รู้จัก Aphasia โรคร้ายที่ทำให้ Bruce Willis ต้องลาวงการ
Bruce Willis ประกาศยุติบทบาทนักแสดง หลังป่วยโรค Aphasia
ช็อกวงการฮอลลีวูดหลังจากที่บรูซ วิลลิส (Bruce Willis) พระเอกรุ่นใหญ่วัย 67 ปี ประกาศยุติบทบาทนักแสดงหลังป่วยด้วยโรคอะเฟเซีย (Aphasia) ภาวะบกพร่องทางการสื่อความ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีทักษะการสื่อสารผิดปกติ ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้
รู้จัก Aphasia
Aphasia หรือ ภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เมื่อสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำงานของภาษาได้รับความเสียหาย อาจเกิดจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือการผ่าตัดสมอง
The New York Times อ้างข้อมูลจากนายแพทย์ชาแซม ฮุสเซน (Shazam Hussain) ผู้อำนวยการศูนย์หลอดเลือดสมองที่คลินิกคลีฟแลนด์ ในโอไฮโอ ระบุว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะบกพร่องทางการสื่อความ นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อย่างเช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ การได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือศีรษะอย่างรุนแรง เนื้องอกในสมอง และการติดเชื้อในสมอง เป็นต้น
โดยผู้ป่วยจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไป บางรายอาจมีปัญหาในการพูด การเรียบเรียงประโยค การจดจำคำศัพท์ ไม่สามารถสนทนาโต้ตอบได้อย่างปกติ บางรายอาจมีปัญหาด้านการอ่านและเขียนร่วมด้วย
สัญญาณบ่งบอกโรค?
ส่วนใหญ่แล้วความพิการทางสมองมักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 65 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แต่บางคนจะค่อยๆ แสดงอาการที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของสมองทีละน้อย
นายแพทย์ฮุสเซนกล่าวว่า ประโยคของพวกเขาจะค่อยๆ สั้นลงๆ จนถึงจุดที่มีปัญหาในการสื่อสารในที่สุด นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจพบว่าความสามารถในการอ่านและเขียนลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
พร้อมเสริมว่าทุกคนอาจมีช่วงเวลาที่หลงลืมนึกคำศัพท์ไม่ออก แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าทักษะการสื่อสารแย่ลงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือคนรอบตัวชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารของเราผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากผู้ที่มีความผิดปกติทางสมองจะสูญเสียความเข้าใจในการพูดคุย การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
"ถ้ามันกระทบการสื่อสารของคุณจริงๆ ควรกังวลนะ แต่ถ้ามีช่วงเวลาที่นึกคำไม่ออกบ้างนิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไร" นายแพทย์ฮุสเซนกล่าว
วิธีการป้องกัน?
นายแพทย์ฮุสเซนชี้ว่าไม่มีวิธีใดที่จะรับประกันได้อย่าง 100% ว่าเราจะไม่เกิดความผิดปกติทางสมอง แต่มีวิธีง่ายๆ ที่จะดูแลสุขภาพของสมองเพื่อลดความเสี่ยง นั่นก็คือ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบทุกชนิด ออกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และระวังปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และเบาหวาน นอกจากนี้การสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและความพิการทางสมองด้วย
การรักษา?
แม้ว่าจะไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่มีวิธีการบำบัดเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการพูดและการใช้ภาษาได้ โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินทักษะด้านการสื่อสาร และมีวิธีการบำบัดที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น เสริมทักษะด้านการอ่าน พูด และเขียน ผ่านแบบฝึกหัดเติมคำในช่องว่าง ฝึกให้ผู้ป่วยจดจำคำพ้องความหมายและคำตรงข้าม เสริมสร้างทักษะด้านการรับรู้และการสนทนาที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน หรืออาจมีการสวมบทบาทสมมติจำลองสถานการณ์ต่างๆ
อาการของผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะใช้เวลาในการบำบัดมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งเว็บไซต์ pobpad ระบุว่าการบำบัดจะได้ผลดีที่สุดเมื่อเริ่มบำบัดทันทีหลังจากที่ร่างกายและสมองฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย
Photo by Tolga AKMEN / AFP