จีนพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์ฮั่น ยุคบุกเบิกพุทธศาสนาในจีน
สำนักข่าวซินหัวรายงาน จีนพบ ‘พระพุทธรูปศากยมุนี’ ยุคราชวงศ์ฮั่น ทำจากโลหะเจือ
ซีอัน, 11 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันศุกร์ (10 ธ.ค.) สถาบันโบราณคดีมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เปิดเผยการค้นพบรูปปั้นพระพุทธรูปทำจากโลหะผสมหรืออัลลอย (alloy) สองชิ้น และโบราณวัตถุจำนวนมากจากกลุ่มหลุมศพยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ปี 25-220)
กลุ่มหลุมศพโบราณข้างต้นตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเฉิงเริ่น เมืองเสียนหยาง โดยมีการขุดพบและสำรวจหลุมศพ 6 หลุม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นำไปสู่การค้นพบโบราณวัตถุอย่างรูปปั้น เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องสัมฤทธิ์
หลี่หมิง นักวิจัยของสถาบันฯ ระบุว่ารูปปั้นพระพุทธรูปชิ้นหนึ่งสูง 10.5 เซนติเมตร แสดงรูปลักษณ์พระศากยมุนี ส่วนอีกชิ้นสูง 15.8 เซนติเมตร มีลักษณะรวมพระพุทธรูปห้าองค์เข้าด้วยกัน โดยผลวิเคราะห์พบทำจากโลหะผสมแบบทองแดงเจือดีบุกและตะกั่วหล่อ
“เจ้าของหลุมศพอาจเป็นขุนนางหรือเจ้าของที่ดินในตระกูลที่มีอิทธิพลและอำนาจทางเศรษฐกิจ” หลี่กล่าว “ส่วนการค้นพบรูปปั้นนี้มีนัยสำคัญต่อการศึกษาวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่เข้ามาสู่จีนและการปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น”
ข่าวส่วนนี้จากสำนักข่าวซินหัว
ทั้งนี้ ศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าสู่ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ตำนานเล่าว่า จักรพรรดิหมิงแห่งฮั่น (ปี 28–75) ทรงมีพระสุบินว่ามีเทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งร่างกายมีรัศมีของดวงอาทิตย์ลอยอยู่หน้าพระราชวังของพระองค์ ทรงยินดีอย่างยิ่งกับความฝันนี้ วันรุ่งขึ้นตรัสถามขุนนางว่า "เทพเจ้าในความฝันเราคือใคร" ปราชญ์ขุนนางกราบทูลว่า "พระสุบินนี้เกี่ยวกับที่กระหม่อมได้ยินว่าในอินเดียมีคนที่บรรลุมรรคผล และเรียกว่าพระพุทธเจ้า สามารถลอยไปในอากาศ ร่างกายของท่านมีรัศมีของดวงอาทิตย์ ต้องเป็นเทพองค์นั้นเป็นแน่"
จักรพรรดิจึงส่งทูตไปยังประเทศเทียนจู๋ (อินเดีย) เพื่อสอบถามเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า กล่าวกันว่าพระไตรปิฎกถูกส่งกลับจีนบนหลังม้าขาวพร้อมด้วยพระภิกษุอินเดียสองรูปก็ชื่อธรรมรัตน์และกัษยปะ มาตังคะ หลังจากนั้นจึงตั้งวัดแห่งแรกของประเทศจีนชื่อวัดม้าขาว