วนอกจากจะไม่มีพฤติกรรมเปลี่ยนข้างจนเชื่อถือไม่ได้แล้ว เขายังก่อวีรเวรวีรกรรมที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ นั่นคือการปล้นสุสานเบื้องตะวันออกของราชวงศ์ชิงหรือชิงติงหลิง

ราชวงศ์ชิงนั้นเป็นที่ชิงชังมากในยุคปลายสมัยก่อนที่จะถูกโค่นล้ม หนึ่งในเหตุผลก็คือคนจีนที่เป็นชาวฮั่นมองว่าราชวงศ์ชิงคือชาวแมนจู เป็น "คนต่างชาติ" ที่มายึดครองแผ่นดินจีนไว้ ดังนั้นการปฏิวัติจึงชูธงโค่นล้มผู้ปกครองต่างชาติด้วยนอกจากการโค่นล้มระบบศักดินาอันคร่ำครึ

แต่เราไม่รู้ว่าเพราะความชิงชังราชวงศ์ชิงหรือเพราะความละโมบส่วนตัวที่ทำให้ซุนเตี้ยนอิงกล้าปล้นสุสานราชวงศ์ชิง เพราะการปล้นสุสานในทัศนะของคนจีนคือการกระทำที่น่ารังเกียจ ยิ่งป็นสุสานของราชวงศ์ด้วยแล้วยิ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่อาจจะถูกล่วงล้ำได้ ต่อให้เป็นบุคคลที่ถูกชิงชังมากแค่ไหนก็ตาม

ขุนศึกผู้ชิง \'ไข่มุกพันปี\' ปฏิบัติการปล้นสุสานซูสีไทเฮา

ปี 2471 จางจงชางแพ้แก่กองทัพสาธารณรัฐของเจียงไคเช็ก ซุนเตี้ยนอิงรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางจึงรีบสวามิภักดิ์กับกองทัพสาธารณรัฐยอมเป็นลูกน้องของเจียงไคเช็ก แล้วยกทัพไปปักหลักที่อำเภอจี้และจวินหัวที่ตั้งของสุสานราชวงศ์ชิงเบื้องตะวันออก 

ซุนเตี้ยนอิงในเวลานั้นกำลังร้อนเงินมาจ่ายให้ทหารตัวเอง แต่กองทัพที่เพิ่งจะแพ้มาหมาดๆ และเพิ่งจะเปลี่ยนนายใหม่แบบหมาจนตรอก จะไปหาเงินที่ไหนได้ - นอกจากหันกลับไปพึ่งพาอาชีพเดิมคือ "ปล้น"

แต่จะปล้นแบบโจรกระจอกก็ใช่เรื่องเพราะตอนนี้สวมเครื่องแบบแล้วแถมยังเป็นทหารของรัฐบาลสาธารณรัฐ ซุนเตี้ยนอิงจึงหาความชอบธรรมด้วยการประกาศว่าการปล้นสุสานครั้งนี้เพื่อสานต่อการปฏิวัติของซุนยัตเซน การปล้นสุสานหลวงถือเป็นการปฏิวัติโค่นล้มศักดินาอย่างหนึ่ง

ซุนเตี้ยนอิงบอกในภายหลังว่า "พวกหม่านชิง (ราชวงศ์แมนจู) เข่นฆ่าบรรพบุรุษข้า และยังต้องล้างแค้นให้กับการปฏิวัติ ซุนยัตเซนมีถงเหมิงฮุ่ยและก๊กมินตั๋ง ก็ทำลายดวงชะตาหม่านชิงลงได้ เฝิงหวนจาง (ขุนศึกเฝิงอวี้เสียง) ใช้ปืนไปยึดพระราชวัง ขับจักรพรรดิองค์สุดท้ายผู่อี๋และราชวงศ์ออกจากวังไปจนได้ ข้าซุนเตี้ยนอิงมีปืนไม่กี่กระบอก มีแค่ชีวิตและความตายให้การปฏิวัติ ไม่ว่าคนอื่นจะพูดว่าปล้นหรือไม่ปล้นสุสาน ข้าก็ไม่ละอายใจต่อบรรพชน ไม่ละอายใจต่อพี่น้องร่วมชนเผ่าฮั่นที่ยิ่งใหญ่!"

ที่ซุนเต้ยนอิงอ้างว่าบรรพชนถูกพวกแมนจูเข่นฆ่านั้นไม่เกินเลยนัก เพราะเขาอ้างว่าเป็นลูกหลานของซุนเฉิงจง เสนาบดีกระทรวงการทหารสมัยพระเจ้าฉงเจินแห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งพลีชีพปกป้องเมืองจากการรุกรานของพวกแมนจู แม้แต่พวกแมนจูยังนับถือในความห้าวหาญจนมอบสมัญญานามว่า "จงติ้ง" หรือ ภักดีไม่สั่นคลอน

ขุนศึกผู้ชิง \'ไข่มุกพันปี\' ปฏิบัติการปล้นสุสานซูสีไทเฮา

แต่ซุนเตี้ยนอิงนั้นไม่มีมีชื่อเสียงผุดผ่องเหมือนบรรพบุรุษ ทั้งเจตนาปล้นสุสานยังไม่น่าจะเป็นเรื่องดีอย่างที่ปากว่า

ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ซุนเตี้ยนอิงได้สั่งให้ดำเนินการให้ขุดสุสานครั้งใหญ่ เล็งเป้าหมายไปที่สุสานพระสนมฮุ่ยเฟยของพระเจ้าถงจื๊อ สุสานหลวงอวี้หลิงของพระเจ้าเฉียนหลง สุสานผู่เสียง อวี้ติ้ง ตงหลิงของพระพันปีหลวงฉืออัน แต่เป้าหมายหลักคือสุสานผู่ถัว อวี้ติ้ง ตงหลิงของพระพันปีฉือซี หรือพระนางซูสีไทเฮา บุคคลที่คนจีนทั้งยำเกรงและทั้งชิงชัง

เมื่อได้โอกาสกองทัพของซุนเตี้ยนอิงก็ตรงไปยังพื้นที่ของสุสานชิงตะวันออก โดยแสร้งทำเป็นทำการซ้อมรบในพื้นที่ ส่วนหน่วยของถานเวินเจียง ก็วางกำลังไว้รอบๆ สุสานหลวงห้ามคนนอกเข้า ปิดป้ายประกาศไว้ว่ากองทัพกำลังปกป้องสุสานจากการถูกรบกวน

ซุนเตี้ยนอิงบัญชาการการปลิ้นสุสานหลวงจากบนรถ ในเวลาเที่ยงคืน หน่วยทหารช่างได้ระเบิดทางเข้าสุสาน เปิดทางเดินที่นำไปสู่พระราชวังใต้ดิน ประตูหินถูกเปิดออกเพื่อให้เข้าถึงห้องด้านหลังของหลุมศพ จากนั้นก็ดำเนินการช่วงชิงสมบัติล้ำค่าในสุสาน

โลงพระศพของพระนางซูสีไทเฮาเต็มไปด้วยเครื่องหยกสลักเป็นรูปแตงโม ตั๊กแตน พืชพรรณนานา รวมถึงกัลปังหา พระศกนั้นถูกรื้อเอาเครื่องทรงออกมากระทั่งรองพระบาท จนเหลือแต่พระภูษาชั้นใน ขากรรไกรพระศพนั้นถูกกระชากออกเพื่อค้นหาไข่มุกพันปี

มีเรื่องเล่าขานกันว่า หน่วยของถานเวินเจียงที่บุกรุกสุสานของพระนางซูสีไทเฮา เมื่อเปิดโลงพระศพ ทหารของขุนพลซุนพยายามจะกระทำลามกกับพระศพ แต่ขุนพลห้ามปรามไว้ ส่วนอีกกระแสหนึ่งอ้างว่า ทหารเปิดโลงพระศพแล้วคิดจะกระทำมิดีมิร้าย แต่ครั้นเปิดโลงได้ไม่นานอากาศจากภายนอกเข้าไปพระศพเน่าเปื่อยลงอย่างรวดเร็วเหลือแต่โครง ไม่อาจกระทำบัดสีได้อีกต่อไป

ขุนศึกผู้ชิง \'ไข่มุกพันปี\' ปฏิบัติการปล้นสุสานซูสีไทเฮา

ข่าวลือนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บอกเล่าข่าวร่วมสมัย ซึ่งไม่อาจเชื่อถือได้ แต่ที่เชื่อถือได้คือหลักฐานที่เกิดขึ้น พระศพถูกรื้อค้นไม่มีชิ้นดี รื้อจนหมดกระทั่งฉลองพระองค์ชั้นใน ส่วนทหารในหน่วยของซุนเตี้ยนอิงเคยสารภาพว่า ตอนที่บุกรุกสุสานได้มีการยกพระศพออกมาวางกับพื้น (ที่จริงโยนออกมา) เพื่อค้นหาของมีค่า ใช้ดาบปลายปืนบั่นพระศอเพื่อค้นหาไข่มุกพันปี ส่วนพระศพก็แห้งลงมากแล้ว ไม่มีการกล่าวถึงความคิดจะกระทำอนาจารต่อพระศพ

อีกข่าวลือก็คือเมื่อเปิดโลงพระศพแล้วพบว่าพระศพไม่เน่าเปื่อย (เพราะอิทธิฤทธิ์ไข่มุกพันปี) แต่ซุนเตี้ยนอิงไม่ได้ยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน

ขณะที่ถานเวินเจียงกำลังปล้นหลุมฝังศพของพระนางซูสีไทเฮา ผู้บัญชาการกองพลอีกคนหนึ่งยกพวกไปปล้นสุสานอวี้หลิงโดยใช้สูตรเดียวกันคืออ้างว่าจะทำการฝึกซ้อมรบ แต่จริงแล้วเป็นการรบกับผีเสียมากกว่า หน่วยนี้ทำการระเบิดประตูของพระราชวังใต้ดินและรีบเข้าไปในห้องฝังพระศพ ทำการเปิดโลงพระศพของจักรพรรดิเฉียนหลงและจักรพรรดินีทั้งสองพระองค์และพระสนมสามองค์ ของมีค่าทั้งหมดถูกปล้นและโครงกระดูกถูกโยนลงไปในพื้นโคลนในสุสาน ปล้นแล้วก็รีบไปสุสานอื่นเพื่อปล้นผีกันต่อไป

การปล้นสุสานหลวงนี้ ซุนเตี้ยนอิงใจกว้างไม่ธรรมดา ยกสมบัติให้พวกนายทหารระดับบัญชาการได้ไปก่อน แล้วที่เหลือตนค่อยรับมา และที่เหลืออีกชั้นแบ่งให้พวกพลทหาร

แต่สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดคือไข่มุกพันปีของพระนางซูสีไทเฮา เล่ากันว่า ซุนเตี้ยนอิงได้ไข่มุกพันปีที่ใส่ไว้ในพระโอษฐ์ของพระศพซูสีไทเฮามาครอบครอง แล้วมอบให้กับเจียงไคเช็ก ซึ่งต่อมามอบให้กับภริยาของเขาคือซ่งเหม่ยหลิง เพื่อนำไปประดับรองเท้าของนาง แต่นี่เป็นเพียงเรื่องเล่าลือที่ไม่อาจเชื่อถือได้

ส่วนเจียงไคเช็กเองนั้นมีเสียงร่ำลือว่าได้พระแสงดาบเก้ามังกรอันล้ำค่าของพระเจ้าเฉียนหลงเอาไว้ครอบครอง ส่วนซ่งจื่อเหวิน พี่เขยของเจียงไคเช็กได้แตงโมหยกไป

การปล้นสุสานครั้งนี้เป็นข่าวแพร่ไปทั่วประเทศในที่สุด สร้างความโกรธเคืองให้ประชาชนจีนอย่างยิ่งและเรียกร้องให้มีการนำตัวซุนเตี้ยนอิงมาลงโทษ

ขุนศึกผู้ชิง \'ไข่มุกพันปี\' ปฏิบัติการปล้นสุสานซูสีไทเฮา

แต่ในยุคสมัยแห่งความเหลวแหลก ต่อให้ทำเรื่องเลวร้ายแค่ไหนก็ยากที่จะเอาผิดได้ ยิ่งซุนเตี้ยนอิงมีของล้ำค่าในมือเขายิ่งสามารถติดสินบนให้กับผู้มีอำนาจมากว่าเพื่อช่วยคุ้มกะลาหัวเขาไม่ให้ถูกเอาผิดได้

ความที่รัฐบาลเจียงไคเช็กไม่ทำอะไรซุนเตี้ยนอิงทำให้อดีตจักรพรรดิคือผู่อี๋ (ปูยี) ไม่พอพระทัยมาก เป็นเหตุให้ตัดขาดกับรัฐบาลสาธารณรัฐ

กับสุสานของพระนางซูสีไทเฮานั้น ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้น ไจ้เจ๋อ เชื้อพระวงศ์ชิงได้ชักนำเชื้อพระวงศ์ชิงช่วยกันบูรณะสุสานให้เรียบร้อยอีกด้วยการสูบน้ำออกไป ตั้งพระศพให้เป็นที่อีกครั้ง แล้วปิดผนึกประตูสุสาน

แต่ก็ซ่อมแซมได้แค่นั้น สุสานอันหรูหราและร่ำรวยไม่เหลืออะไรอีกนอกจากพระศพแห้งๆ ที่ถูกย่ำยีเป็นจนเป็นชิ้น เช่นเดียวกับราชวงศ์ชิงที่ถูกรุมทึ้งจนไม่เหลืออะไรอีก

แม้แต่ "เจ้าพระยาไจ้เจ๋อ" ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงซ่อมสุสานหลวงก็ตายไปอย่างคนยากไร้และขมขื่น 1 ปีหลังจากนั้น

ป.ล. - ซุนเตี้ยนอิงพ่ายศึกให้กับกองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2490 หลังจากถูกคุมขังที่เมืองอู่อัน มณฑลเหอเป่ย เขาก็เสียชีวิตลงในเดือนตุลาคม 2491 บ้างว่าเพราะอดอาหารประท้วง บ้างว่าเพราะลงแดงตาย

โดย กรกิจ ดิษฐาน