ชีวิตในสลัมของ 'ทายาทคนสุดท้าย' แห่งจักรวรรดิโมกุล
"ลองจินตนาการดูสิ ผู้สืบสกุลของจักรพรรดิที่สร้างทัชมาฮาล ตอนนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสลัมอย่างยากจนข้นแค้น"
จักรวรรดิโมกุลเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่ปกครองบริเวณอนุทวีปอินเดียในสมัยศตวรรษที่ 16-19 ก่อนที่อังกฤษจะเริ่มแผ่อิทธิพลจนสามารถยึดครองอินเดีย จนในที่สุดจักรวรรดิโมกุลต้องล่มสลาย พระราชวงศ์ที่ไม่ถูกปลงพระชนม์ก็ต้องถูกเนรเทศ
รวมถึงจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของจักรวรรดิโมกุล ถูกเนรเทศไปยังย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนไปจนลมหายใจสุดท้าย เป็นอันจบสิ้นจักรวรรดิโมกุลอันยิ่งใหญ่ที่ปกครองอินเดียมากว่า 300 ปี
แต่ล่าสุด ซุลตานา เบกุม หญิงชาวอินเดียวัย 68 ปี เผยต่อเอเอฟพีว่าเธอคือ "ทายาทคนสุดท้าย" ของจักรวรรดิโมกุล
เบกุมใช้ชีวิตอย่างอัตคัตในห้องแคบๆ ที่ตั้งอยู่ในสลัมเขตชานเมืองของโกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย เธอต้องแชร์ห้องครัวกับเพื่อนบ้าน และใช้น้ำจากก๊อกน้ำส่วนกลางตามถนน
"ลองจินตนาการดูสิ ผู้สืบสกุลของจักรพรรดิที่สร้างทัชมาฮาล ตอนนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสลัมอย่างยากจนข้นแค้น" เบกุมกล่าวกับเอเอฟพี
ก่อนหน้านี้เบกุมเปิดร้านน้ำชาเล็กๆ ใกล้บ้าน แต่มันถูกรื้อทิ้งเมื่อมีการขยายถนน และตอนนี้เธออยู่รอดด้วยเงินบำนาญก้อนเล็กๆ ที่ได้เพียงเดือนละ 6,000 รูปี (ประมาณ 2,600 บาท)
ในบรรดาทรัพย์สินเล็กๆ น้อยๆ ที่เหลืออยู่ของเธอ มีบันทึกการแต่งงานเมื่ออายุ 14 ปี กับ มีร์ซา โมฮัมหมัด เบดาร์ บัคต์ ซึ่งเธอออ้างว่าเป็นเหลนของจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของจักรวรรดิโมกุลผู้ปกครองอินเดีย
หลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิตในปี 1980 เธอใช้เวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อทวงสิ่งที่เธอควรจะได้รับ
เบกุมจ้างทนายเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล โดยเรียกร้องทรัพย์สินที่เธอควรได้รับ รวมถึงป้อมแดง ป้อมปราการซึ่งเคยเป็นที่ประทับของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล และขอให้ทางการรับทราบสถานะของเธอในฐานะพระราชวงศ์
"ฉันหวังว่ารัฐบาลจะให้ความยุติธรรมกับฉัน อะไรที่เป็นของใครมันก็ต้องกลับคืนสู่เจ้าของ" เบกุมกล่าว
อย่างไรก็ตาม ศาลปฏิเสธคำร้องของเธอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าทีมทนายของเธอไม่สามารถให้เหตุผลได้ว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ตลอดระยะเวลา 150 ปีที่ผ่านมา ทำไมจึงไม่มีทายาทของจักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์คนใดที่ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องสิทธิเหมือนกับเธอ"
ย้อนกลับไปก่อนที่จักรวรรดิโมกุลจะล่มสลาย ขณะนั้นเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในอินเดีย ซึ่งตอนนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "สงครามเพื่ออิสรภาพครั้งแรกของอินเดีย" ส่งผลให้อังกฤษไม่พอใจอย่างมากและเข้าปราบจลาจลอย่างไร้ความปราณี พระราชวงศ์ถูกปลงพระชนม์โดยทหารอังกฤษ ส่วนที่เหลือถูกเนรเทศ
ขณะที่จักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ถูกตั้งข้อหาให้การสนับสนุนกบฎต่อต้านอังกฤษ พยายามเรียกร้องเอกราช และมีส่วนรู้เห็นในการสังหารชาวอังกฤษ และถูกเนรเทศไปยังย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา
ป้อมแดง พังเสียหายภายหลังการจลาจลก่อนที่จะมีการปรับปรุงใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 20 นับแต่นั้นมาสถานที่แห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพของอินเดียจากการปกครองของอังกฤษ โดยปัจจุบันป้อมแดงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก ในปี 2007
แม้ว่าเบกุมจะยังไม่สามารถทวงคืนป้อมแดงมาเป็นของเธอได้ แต่เธอยังไม่สิ้นหวังที่จะทำให้ทางการยอมรับว่าเธอเป็นผู้รับผลประโยชน์โดยชอบธรรมจากมรดกของจักรวรรดิอินเดียรวมถึงป้อมแดง โดยทีมทนายความยืนยันว่าคดีความจะยังคงดำเนินต่อไป
"ฉันหวังว่าวันนี้ พรุ่งนี้ หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ฉันจะได้รับสิ่งที่ฉันสมควรได้รับ...ฉันจะทวงคืน และฉันแน่ใจว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น" เบกุมยืนหยัดที่จะสู้ต่อเพื่อทวงคืนสิ่งที่ควรเป็นของเธอ
Photo by DIBYANGSHU SARKAR / AFP