ทำไมโลกต้องสะเทือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในคาซัคสถาน?
สรุปสถานการณ์ในคาซัคสถานที่ไม่ใช่แค่ปัญหาภายใน แต่อาจลุกลามเป็นความขัดแย้งข้ามประเทศและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก
ณ วันที่ 7 มกราคม 2022 ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการลุกฮือในคาซัคสถานทำให้เกิดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจากผู้ผลิต OPEC+ อาจหยุดชะงักได้ ในเวลาเดียวกันผลผลิตในลิเบียลดลง
หลุยส์ ดิกสัน นักวิเคราะห์ของ Rystad Energy ระบุในอีเมลว่า "ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นส่วนใหญ่สะท้อนถึงความกระวนกระวายใจของตลาด เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ทวีความรุนแรงขึ้นในคาซัคสถาน และสถานการณ์ทางการเมืองในลิเบียยังคงแย่ลงเรื่อยๆ และกีดกันการผลิตน้ำมัน"
มันไม่ใช่แค่ตลาดน้ำมันเท่านั้นที่สั่นสะเทือนเพราะคาซัคสถาน การที่คาซัคสถานเป็นแหล่งขุดคริปโตที่มาแรง เมื่อเกิดประท้วงรุนแรงขึ้นพร้อมกับการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นระยะทำให้การขุดคริปโตมีปัญหา เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ Bitcoin ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน ณ วันที่ 7 มกราคม
The New York Times รายงานว่า การสร้างหรือการขุด Bitcoin และคริปโตอื่น ๆ เป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานมาก ก่อนหน้านี้นักขุดแแห่กันไปพึ่งจีนซึ่งมีพลังงานราคาถูก หลังจากที่ทางการจีนปราบปรามการขุดคริปโตปเมื่อปีที่แล้ว นักขุดถูกบังคับให้มองหาพลังงานราคาถูกที่อื่น คาซัคสถานที่อุดมด้วยถ่านหินกลายเป็นทางเลือกยอดนิยม
คำถามในตอนนี้ก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับคาซักสถาน?
1. คาซัคสถานมีหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดในเอเชียกลาง โดยการผลิตน้ำมันช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่มาก และในตอนนี้ยังเป็นแหล่งขุดคริปโตที่กำลังมาแรงแห่งหนึ่งของโลก แต่เป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นที่รุนแรงมาก เงินรายได้จากน้ำมันถูกบริหารอย่างมีลับลมคมในโดยผู้มีอำนาจในประเทศ
2. เมืองจานาโอเซน (Zhanaozen) ซึ่งเป็นเมืองที่ผลิตน้ำมันในเขตมังกีทาอู มีประวัติการหยุดงานประท้วงและการประท้วงด้านแรงงาน ในปี 2011 เกิดการจลาจลขึ้นในเมืองท่ามกลางวันครบรอบ 20 ปีของวันประกาศอิสรภาพ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 16 รายและบาดเจ็บ 100 รายตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ
3. คราวนี้การประท้วงเริ่มในเช้าวันที่ 2 มกราคม 2022 ผู้อยู่อาศัยในเมืองเมืองจานาโอเซนได้ปิดกั้นถนนเพื่อประท้วงการขึ้นราคาน้ำมัน ในวันถัดมาผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถทำให้ฝูงชนพอใจได้ จนต้องพากันหลบหนีจากฝูงชนที่เกรี้ยวกราด
4. ในวันเดียวกันนั้น การประท้วงลุกลามไปยังเมืองอื่นๆ มีรายงานการจับกุมประชาชนในเมืองนูร์-สุลต่าน, อักโทเบ และอัลมาตี ที่ซึ่งจัตุรัสรีพับลิกและจัตุรัสอัสตานาต้องถูกปิดลง ในเมืองอื่นๆ มีการสั่งให้เพิ่มกำลังตำรวจในที่สาธารณะ แต่ไม่สามารถขัดขวางพลังประชาชนทั่วประเทศได้ ต่างพากันเรียกร้องให้ลดค่าน้ำมันและรัฐบาลลาออก
5. เมื่อวันที่ 4 มกราคม ผู้คนประมาณ 1,000 คนรวมตัวกันเพื่อประท้วงที่ใจกลางอัลมาตี เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ตำรวจใช้ระเบิดแฟลชและแก๊สน้ำตาสลายผู้ประท้วง ประธานาธิบดีฆาเซิม-โฌมาร์ต โตกาเยฟ ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตมันกีสตาอูและอัลมาตี ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 01:30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ถึงวันที่ 19 มกราคม 00:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น
6. วันเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีฆาเซิม-โฌมาร์ต โตกาเยฟ กล่าวว่าข้อเรียกร้องที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดของผู้ประท้วงจะได้รับการพิจารณา และหลังจากพบปะกับผู้ประท้วง คณะกรรมาธิการพิเศษ ตกลงที่จะลดราคา LPG เป็น 50 เทนเก (ราว 0.11 ดอลลาร์) ต่อลิตร แต่การประท้วงก็ยังไม่ซาลงแถมยังลามไปยังเมืองอื่น
7. เมื่อวันที่ 5 มกราคม ประธานาธิบดีโตกาเยฟยอมรับการลาออกของรัฐบาล ในวันเดียวกัน นักข่าวของรอยเตอร์รายงานผู้ประท้วงหลายพันคนมุ่งหน้าไปยังใจกลางเมืองอัลมาตี หลังจากกองกำลังความมั่นคงไม่สามารถสลายผู้ชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและระเบิดแฟลช
8. ในอัลมาตี สำนักงานของนายกเทศมนตรีเมืองถูกโจมตีและถูกวางเพลิง สถานที่เก็บอาวุธขนาดเล็กถูกยึดโดยผู้ประท้วง การประท้วงที่สนามบินนานาชาติอัลมาตีส่งผลให้เที่ยวบินถูกยกเลิกและเปลี่ยนเส้นทาง และมีรายงานของรัฐบาลว่าผู้ประท้วงยึดเครื่องบิน 5 ลำ ผู้ประท้วงยังโจมตีบ้านของประธานาธิบดีโตกาเยฟด้วยปืนไรเฟิลและระเบิดมือ ซึ่งทำให้บ้านถูกทำลายบางส่วน
9. ในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 5 มกราคม ประธานาธิบดีโตกาเยฟประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศจนถึงวันที่ 19 มกราคม ซึ่งจะรวมถึงเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 23:00 ถึง 07:00 น. การจำกัดการเคลื่อนไหวชั่วคราว และการห้ามการชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ ประธานาธิบดีขู่ว่าจะปราบปรามผู้ประท้วง โดยระบุว่า "ผมวางแผนที่จะดำเนินการอย่างสุดกำลัง" และกล่าวว่าเขาไม่มีเจตนาที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ
10. วันที่ 6 มกราคม ผู้ประท้วงหลายสิบคนและเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างน้อย 12 คนเสียชีวิต ที่อัลมาตีอาคารรัฐบาลบุกโจมตีหรือจุดไฟเผาและการปล้นสะดมอย่างกว้างขวาง กระทรวงมหาดไทยระบุว่า มีผู้ถูกจับกุม 2,298 รายในระหว่างเหตุการณ์ความไม่สงบ ขณะที่โฆษกตำรวจ ซัลตานาต อาซีร์เบก บอกกับช่องข่าวของรัฐ Khabar 24 ว่า "ผู้โจมตีหลายสิบคนถูกสังหาร"
11. พลร่มรัสเซีย 3,000 นายมาถึงคาซัคสถานในเช้าวันที่ 6 มกราคม หลังจากที่ประธานาธิบดีโตกาเยฟร้องขออย่างเป็นทางการเพื่อขอความช่วยเหลือต่อองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม ประเทศร่วมภูมิภาค คือ อาร์เมเนีย เบลารุส คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ก็ส่งทหารเข้าประเทศเช่นกัน
12. วันที่ 7 มกราคม สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์อ้างคำพูดของกระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานว่าหน่วยทหารรัสเซียกำลังบินเข้าสู่คาซัคสถาน "ตลอดเวลา" และควบคุมสนามบินของเมืองอัลมาตีที่ใหญ่ที่สุดร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของคาซัคสถาน
13. สหรัฐเตือนกองกำลังรัสเซียที่ประจำการในคาซัคสถาน ไม่ให้เข้าควบคุมคาซัคสถาน โดยกล่าวว่าโลกจะจับตาดูการละเมิดสิทธิ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “สหรัฐ, และบอกตามตรง รวมถึงโลกด้วย จะจับตาดูการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ เราจะจับตาดูการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการยึดสถาบันคาซัค"
14. ประธานาธิบดีคาซัคสถานสั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเปิดฉากยิงโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าในกรณีที่เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก และเสริมว่าผู้ที่ล้มเหลวในการมอบตัวจะ "ถูกทำลาย" และกล่าวว่าระเบียบส่วนใหญ่ได้รับการฟื้นฟูในประเทศหลังจากเกิดความรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนมาหลายวัน ด้านกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงได้เข้ายึดพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ "ภายใต้การคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น" และ "อาชญากรติดอาวุธ" 26 คนเสียชีวิตและบาดเจ็บ 18 คนจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
15. อย่างไรก็ตาม มุคตาร์ อับเลียซอฟ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคาซัคสถานและผู้นำฝ่ายต่อต้านเผด็จการที่ปักหลักในฝรั่งเศสกล่าวว่า ระบอบการปกครองที่ปกครองคาซัคสถานตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตกำลังใกล้จะสิ้นสุดในการปฏิวัติประชาชน เมื่อผู้คนรวมตัวกันเป็นครั้งแรกเพื่อแสดงความโกรธแค้นต่อรัฐบาล และยังได้กล่าวถึงการแทรกแซงทางทหารที่นำโดยรัสเซียว่าเป็น "การยึดครอง" และกระตุ้นให้ชาวคาซัคลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้กับกองกำลังต่างชาติ
Photo by Abduaziz MADYAROV / AFP