posttoday

เปิด ‘แผนก 13’ ทีมลอบสังหารของสายลับรัสเซีย

09 มีนาคม 2565

สหภาพโซเวียตและรัสเซียเคยส่งทีมลอบสังหารจากแผนก 13 ไปปลิดชีพผู้นำประเทศและฝ่ายต่อต้านชาวยูเครนมาแล้วหลายคน และผู้นำยูเครนคนล่าสุดก็บอกว่าเขาเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของปูติน

เพียง 1 สัปดาห์หลังจากรัสเซียบุกยูเครนก็มีข่าวว่า ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ถูกลอบสังหารแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง โดย 2 ใน 3 ครั้งเป็นฝีมือกลุ่มว้ากเนอร์ (Wagner) ทหารรับจ้างชื่อดังของรัสเซีย แต่ยูเครนได้รับการแจ้งข่าวจากเจ้าหน้าที่ FSB ของรัสเซียก่อน ทีมลอบสังหารจึงลงมือไม่สำเร็จ

แหล่งข่าวเผยกับ Times of London ว่า มีสมาชิกกกลุ่มว้ากเนอร์แฝงตัวอยู่ในรุงเคียฟอย่างน้อย 400 ราย โดยมีรายชื่อของเจ้าหน้าที่คนสำคัญของยูเครนที่ตกเป้าหมาย 24 คนอยู่ในมือ ส่วนอีกครั้งหนึ่งเป็นฝีมือของ Kadyrovites ทีมสังหารจากสาธารณรัฐเชเชนที่ลงมือย่านชานกรุงเคียฟ

อันที่จริงรัสเซียมีหน่วยงานเฉพาะสำหรับลงมือสังหารเป้าหมายที่เป็นภัยคุกคามสหภาพโซเวียตที่รู้จักกันในชื่อ Thirteenth Department หรือแผนก 13 ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ภายใต้การนำของ วิกเตอร์ วลาดิมีรอฟ เจ้าหน้าที่สายลับ KGB ที่ปฏิบัติการในฟินแลนด์

เอกสารที่ได้รับการปลดออกจากการเป็นเอกสารลับของ CIA ระบุว่า Thirteenth Department มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงมอสโกราว 60 คน และยังดำเนินการหน่วยดาวเทียมหลายครั้งในเยอรมนีตะวันออก จีน และออสเตรีย

เป้าหมายของ Thirteenth Department คือ พลเมืองสหภาพโซเวียต ผู้อพยพชาวโซเวียต และชาวต่างชาติ โดยใช้อาวุธทุกรูปแบบ รวมทั้งการฉีดพ่นของเหลวให้เป็นละออง และการใช้ยาพิษอย่างสตริกนินเคลือบช็อกโกแลต (อ่านบทความเรื่อง "เปิด 'Lab X' โรงงานผลิตยาพิษของสายลับปูติน" ได้ที่นี่)

การลงมือสังหารคนดังหลายคนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับ Thirteenth Department มีหลายเคส อาทิ การสังหารอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ของสหรัฐ

มีหลายทฤษฎีสมคบคิดที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารอดีตผู้นำสหรัฐเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 1963 รวมทั้งทฤษฎีที่ว่าสหภาพโซเวียตอยู่เบื้องหลัง

ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ อดีตนาวิกโยธินสหรัฐที่ถูกตั้งข้อหาลอบสังหารเคนเนดี มีความเกี่ยวข้องกับโซเวียต เขาหนีออกจากประเทศไปอยู่สหภาพโซเวียต แต่งงานกับภรรยาชาวโซเวียต แล้วกลับมาสหรัฐในปี 1961

เอกสารของ CIA ระบุว่า ออสวอลด์เดินทางไปสถานทูตโซเวียตในกรุงเม็กซิโกซิตีเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 1963 และพูดคุยกับ วาเลรี โคสทิคอฟ ที่ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกหน่วยลอบสังหารของ KGB โดยโคสทิคอฟเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองที่ทำหน้าที่เฟ้นหาสายข่าวและบริหารจัดการการทำงานของสายข่าวในปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนจาก Thirteenth Department

ยอซิป บรอซ ตีโต (Josip Broz Tito)

อดีตผู้นำยูโกสลาเวียรายนี้เคยถูกโซเวียตลอบสังหารหลายครั้งแต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง ช่วงปลายทศวรรษ 1940 เขาตัดสินใจเขียนจดหมายไปยัง โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตว่า “หยุดส่งคนมาฆ่าผมเสียที เราจับพวกเขาได้ 5 คนแล้ว หนึ่งในนั้นมีระเบิดและอีกคนหนึ่งมีไรเฟิล 1 กระบอก...ถ้าคุณยังไม่หยุดส่งมือสังหารมา ผมจะส่งไปที่มอสโกสักคน และผมไม่จำเป็นต้องส่งคนอื่นตามไปอีก”

ข้อมูลบางแหล่งบอกว่า สตาลินเก็บจดหมายฉบับนี้ไว้ในลิ้นชักโต๊ะตลอดชีวิตของเขา แต่การลอบสังหารตีโตก็ยังดำเนินต่อไป รวมทั้งหมดตั้งแต่แรกเริ่มคือ 22 ครั้ง

จอร์จี โอโคโลวิช (Georgi Okolovich)

โอโคโลวิชเป็นแกนนำ People's Labor League องค์กรเกี่ยวกับผู้อพยพในปี 1954 เขาตกเป็นเป้าสังหารของ MGB หน่วยงานข่าวกรองของสหภาพโซเวียต ทว่า นิโคไล โคคลอฟ ของ KGB ซึ่งจะต้องทำหน้าที่สั่งการการลอบสังหาร เปลี่ยนใจไปเตือนโอโคโลวิชที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ตของเยอรมนีและหลบอยู่ที่นั่น

โคคลอฟนำกล่องใส่บุหรี่ขนาดใหญ่ที่ทำจากหนังติดตัวไปด้วย 2 กล่อง ในนั้นบรรจุเข็มฉีดไซยาไนด์หลายเข็ม และปืนพกสั้นยาว 4 นิ้ว สูง 4 นิ้ว 1 กระบอก ปืนกระบอกนี้ยิงกระสุน 3 ชนิดคือ นัดแรกทำให้เป้าหมายขยับไม่ได้ นัดต่อมาเป็นกระสุนยาพิษสำหรับใช้ในระยะประชิด และกระสุนโลหะเป็นนัดปิดเกม โดยทั้งสามนัดยิงออกมาแบบไร้เสียง

เลฟ เรเบท (Lev Rebet) และสเตปัน บันเดรา (Stepan Bandera)

เรเบทเป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลยูเครนและนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่อาศัยอยู่ในเมืองมิวนิกของเยอรมนี เขาเสียชีวิตในปี 1957 ส่วนบันเดรา ผู้อพยพและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทรุดหมดสติกลางถนนในเมืองมิวนิกเสียชีวิตเมื่อปี 1959 ทั้งคู่ถูกระบุอย่างเป็นทางการว่าเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย

ทว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของทั้งคู่ได้รับการเปิดเผยในปี 1961 หลังจากการหลบหนีออกนอกประเทศของ บอห์ดาน สตาชินสกี (Bohdan Stashinsky) มือสังหารของ KGB ที่ลงมือปลิดชีพทั้งสองคน

เดือน พ.ย. 1961 สตาชินสกี ยอมมอบตัวกับตำรวจเยอรมนีตะวันตกและเปิดปากเล่าว่า ขณะลงมือเขาอายุ 19 ปีโดยถูกบังคับข่มขู่ให้เป็นนักฆ่าของ KBG แลกกับความปลอดภัยของครอบครัว เขาซุ่มอยู่ในออฟฟิศของเรเบทและปลิดชีพเป้าหมายด้วยการพ่นไซยาไนด์ซึ่งทำให้เสียชีวิตแทบจะทันทีหลังจากสูดดม และใช้สารพิษเดียวกันนี้พ่นใส่บันเดราเช่นกัน

สตาชินสกียังคายความลับเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการวิจัย 2 ห้องที่เกี่ยวข้องกับ Thirteenth Department เขาบอกว่า ห้องหนึ่งใช้เป็นที่ผลิตอาวุธพิเศษและระเบิด อีกห้องหนึ่งทำหน้าที่พัฒนายาพิษและยาต่างๆ สำหรับ “ภารกิจพิเศษ”

ภาพ: สเตปัน บันเดรา หนึ่งในเหยื่อลอบสังหาร/Wikimedia