'กระท่อม' ฆ่าคนได้หรือไม่?

01 กุมภาพันธ์ 2565

คำถามและคดีความจากอเมริกา การรับประทาน 'กระท่อม' อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่

Courthouse News เว็บไซต์ข่าวจากสหรัฐรายงานว่ากระท่อมจากที่เป็นพืชพื้นบ้าน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชาวอเมริกันนิยมใช้กระท่อมเป็น Recreation drug หรือสารเสพติดมาใช้เพื่อความบันเทิง หรือความหย่อนใจ ท่ามกลางการถกเถียงว่าการใช้กระท่อมเกินขนาดทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่

รายงานได้เปิดเผยเรื่องราวของเจมส์ วัย 21 ปีซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ญาติอ้างว่าเขาเสียชีวิตจากการใช้กระท่อมเกินขนาด หลังเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2019 เพราะต้องการเลิกเหล้า

เช่นเดียวกับผู้ติดกระท่อมหลายๆ คน เจมส์คิดว่ามันปลอดภัยและไม่ใช่สารเสพติดอันตราย เขาเริ่มใช้มันในปริมาณมาก และในไม่ช้าเขาก็ติดกระท่อม

เจมส์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 2 ครั้งเพราะมีอาการชัก และเสียชีวิตในท้ายที่สุด ญาติเผยว่าใบหน้าของเจมส์เต็มไปด้วยอาเจียน

องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กล่าวในรายงานเมื่อปี 2017 ว่าผลิตภัณฑ์จากกระท่อมสามารถฆ่าคนได้ โดยในขณะนั้น FDA ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 36 รายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระท่อม

"มีรายงานว่ากระท่อมถูกนำไปผสมกับยาแก้ปวดอื่นๆ อย่างยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioids) เช่น ไฮโดรโคโดน (Hydrocodone) การใช้กระท่อมยังสัมพันธ์กับผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น อาการชัก ความเสียหายของตับ และอาการถอนยา (withdrawal symptoms)"

แต่อุตสาหกรรมกระท่อมยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่กระท่อมเพียงอย่างเดียวจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หลายคนมองว่ากระท่อมมีสรรพคุณทางยา ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวด เป็นสารกระตุ้นอ่อนๆ และมีอันตรายน้อยกว่ายาแก้ปวดอื่นๆ ตลอดจนช่วยลดความอยากสารเสพติดประเภทอื่นในผู้ที่ติดยาเสพติด

ตามการประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ากระท่อมสามารถสร้างพิษร้ายแรงหากใช้ในปริมาณมาก แต่เคสที่เกิดขึ้นน่าจะน้อย หากเทียบกับจำนวนผู้ใช้กระท่อมทั้งหมด

คริส เบลล์ เจ้าของสารคดีเรื่อง "A Leaf of Faith" กล่าวว่า กระท่อมไม่เคยฆ่าใครจริงๆ

เจน บาบิน ทนายความจากซานดิเอโกเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่ากระท่อมจะทำให้เสียชีวิตได้ เธอได้ตรวจสอบผู้เสียชีวิตจำนวน 44 รายที่องค์การอาหารและยา (FDA) จัดว่าเกี่ยวข้องกับกระท่อม ซึ่งเจนพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีประวัติการใช้ยาเสพติดอื่นๆ ด้วย

แต่แซม ดอร์ดิก ทนายความของครอบครัวชายวัย 25 ปีคนหนึ่งที่ยื่นฟ้องผู้ผลิตกระท่อม หลังจากที่ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียชายคนดังกล่าวไปเพราะใช้กระท่อมเกินขนาดเมื่อปี 2018 กล่าวว่า "นี่เป็นเรื่องโกหกที่อุตสาหกรรมกระท่อมเร่ขายและโฆษณาว่ากระท่อมไม่สามารถฆ่าคุณได้ คอยปกป้องว่าผู้เสียชีวิตอาจตายด้วยสารเสพติดชนิดอื่น...สิ่งเดียวที่อยู่ในร่างกายของชายคนนี้คือกระท่อม และมันฆ่าเขา"

โรเบิร์ต มองเกลุซซี ซึ่งเป็นทนายของครอบครัวเดียวกันกล่าวว่า "คดีนี้ทำให้ผมนึกถึงเมื่อก่อนที่ทำคดียาเส้น...ยาเส้นถูกวางขายในตลาดและเคลมว่ามันปลอดภัย มันคือใบไม้ แต่มันติด และฆ่าคน" มองเกลุซซีกล่าว

ด้านประเทศไทยเองก็มีผู้ที่เกือบเสียชีวิตเพราะกระท่อมมาแล้ว อย่างเมื่อ 2 ปีก่อนมีหนุ่มวัย 18 ปีคนหนึ่งถูกหามส่งโรงพยาบาลเพราะการดื่มน้ำกระท่อมที่ทำให้กระเพาะอาหาร และลำไส้อุดตัน ไตเกือบวาย เกือบเสียชีวิต

ทว่า ชาวเน็ตอีกด้านหนึ่งไม่เชื่อว่าสาเหตุมาจากกระท่อมเพียงอย่างเดียว บางคนอ้างว่าดื่มมานานก็ไม่เคยเป็นอะไรอาจเป็นเพราะน้ำไม่สะอาด หรือผสมสารอย่างอื่นเข้าไปด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำว่าไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ

โดยข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแนะนำว่าไม่ควรรับประทานกระท่อมมากเกินขนาดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

หากรับประทานเกินขนาดจะส่งผลให้เกิดอาการลื่นไส้, อาเจียน, ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ, กระสับกระส่าย, ชัก, เกิดอาการเชื่องซึม หรือกดการหายใจ, ทำให้เสพติด เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาจส่งผลต่อยาบางประเภทที่กำลังรับประทานอยู่

Photo by Bangkok Post 

Thailand Web Stat