คืนชีพภาพพระโพธิสัตว์สีน้ำเงินที่ถูกตอลิบานทำลาย
ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นประดิษฐ์ 'ซุปเปอร์โคลน' ของจิตรกรรมฝาผนังอัฟกันที่ถูกทำลาย
นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้สร้าง "สุดยอดแบบจำลองโคลน" หรือ super clone ของภาพจิตรกรรมฝาผนังอัฟกันที่กลุ่มตอลิบานทำลายโดยใช้เทคนิคดั้งเดิมและดิจิทัลที่พวกเขาหวังว่าจะกอบกู้ "จิตวิญญาณ" ของงานพุทธศิลป์นี้สำหรับคนรุ่นอนาคต
ภาพวาดในถ้ำสมัยศตวรรษที่ 7 พังยับเยินไม่มีเศษเสี้ยวเดียวหลงเหลืออยู่ หลังการทำลายล้างในปี 2544 พร้อมด้วยพระพุทธรูปขนาดใหญ่สององค์และศิลปกรรมอื่นๆ ในหุบเขาบามิยันของอัฟกานิสถาน ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประณามทั่วโลก
แต่แบบจำลองที่แม่นยำซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการทำซ้ำอันล้ำสมัยเป็นเวลา 3 ปี เนรมิตภาพพระโพธิสัตว์ได้สำเร็จ และได้นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในโตเกียวในเดือนกันยายนและตุลาคม เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่กลุ่มตอลิบานกลับสู่อำนาจในกรุงคาบูล
ภาพจิตรกรรมฝาผนังบนเพดานถ้ำใกล้กับรูปปั้นที่มีชื่อเสียงเป็นภาพพระโพธิสัตว์สีน้ำเงิน มีความยาว 6 เมตรและสูง 3 เมตร สำเนาขนาดเต็มที่ซับซ้อนนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ซุปเปอร์โคลน" โดยทีมทำซ้ำที่มหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียว
ทาคาชิ อิโนะอุเอะ หัวหน้าทีมร่วมของทีมกล่าวว่า "เราประสบความสำเร็จในการสร้างภาพสามมิติที่แม่นยำมาก" ตั้งแต่พื้นผิวจนถึงประเภทของสี
ญี่ปุ่นเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับอัฟกานิสถานและมีส่วนร่วมในความพยายามในการปกป้องมรดกที่หุบเขาบามิยันซึ่งเป็นจุดที่อารยธรรมโบราณในพุทธศาสนากระจายตัวไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชีย และที่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนาญี่ปุ่น
ทีมงานได้ประมวลผลภาพถ่ายกว่า 100 รูปที่ถ่ายโดยนักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นของจิตรกรรมฝาผนังก่อนจะถูกทำลาย เพื่อสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพื้นผิว จากนั้นพวกเขาป้อนข้อมูลนี้ลงในเครื่อง ซึ่งแกะสลักรูปร่างที่แน่นอนลงในบล็อกโฟม
เพื่อให้แบบจำลองสมบูรณ์ ศิลปินใช้สีแบบดั้งเดิมในเฉดสีลาพิสลาซูลีคล้ายกับสีที่ใช้สำหรับจิตรกรรมฝาผนังดั้งเดิม
ด้วยกระบวนการนี้ "เราสามารถทำซ้ำการออกแบบที่ใกล้เคียงกับของจริงได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อส่งต่อจิตวิญญาณของพวกเขาไปยังคนรุ่นต่อไป" อิโนะอุเอะศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านมรดกวัฒนธรรมยูเรเชียนกล่าว และย้ำว่า "หยุดการกระทำป่าเถื่อน ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมอันล้ำค่า มรดกแห่งมวลมนุษยชาติ"
ไม่กี่วันก่อนการถอนกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม กลุ่มตอลิบานบุกยึดกรุงคาบูล ทำให้เกิดความกลัวว่าจะหวนคืนสู่การปกครองอันโหดร้ายในปี 2539 ถึง 2544
ระบอบการปกครองใหม่ยืนยันว่าต้องการปกป้องมรดกทางโบราณคดีจากการถูกทำลาย
สำหรับนักประวัติศาสตร์ โคซาคุ มาเอดะ ผู้นำร่วมของทีมทำซ้ำในโตเกียว ภาพที่ "น่าตกใจอย่างใหญ่หลวง" ของพระพุทธรูปยักษ์ที่ถูกทำลายเหลือเพียงฝุ่นยังคงเป็นความทรงจำที่ชัดเจน
“ผมกังวลว่าการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับซากที่เหลืออยู่อีกครั้ง” มาเอดะ ชายวัย 88 ปีผู้มาเยือนหุบเขาบามิยันซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานานกว่าครึ่งศตวรรษกล่าว
แต่งานของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าการทำลายล้างนั้น "ไร้ความหมาย" เมื่อเผชิญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจาก "ทุกสิ่งสามารถแปลงเป็นดิจิทัลได้" เขากล่าว
ในการเยือนบามิยันโดยนักข่าว AFP เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าทหารของตอลิบานได้ยืนเฝ้าช่องหินซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปสององค์
งานก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโกยังอยู่ระหว่างดำเนินการในเมืองบามิยัน เมื่อทีม AFP เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ดังกล่าวในเดือนตุลาคม ถึงแม้ว่าแผนจะเปิดดำเนินการในปีนี้จะล่าช้าเนื่องจากการยึดครองของตอลิบาน
มาเอดะกล่าวว่าความฝันของเขาคือการสร้าง "พิพิธภัณฑ์สันติภาพ" แยกต่างหากในหุบเขา และหากเป็นไปได้ ให้จัดแสดงภาพวาดถ้ำจำลองที่นั่น
“เราไม่สามารถนำมันกลับคืนสู่ที่เดิมได้ แต่ผมต้องการนำมันมาสู่บามิยันเพื่อเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่คนในท้องถิ่นสามารถสืบทอดได้” มาเอดะ สมาชิกคณะกรรมการปกป้องมรดกวัฒนธรรมอัฟกันของยูเนสโกกล่าว
“ประเทศชาติจะมีชีวิตอยู่ เมื่อวัฒนธรรมยังคงดำรงอยู่” เขากล่าวข้อความที่เขียนบนแผ่นป้ายที่แขวนไว้ที่ทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัฟกานิสถานในกรุงคาบูล
Photo by Charly TRIBALLEAU / AFP