posttoday

ข้อสรุป COP 27 ยังไกลฝั่งฝัน ประเทศร่ำรวยยังเกี่ยงกันจ่ายค่าชดเชย

17 พฤศจิกายน 2565

ข้อสรุปในการแก้ปัญหาวิกฤตด้านสภาพอากาศ ในการประชุม COP 27 ยังถือว่าห่างไกลฝั่งฝันนัก ในขณะที่ประเทศเจ้าภาพอย่างอียิปต์เรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมเริ่มแก้ปัญหาก่อนการประชุมจะเสร็จสิ้นปลายสัปดาห์นี้

          ไม่ต่างอะไรจากวิกฤตอื่นๆที่เกิดขึ้นบนโลก ตั้งแต่สงครามรัสเซีย- ยูเครนไปจนถึงวิกฤตเงินเฟ้อ ผลการประชุม COP 27 ที่จัดขึ้น ณ เมืองชาร์ม เอล-ชีคจะถือเป็นบททดสอบของประเทศต่างๆในการรับมือกับวิกฤตภาวะโลกร้อนที่นานาชาติต่างให้ความสนใจ

          ด้านผู้นำจากกลุ่มประเทศ G20 ต่างออกแถลงการณ์แสดงเจตจำนงค์ในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เลิกใช้พลังงานถ่านหิน รวมถึงเร่งตัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

          ด้านประธานาธิบดีแห่งบราซิล ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ผู้เคยให้คำมั่นว่าจะคืนชีวิตให้กับพื้นที่ป่าในประเทศ ด้วยการผลักดันวาระนี้สู่ระดับนานาชาติเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ยกระดับการกล่าวสุนทรพจน์ภายในการประชุม COP 27 ในครั้งนี้เช่นกัน

          ตามคำกล่าวอ้างของ ผู้แทนพิเศษประจำการประชุม COP27 เอล อาบูลแมกด์ (Wael Aboulmagd) ภายในห้องประชุมยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน เขาคิดว่าเรายังมีปัญหาค้างคาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ก็หวังว่าจะเห็นความร่วมมือด้วยความเต็มใจที่มากกว่านี้

          ความขัดแย้งในการเจรจายังคงวนอยู่กับประเด็นที่ว่าด้วย ประเทศร่ำรวยควรจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่  รวมถึงการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยังเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนในการแก้วิกฤตนี้ไหม?

          ขณะที่ John Kerry  ทูตพิเศษสหรัฐฯ ชี้ว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่ต่อต้านการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดที่เจาะจงว่าเป็นประเทศใด

          นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ตอนนี้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว