posttoday

โลกร้อนใกล้ตัวกว่าที่คิด หาก COP26 ล้มเหลวหลายเมืองจะต้องจมน้ำ

02 พฤศจิกายน 2564

หลายพื้นที่บนโลกกำลังจะจมอยู่ใต้น้ำเพราะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ทุกๆ เศษเสี้ยวของระดับความร้อนที่เพิ่มขึ้น โลกจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงภัยพิบัติอย่างน้ำท่วม ไฟป่า พายุฝนฟ้าคะนองที่อันตรายมากขึ้นด้วย

รายงานระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดต่อความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเกษตรกรรม ให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ แต่มีเงินในการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติน้อยกว่าประเทศร่ำรวย

ภัยคุกคามเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากโลกยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน ซึ่งธารน้ำแข็งมีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธารน้ำแข็งกำลังค่อยๆ หายไปขณะที่ทะเลสาบใหม่ขนาดใหญ่กำลังปรากฏขึ้น

การประชุม COP26 ถูกมองว่าเป็น "ความหวังสุดท้าย" ของการบรรลุเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยกำลังทำให้ธารน้ำแข็งหมดไป ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภัยธรรมชาติกำลังแฝงตัวอย่างเงียบๆ

วารสาร Nature ตีพิมพ์บทความที่พบว่าการละลายของธารน้ำแข็งของโลกมีความเร็วเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ที่ผ่านมา

โดย Alok Sharma สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า หลายพื้นที่บนโลกจะจมอยู่ใต้น้ำแม้ว่า COP26 จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศก็ตาม

รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2019 ระบุว่าตั้งแต่ 2006 ถึง 2015 ระดับน้ำทะเลในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น 3.3 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและนักสมุทรศาสตร์หลายคนเชื่อว่าสาเหตุที่น้ำทะเลเพิ่มขึ้นเร็วขนาดนี้มาจากพืดน้ำแข็งที่ละลายในกรีนแลนด์

หากโลกไม่ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยให้เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกที่เหลือละลายไปมากกว่านี้ และทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก

โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกโดยเฉลี่ยอาจเพิ่มขึ้นถึง 84 เซนติเมตรในระหว่างปี 2019 ถึง 2100 ขณะที่หลายพื้นที่มีความเสี่ยงว่าจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ

ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัย Deltares พบว่า ประเทศในแถบพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพื้นดินมีแนวโน้มที่จะจมเนื่องจากการทรุดตัว อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศเหล่านี้อาจต้องเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีแนวโน้มเลวร้ายลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

งานศึกษาบางชิ้นระบุว่า กรุงเทพฯ เวนิส และนิวออร์ลีนส์ เป็น 3 เมืองที่อัตราการจมสูงกว่าอัตราการเพิ่มของระดับน้ำทะเลถึง 10 เท่า

ไทย

• จังหวัดกรุงเทพมหานคร ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ติดโผมีความเสี่ยงที่จะจมน้ำ โดยจากการศึกษาในปี 2020 พบว่ากรุงเทพฯ อาจเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบระยะสั้นจากภาวะโลกร้อนรุนแรงที่สุด เนื่องจากอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร นอกจากนี้ยังมีพื้นดินเป็นดินเหนียวที่มีความหนาแน่น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น

• ปัจจุบันกรุงเทพกำลังเผชิญกับความท้าทาย 2 ประการ คือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแผ่นดินที่กำลังทรุดตัวลงทุกปีๆ เนื่องจากพื้นที่ของเรานั้นตั้งอยู่บนที่ลุ่มมาก่อนในอดีต นั่นแปลว่าชั้นดินข้างล่างนั้นเป็นดินอ่อนที่ไม่แข็งแรง ซึ่งนอกจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติเองแล้ว การสูบน้ำบาดาล และการเติบโตของเมืองยิ่งส่งผลให้แผ่นดินกรุงเทพทรุดตัวเร็วขึ้น

• อาคารสูงกว่า 5,000 แห่ง, รถยนต์กว่า 9 ล้านคัน ถนน และระบบรางขนส่งมวลชนทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งสิ้น

เวียดนาม

• เมืองโฮจิมินห์ ของเวียดนาม มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำหรือได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่าครึ่งหนึ่งของเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรรวม 1 ใน 4 ของประเทศได้รับผลกระทบ

• ขณะที่เวียดนามตั้งเป้าที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และจะดำเนินการตามแผนเพื่อลดพลังงานถ่านหินทันทีหลังการประชุม COP26

อินเดีย

• เมืองโกลกาตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย และป่าชายเลนซุนดาบันส์ที่ทอดยาวจากทางตะวันออกของอินเดียไปยังประเทศเพื่อนบ้านในบังคลาเทศ มีความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวบ้านต้องสูญเสียบ้านเรือนและอาชีพเพาะปลูก เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และน้ำเค็มที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ทำให้ดินไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก

• ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย กล่าวในที่ประชุม COP26 ว่าจะหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 49 ปีข้างหน้า

ไอร์แลนด์

• รัฐบาลไอร์แลนด์ได้ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าพื้นที่บางส่วนของไอร์แลนด์ รวมถึงกรุงดับลิน อาจอยู่ใต้น้ำในเวลาเพียง 10 ปี

• เมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น อุณหภูมิก็จะสูงขึ้นเนื่องจากความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่สามารถระบายออกไปได้ นำไปสู่การละลายของแผ่นน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นซึ่งคุกคามแนวชายฝั่งขนาดใหญ่ของดับลิน

• โดย 5 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในทศวรรษหน้า ได้แก่ Bull Island, Sandymount, Irishtown, Clontarf และ Portmarnock

มัลดีฟส์

• หลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อมัลดีฟส์อย่างยิ่ง ซึ่งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังทำให้บางเกาะในหมู่เกาะจมลงใต้ทะเล และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าภัยพิบัตินี้อาจเกิดขึ้นภายในทศวรรษหน้า

• รายงานระบุว่า ในปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวระดับน้ำทะเลมัลดีฟส์เพิ่มขึ้น 3 ถึง 4 มิลลิเมตร อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายความว่าในระยะเวลา 10 ปี หมู่เกาะที่มีพื้นราบเหล่านี้สามารถจมสู่ใต้น้ำได้อย่างสมบูรณ์

• นอกจากนี้ เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นยังส่งผลให้แนวปะการังตาย ซึ่งส่งผลเสียต่อมัลดีฟส์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแนวปะการังเป็นพื้นฐานของชีวิตในมัลดีฟส์ ประเทศที่อยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย

ยังมีอีกหลายเมืองที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงที่จะต้องจมอยู่ใต้น้ำ โดยคาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในปัจจุบัน อาทิ เวนิส อิตาลี, อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์, บาสรา อิรัก, จอร์จทาวน์ กายอานา และนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ (UN) ยังได้ออกคำเตือนว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขณะนี้กำลังจะทำให้ภูเขาน้ำแข็ง 3 แห่งสุดท้ายในแอฟริกาละลายหายไปภายใน 20 ปีข้างหน้า เป็นสัญญาณของภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่ไม่อาจย้อนกลับได้

ที่มา: CNBC, WIONews, The Sun, Time Out, Dublin Live