เมื่อเศรษฐีน้ำมันกลายเป็นยาจก ทำไมเวเนซุเอลาจึงล่มสลาย
ครั้งหนึ่งเวเนซุเอลาเป็น 1 ใน 10 ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
สำนักข่าว AFP ตีแผ่ความล่มสลายของธุรกิจน้ำมันของเวเนซุเอลา ภาพของบ่อน้ำมันในแถบทะเลสาบมาราไกโบที่เคยรุ่งเรือง มาบัดนี้กำลังจะล่มสลาย ทิ้งไว้เพียงรอยรั่วไหลของน้ำมัน ท่อขึ้นสนิม อุปกรณ์แตกหักกระจัดกระจาย และบันไดเก่าๆ
เมื่อกว่าร้อยปีก่อน ลุ่มน้ำมาราไกโบทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐซูเลียคือต้นกำเนิดของธุรกิจที่พลิกประเทศให้ผงาดขึ้นเป็น 1 ใน 10 ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก และมีเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของละตินอเมริกา
ปี 2008 เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันได้วันละ 3.2 ล้านบาร์เรล ทว่าเพียง 13 ปีต่อมาปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้เหลือเพียง 500,000-1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจถดถอยและภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงหลายปี จนขณะนี้จีดีพีต่อหัวของเวเนซุเอลาเหลือเท่าจีดีพีของเฮติ
แม้ว่าจะนั่งอยู่บนปริมาณน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก เวเนซุเอลายังต้องเจอกับการขาดแคลนพลังงานเชื้อเพลิงและมักจะเจอไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง ณ จุดหนึ่งถึงกับต้องนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน
ครั้งหนึ่งการผลิตน้ำมันในลุ่มน้ำมาราไกโบไม่เคยหลับไหล แสงไฟเหนือหอกลั่นน้ำมันสามารถมองเห็นได้จากระยะไกลในตอนกลางคืน แต่วันนี้ลุ่มน้ำนี้กลับกลายเป็นหนองน้ำชื้นๆ ที่มีกลิ่นน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจากท่อลอยอยู่เหนือน้ำ
ชาวประมงรายหนึ่งเผยกับ AFP ว่า แทบจะไม่มีใครอยากย่างกรายไปที่นั่น เพราะกลัวว่าแก๊สจะระเบิด
แท่นขุดเจาะน้ำมันก็ถูกโจรกรรมของมีค่าไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ก๊อกและวาล์วที่ควบคุมการไหลของน้ำมันและแก๊ส
ครอบครัวแตกแยก
การเปลี่ยนอุตสาหกรรมน้ำมันให้เป็นของชาติซึ่งทำให้บริษัทรัฐวิสาหกิจ PDVSA ผูกขาดกิจการนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่จากช่วงรุ่งเรืองในช่วงทศวรรษ 1970 จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อทางการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน
แต่หลังจากก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 1999 ฮูโก ชาเวซ สั่งให้บริษัทน้ำมันเอกชนทุกแห่งควบรวมกิจการกับ PDVSA โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
นับตั้งแต่นั้นมา อุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาก็ต้องเผชิญกับการคอร์รัปชัน การตัดสินใจที่แย่ ปัญหาเกี่ยวกับการบำรุงรักษาและอุปกรณ์เก่า รวมทั้งถูกคว่ำบาตรทางการเงิน
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้ธุรกิจน้ำมันของเวเนซุเอลาตกต่ำคือ ช่วงต้นทศวรรษ 2000 เมื่อชาเวซซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2013 ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เข้ามาพัวพันกับการทะเลาะเบาะแว้งกับกลุ่มผู้บริหาร PDVSA
ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่การผละงานประท้วงตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2003- มี.ค. 2003 ทำให้ระหว่างนั้นการผลิตน้ำมันลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เหลือเพียงวันละ 25,000 บาร์เรลต่อวัน
ชาเวซอาศัยอำนาจของตัวเองไล่ผู้บริหารส่วนใหญ่ของ PDVSA และพนักงานอีกหลายพันคนออก โดยอ้างว่าคนเหล่านั้นบ่อนทำลายการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลา แล้วนำคนที่จงรักภักดีต่อแนวคิดการปฏิรูปของตัวเองซึ่งไม่มีประสบการณ์เข้ามาแทนที่
หลังการผละงานปริมาณการผลิตน้ำมันกลับมาเหมือนเดิม แต่ในปี 2009 ธุรกิจ 70 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนก็ถูกทำให้เป็นของชาติเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ส่งผลให้ขาดการบำรุงรักษา ขณะที่พนักงานก็ขาดแรงจูงใจเนื่องจากเงินเดือนลดลง เมื่อแหล่งเงินของรัฐบาลเวเนซุเอลาเผชิญกับความยากลำบาก พนักงานก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย
พนักงานคนหนึ่งเผยกับ AFP ว่า “ผู้หญิงหลายคนเลิกกับสามีเพราะพวกเขาไม่ได้ทำงานกับ PDVSA แล้ว ครอบครัวแตกสลาย เงินเดือนผมไม่พอใช้ด้วยซ้ำ”
ในช่วงนั้นบ่อน้ำมันครึ่งหนึ่งของเวเนซุเอลาประสบภาวะชะงักงัน
จุดบ่มเพาะการคอร์รัปชัน
ปี 2013 วิกฤตรุนแรงขึ้นเมื่อผู้รับเหมาช่วงหยุดทำงานเพราะไม่ได้รับค่าตอบแทน
ขณะที่พนักงานที่ซังกะตายก็เริ่ม “ตกปลาเพื่อเลี้ยงตัวเอง” เพราะกฎเกณฑ์ไม่สามารถเอื้อมมาถึงพนักงานที่นั่น จากคำบอกเล่าของมาเรีย (นามสมมติ) ที่ทำงานใน PDVSA ในขณะนั้นและยังอยู่จนถึงตอนนี้
การเมืองใน PDVSA ดำเนินมาถึงจุดสูงสุด แม้แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของบริษัทยังต้องใช้รูปของชาวเวซ และต่อมาเป็นรูปของ นิโคลัส มาดูโร ทายาททางการเมืองของชาเวซ
“การจ้างพนักงานโดยเลือกจากแนวคิดทางการเมืองกระทบกับการผลิตอย่างรุนแรง...เรากำจัดคนมีประสบการณ์ ไม่เหลือแนวคิดการใช้คนที่มีความสามารถอยู่เลย” มาเรียเผย ทั้งยังกลายเป็นที่บ่มเพาะการคอร์รัปชัน มีการฉ้อโกงในกลุ่มคนระดับสูง
เมื่อ 2017 ทางการสั่งตรวจสอบครั้งใหญ่โดยพุ่งเป้าไปที่การคอร์รัปชันใน PDVSA มีการสอบสวนอดีตผู้จัดการ รวมทั้ง ราฟาเอล รามิเรซ อดีตประธานบริษัท ขณะที่รามิเรซซึ่งลี้ภัยอยู่ที่อิตาลีโต้ว่าการตั้งข้อหาเขาเป็นเรื่องการเมือง
พยานหลายคนที่รู้เห็นโดยตรง รวมทั้งมาเรียเผยว่า ยานพาหนะของ PDVSA ถูกนำมาใช้ส่วนตัว เงินของบริษัทถูกนำมาซื้อข้าวของส่วนตัว หรือแม้แต่ทีวีและคอมพิวเตอร์ยังถูกขโมย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับที่นั่น
ขึ้นอยู่กับพระเจ้า
การ์ลอส เมนโดซา ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ปิโตรเลียมจาก Central University of Venezuela ในกรุงการากัสเผยว่า “มีทั้งการคอร์รัปชันเก่าและใหม่ การจัดซื้อที่ผิดปกติและการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980”
ในช่วงขาลงของ PDVSA พนักงานบางคนเริ่มสละเรือและหาอาชีพอื่นแทน อาทิ คนขับแท็กซี่ หรือทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่วิศวกรและนักธรณีวิทยาออกไปหาโอกาสใหม่ในต่างแดน
ส่วนพนักงานที่ยังอยู่อย่างมาเรียทำงานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยได้ค่าตอบแทนเพียง 60 โบลิวาร์ หรือ ไม่ถึง 15 เหรียญสหรัฐต่อเดือนโดยไม่มีสวัสดิการอื่นๆ จากที่ก่อนหน้านี้มีเงินเดือนที่ดีกว่านี้และมีค่ารักษาพยาบาล
“ชะตาของพวกเราขึ้นอยู่กับพระเจ้าแล้วล่ะ” มาเรียกล่าว เธอบอกอีกว่าไม่มีพนักงานคนไหนอยู่ได้ด้วยเงินเดือนจาก PDVSA นอกจากคนที่ทำงานกับบริษัทร่วมทุนจากจีนและรัสเซีย
ประชาชนรับเคราะห์
เวเนซุเอลาโทษว่าความยากลำบากนี้เป็นผลมาจากการคว่ำบาตรจากสหรัฐ แต่มาตรการของสหรัฐเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2014 เนิ่นนานหลังจากความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นกับเวเนซุเอลาแล้ว
AFP ระบุว่า ในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่มความเข้มงวดของมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอลาหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2017 อุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาเริ่มเสื่อมถอยแล้ว แม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรจะทำให้อะไรๆ ยุ่งยากขึ้นก็ตาม
สหรัฐซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ของเวเนซุเอลา แต่ปัจจุบันนี้สหรัฐยังขัดขวางแม้กระทั่งการนำเข้าอะไหล่ที่โรงกลั่นต้องการ เพราะต้องการตัดแขนตัดขารัฐบาลประธานาธิบดีมาดูโร
ปัจจุบันบ่อน้ำมันในแถบทะเลสาบมราไกโบที่เคยรุ่งเรืองเหลือทิ้งไว้เพียงสิ่งก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างที่สร้างมลพิษในแหล่งน้ำ เพราะบางครั้งน้ำมันดิบยังถูกพ่นออกมาจากแท่นขุดเจาะที่ชำรุดทรุดโทรม
รอยเผยกับ AFP ว่า “วันหนึ่งผมเห็นน้ำมันพุ่งขึ้นไปสูงถึง 70 เมตร ผมคิดว่ามันเป็นน้ำแต่จริงๆ มันคือน้ำมัน”
บางพื้นที่ของทะเลสาบมาราไกโบยังถูกเรียกว่าเป็น “เขตอันตราย” เพราะคราบน้ำมันซึ่งมองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาปิดกั้นก๊าซออกซิเจนไม่ให้ลงไปในน้ำ ซึ่งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเลสาบแห่งนี้
แต่นี่ไม่ใช่จุดเดียวที่มีปัญหา ทุกที่ที่เวเนซุเอลาขุดเจาะน้ำมันจะเกิดน้ำมันรั่วไหลเป็นเรื่องปกติ
สร้างความเสียหายให้ทุกสิ่ง
ในเขตขุดเจาะน้ำมันทางตะวันออกของเวเนซุเอลาใกล้กับเมืองมาตูริน ชาวบ้านเผยว่า ท่องส่งน้ำมันที่มีรอยร้าวพาดผ่านฟาร์มและที่ดินส่วนบุคคล ทำให้มีน้ำมันรั่วไหลออกมา
นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คนจากเหตุท่อน้ำมันระเบิดทางตะวันออกของทะเลสาบมาราไกโบไม่ไกลจากเมืองมาตูริน
ทว่า นอกจากปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาประธานาธิบดีมาดูโรยังกล้าเคลมว่า ปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้กลับมาสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังตั้งเป้าจะผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปีนี้
Photo by CRISTIAN HERNANDEZ / AFP