posttoday

พบดาวดวงใหม่อยู่ไกลสุดเท่าที่มนุษย์เคยเห็น

31 มีนาคม 2565

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลพบดาวดวงใหม่ที่อยู่ไกลมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเห็น

ทีมนักวิทยาศาสตร์ซึ่งนำโดย ไบรอัน เวลช์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์พบดาวที่อยู่ห่างจากโลก 12,900 ล้านปีแสง ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเห็น โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

“เราเห็นดาวดวงนี้เหมือนกับที่มันเป็นตอน 12,900 ล้านปีที่แล้ว หรือราว 900 ล้านปีหลังจากการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang) จนก่อเกิดเป็นจักรวาล” เวลช์เผย

“นี่อาจเป็นดาวดวงแรกๆ ที่เราได้เห็นนับตั้งแต่ Big Bang” กิโยม มาห์เลอร์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอแรมซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย

ดวงดาวที่มีชื่อเล่นว่า เอเรนเดล (Earendel) ซึ่งแปลว่า ดาวประกายพรึก หรือแสงที่ปรากฏขึ้นในภาษาอังกฤษโบราณ อยู่ไกลกว่าดาวอิคารัส (Icarus) เจ้าของสถิติเก่าก่อนหน้านี้ซึ่งพบโดยกล้องฮับเบิลเช่นกัน โดยดาวอิคารัสอยู่ห่างจากโลก 9,400 ล้านปีแสง หรือเกิดขึ้นกว่า 4,000 ล้านปีหลังจากจักรวาลก่อตัว

ดาวเอเรนเดล ถูกพบด้วยความบังเอิญจากตำแหน่งของกระจุกกาแล็กซี WHL0137-08 ซึ่งอยู่ระหว่างดาวเอเรนเดลและโลก โดยอาศัยปรากฏการณ์เลนส์โน้มถ่วงที่ช่วยขยายแสงดาวจุดเล็กๆ แรงโน้มถ่วงจากกระจุกกาแล็กซีดังกล่าวที่อยู่ด้านหน้าโลกทำหน้าที่เป็นเลนส์ขยายวัตถุเล็กๆ ที่อยู่ด้านหลังซึ่งก็คือดาวเอเรนเดล ซึ่งหากไม่มีปรากฏการณ์นี้เราแทบสังเกตดาวอิคารัสและดาวเอเรนเดลไม่ออก เนื่องจากอยู่ไกลมาก

นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเอเรนเดลมีน้ำหนักมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 50 เท่า และมีความสว่างกว่าดาวอิคารัสราว 1 ล้านเท่า

เวลช์บอกอีกว่า ดาวเอเรนเดลคงอยู่ราว 2-3 ล้านปีก่อนจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาที่ไม่มีใครเห็นเช่นเดียวกับซูเปอร์โนวาส่วนใหญ่ โดยจนถึงปัจจุบัน ซูเปอร์โนวาที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยพบอยู่ห่างออกไปถึง 12,000 ล้านปีแสง

ทีมของเวลช์พบดาวเอเรนเดลครั้งแรกเมื่อปี 2016 จากการสำรวจ RELICS ของฮับเบิล

การค้นพบครั้งล่าสุดนี้เผยให้เห็นถึงดาวที่อยู่โดดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงพันๆ ปีแรกตลอดอายุขัย 13,800 ล้านปีของจักรวาล โดยกาแล็กซีจากช่วงเวลานี้เคยถูกค้นพบมาก่อนแล้ว แต่การแยกแยะดาวฤกษ์แต่ละดวงที่อยู่ไกลและลึกมากในอดีตค่อนข้างยาก

ผลการค้นพบครั้งนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ใรวารสาร Nature

Photo by NASA/ESA / AFP