เผยทหารรัสเซียยอมยิงขาตัวเองเพราะอยากกลับบ้าน
สื่อตะวันตกเผยทหารรัสเซียยอมยิงขาตัวเองด้วยกระสุนยูเครน เพื่อให้ดูเหมือนบาดเจ็บจากการสู้รบ
ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังจะเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงง่ายๆ สื่อต่างประเทศกำลังประโคมข่าวว่าทหารรัสเซียกำลังหมดขวัญกำลังใจที่จะสู้ต่อ โดย New York Post รายงานว่ามีทหารรัสเซียตัดสินใจยิงขาตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบ โดยใช้กระสุนที่ยูเครนใช้เพื่อให้ดูเหมือนว่าพวกเขาถูกโจมตีจากการต่อสู้กับกองทัพยูเครน
รายงานระบุว่าทหารรัสเซียที่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่จะต้องเผชิญกับบทลงโทษที่รุนแรง ดังนั้นการใช้อาวุธและกระสุนของยูเครนจะทำให้พวกเขาสร้างบาดแผลที่เหมือนกับบาดแผลที่เกิดจากสนามรบ
The Mirror รายงานว่าทหารรัสเซียคนหนึ่งโทรหาแม่เพราะต้องการกลับบ้าน เขาต้องการหากระสุน 7.62 มม. ที่กองทัพยูเครนใช้ มากกว่ากระสุน 5.62 มม. ของปืนไรเฟิล AK-47 ของรัสเซียเองเสียอีก ขณะที่เชื่อว่ามีทหารรัสเซียถูกสังหารราว 7,000 นายแล้ว และมากกว่า 14,000 นายได้รับบาดเจ็บ
ในการให้สัมภาษณ์กับ NEXTA สื่อเบลารุส ทหารรัสเซียคนหนึ่งกล่าวว่า "พวกเขายิงใส่เรามา 14 วันแล้ว เรากลัว เราต้องขโมยอาหาร เข่นฆ่าพลเรือน มีศพอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีทหารรัสเซียยิงขาตัวเองเพราะต้องการกลับบ้าน"
Another intercepted conversation of the #SBU shows how demoralized and broken the invader army is: #Russian occupiers look for "#Ukrainian ammunition" to shoot themselves in the legs and go to the hospital. pic.twitter.com/jL2LJALjIm
— NEXTA (@nexta_tv) March 17, 2022
ทหารอีกคนหนึ่งกล่าวว่าเพื่อนของเขากำลังมองหากระสุนยูเครนเพื่อยิงขาตัวเองและไปโรงพยาบาล
เมื่อต้นเดือนมี.ค. ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนกล่าวถึงการทหารรัสเซียว่า "แม้ว่าจะมีมากกว่าเป็น 10 เท่า แต่ขวัญกำลังใจของศัตรูลดลงเรื่อยๆ ... พวกนี้ไม่ใช่นักรบของมหาอำนาจ เป็นเพียงเด็กสับสนที่ถูกหลอกใช้ พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมต้องมาที่นี่"
Interfax สำนักข่าวยูเครนเผยคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นกลุ่มทหารรัสเซียส่วนหนึ่งที่ถูกจับได้ในยูเครนหลั่งน้ำตาและกล่าวขอโทษสำหรับการสังหารพลเรือนในยูเครน รวมถึงเด็ก และยอมรับว่าการเปิดปฏิบัติการทางทหารของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม คลิปทหารเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ายูเครนกำลังละเมิดอนุสัญญาเจนีวาซึ่งว่าด้วยการคุ้มครองเชลยศึกหรือไม่
Photo by REUTERS/Alexander Ermochenko