posttoday

พบแก่นโลกเย็นตัวเร็วกว่าที่คาด สิ่งมีชีวิตต้องสูญพันธุ์เร็วขึ้น

25 มกราคม 2565

โลกถึงจุดหายนะเร็วขึ้น นักวิจัยพบแก่นโลกเย็นตัวเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ 1.5 เท่า

นับตั้งแต่ที่โลกก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน แก่นโลกชั้นในมีการเย็นตัวลงเรื่อยๆ ตามธรมมชาติของดาวเคราะห์ แต่ล่าสุดนักวิจัยพบว่าแร่ธาตุในแก่นโลกซึ่งเป็นของเหลวที่มีอุณหภูมิสูงนั้นเย็นตัวเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ 1.5 เท่า ซึ่งเมื่อเย็นตัวจนกลายเป็นหินแข็งจะทำให้โลกไม่สามารถรักษาสนามแม่เหล็ก เสถียรภาพของอุณหภูมิ และวงจรคาร์บอน อันนำมาซึ่งหายนะของสิ่งมีชีวิตบนโลก

DW News ได้รายงานผลการศึกษาของทีมวิจัยจากสถาบัน ETH Zurich ของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งได้ร่วมมือกับทีมวิจัยจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Earth and Planetary Science Letters เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา

ทีมวิจัยได้ศึกษาแร่ธาตุ Bridgmanite ซึ่งพบมากในชั้นล่างของเนื้อโลกที่ติดกับผิวของแก่นโลก โดยนำมาทดสอบความสามารถในการนำความร้อน ด้วยการยิงเลเซอร์ให้มีอุณภูมิถึง 2,440 เคลวินภายใต้แรงดัน 80 กิกะปาสคาล ซึ่งใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมใต้ผืนโลก

โมโตฮิโกะ มูราคามิ ศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์จาก ETH Zurich ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า "ในที่สุดเราก็พบว่าก่อนหน้านี้เราประเมินอัตราการนำความร้อนต่ำเกินไป โดยทีมวิจัยพบว่า Bridgmanite สามารถนำความร้อนสูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ถึง 1.5 เท่า"

"การถ่ายเทความร้อนจากแก่นโลกมีประสิทธิภาพมากกว่าที่คิดไว้ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การเย็นตัวของแก่นโลกเร็วกว่าที่พวกเราคาด" มูราคามิกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น หากแก่นโลกเย็นลงจนกลายเป็นหินแข็งจะสูญเสียสนามแม่เหล็กซึ่งเปรียบเสมือนเกราะป้องกันของโลกจากอนุภาคและรังสีอันตรายในอวกาศ และเมื่อถึงจุดนั้นโลกจะกลายเป็นหินแข็งที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ เช่นเดียวกับดาวพุธและดาวศุกร์

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยไม่ได้คาดการณ์ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในอีกกี่ปีข้างหน้า

ตามรายงานของ NBC News ระบุว่าแอนดรูว์ รัชบี จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียในสหราชอาณาจักรเคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2013 ว่าโลกจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตไปอีก 1,750 ล้านถึง 3,250 ล้านปี หากไม่มีไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยนิวเคลียร์ ดาวเคราะห์น้อยอันธพาล หรือภัยพิบัติที่คาดไม่ถึงอื่นๆ

AFP PHOTO / HANDOUT /NASA/NOAA