posttoday

Geopolitics กติกาใหม่บนโลกใบเดิม ความร่วมมือและความขัดแย้ง

25 ธันวาคม 2565

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” หรือ Geopolitics เป็นที่พูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในการประชุมของบรรดาผู้นำชาติต่างๆ หลายคนยังไม่แน่ใจว่า ภูมิรัฐศาสตร์มีความหมายแท้จริงคืออะไร และมีขอบเขตแค่ไหน หรือจะกระทบกับชีวิตเราอย่างไร

"The world economy is getting more fragile. The geopolitical environment remains tense. Global governance is seriously inadequate. Food and energy crises are compounded with one another. All this poses formidable challenges to our development,"

 

"เศรษฐกิจโลกกำลังเปราะบางมากขึ้น ภูมิรัฐศาสตร์ยังคงตึงเครียด ธรรมาภิบาลทั่วโลกยังมีปัญหาอย่างรุนแรง วิกฤตอาหารและพลังงานยังเกิดขึ้นซ้ำอีก ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่น่ากลัวต่อการพัฒนาของเรา"

นี่คือคำพูดล่าสุดจากผู้นำระดับโลก ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ที่ประเมินสภาพแวดล้อมโลกในการประชุมสุดยอด G20 ปี 2565 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความสำคัญของคำว่า ภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics ที่เป็นที่พูดถึงมากขึ้นในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เพียงแต่ประธานาธิบดีของจีนเท่านั้น แต่บรรดาผู้นำชาติต่างๆ หน่วยงาน และองค์กรรวมทั้งสื่อมวลชน ต่างพูดถึงคำนี้กันมากขึ้น จนดูจะเป็นเทรนด์ใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้หลายคนจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำนี้อย่างชัดเจน

 

 คำว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” ราชบัณฑิตยสถานนิยมความหมายไว้ว่า “(น.) วิชาในหมวดสังคมศาสตร์สาขาหนึ่งมีลักษณะคล้ายวิชาภูมิศาสตร์การเมือง แต่เน้นหนักไปทางการเมือง” 
ขณะที่ วิกิพีเดีย อธิบายคำนี้ไว้ว่า “ภูมิรัฐศาสตร์ (อังกฤษ: geopolitics) คือ การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางภูมิศาสตร์ (มนุษย์และกายภาพ) ที่มีต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ......เป็นวิธีการในการศึกษานโยบายต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจ อธิบาย และคาดการณ์พฤติกรรมการเมืองระหว่างประเทศจากตัวแปรทางภูมิศาสตร์ ซึ่งรวมถึงภูมิภาคศึกษา ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ประชากรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ของการประเมินในระดับภูมิภาค......มุ่งเน้นถึงอำนาจการเมืองในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะอาณาเขตทางน้ำและทางบกภายใต้ความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การทูต”
คำว่าภูมิรัฐศาสตร์จึงมีความหมายกว้าง แม้จะเน้นปัจจัยด้านการเมืองและภูมิศาสตร์ แต่ก็ครอบคลุมปัจจัยอื่นๆในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหมด 
 

Geopolitics กติกาใหม่บนโลกใบเดิม ความร่วมมือและความขัดแย้ง

ที่ผ่านมา แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องราวของความร่วมมือและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆ  แม้ในยุคดั้งเดิมจะมี  ผู้นำหรือรัฐบาลของแต่ละประเทศ เป็นตัวแสดงหลัก แต่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆที่ขยายตัวซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ตัวแสดงใหม่ๆในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติ รวมไปถึงปัจเจกบุคคล เป็นดารา ศิลปิน หรือผู้ทรงอิทธิพลในวงการต่างๆ และยังอาจรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ในอนาคต ทำให้ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน 


จากยุคของการแสวงหาอำนาจด้วยการครอบครองดินแดนและควบคุมแรงงานในยุคบุรพกาล มาเป็นการแย่งชิงทรัพยากรและความมั่งคั่งในยุคอาณานิคม ก่อนจะกลายเป็นการแข่งขันด้านอุดมการณ์และความมั่นคงในยุคสงครามเย็น พัฒนาสู่การแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนในยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย หลายคนเคยมีความเชื่อว่า ความขัดแย้งหรือสงครามขนาดใหญ่จะเป็นไปได้ยากขึ้น ขณะที่ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโลกยุคหลังสงครามเย็น มีเพียงสหรัฐอเมริกา เป็นเพียงมหาอำนาจเดียว ที่มีความเข้มแข็งในทุกด้าน ทั้งด้านการทหาร ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมทั้งที่ตั้งของประเทศ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และไม่มีพรมแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตร ทำให้บทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจเดี่ยว (Hegemony) ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่สหประชาชาติ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ส่งกองทัพเข้าปลดปล่อยคูเวต จากการยึดครองของอิรัก ที่เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเชื่อว่า ยุคของรัฐบาลโลก ที่มีความร่วมมือเหนือความเป็นรัฐชาติเพื่อสร้างสันติสุข กำลังคืบคลานเข้ามา ประกอบกับความสำเร็จของการจัดตั้งองค์กรการค้าโลก หรือ WTO ที่เป็นกติกาสากลเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้า และความสำเร็จในความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่นการบรรลุข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่ต่อท้ายอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กำหนดพันธกรณีผูกพันต่อประเทศอุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ป้องกันการรบกวนอันตรายจากน้ำมือมนุษย์กับระบบภูมิอากาศเมื่อปี 2540 ยิ่งตอกย้ำว่า ยุคแห่งความร่วมมือของประเทศต่างๆกำลังเดินทางสู่ความสดใส


แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่อำนาจและผลประโยชน์ ยังเป็นแกนหลักในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในโลกที่เป็นอนาธิปไตย ไม่มีใครที่มีอำนาจเหนือกว่าอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้สหรัฐอเมริกาจะมีความได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆในแทบทุกด้าน แต่อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงสุดของโลกซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากอดีตสหภาพโซเวียต ก็ตกไปอยู่ในความครอบครองของรัสเซีย ก็ทำให้รัสเซียยังคงมีอิทธิพลในเวทีโลกอย่างมาก แม้จะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่บ้างก็ตาม ในขณะที่จีน ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาเพียงไม่กี่สิบปี ก็เริ่มผงาดขึ้นมามีบทบาทในเวทีการเมืองระดับประเทศในด้านต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะเป็นฐานการผลิต และเป็นตลาดสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก จีนได้ขยายอิทธิพลไปยังหลายๆประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชีย ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังพัฒนาและเพิ่มความเข้มแข็งของกองทัพด้วยอาวุธสมัยใหม่จำนวนมาก ไม่นับอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่มากเช่นกัน ก็เริ่มกระทบต่ออิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคต่างๆ จนถึงขนาดต้องจับตาจีน เป็นภัยคุกคามใหม่ ที่จะส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์และผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐ และระดมประเทศต่างๆให้สกัดอิทธิพลของจีนผ่านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค และปัญหาทะเลจีนใต้ที่คุกรุ่นขึ้นทุกวัน 


ความคาดหวังเรื่องโลกที่สงบสุขจากความร่วมมือของประเทศต่างๆผ่านการเจรจา รวมทั้งการพัฒนาองค์กรระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง พังทลายไป หลังเหตุการณ์ 9/11 และการประกาศสงครามกับการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาในยุคอดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช เจ้าของวาทะ  "Every nation, in every region, now has a decision to make. Either you are with us, or you are with the terrorists,"  “ตอนนี้ทุกประเทศ ทุกภูมิภาค ต้องตัดสินใจว่าจะอยู่กับเราหรืออยู่กับผู้ก่อการร้าย” รวมทั้งปฏิบัติการณ์ที่ผลักให้หลายประเทศ เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจสหรัฐในฐานะผู้นำโลก การรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับอำนาจของสหรัฐจึงเริ่มชัดเจนมากขึ้น เหตุการณ์อาหรับสปริง ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นความวุ่นวายในหลายประเทศที่มีสหรัฐอยู่เบื้องหลังในการส่งออกลัทธิประชาธิปไตยนิยม ทำให้หลายชาติเริ่มหันไปพึ่งอิทธิพลของรัสเซียและจีน สงครามที่ยาวนานในซีเรีย เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งของมหาอำนาจผ่านสงครามตัวแทนในประเทศที่สาม แต่เหตุการณ์ที่สะท้อนชัดเจนที่สุดถึงความเป็นอนาธิไตยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ คือการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกยูเครนเมื่อต้นปี 2022 ทั้งที่แทบไม่ต่างกับกรณี อิรักบุกยึดคูเวตเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่สิ่งที่สหรัฐและพันธมิตรนาโต ทำได้ก็เพียงแค่ส่งอาวุธ และเงินสนับสนุนให้กับยูเครนเท่านั้น โดยไม่กล้าส่งกำลังเข้าไปเผชิญหน้ากับรัสเซียโดยตรง เพียงเพราะเหตุผลเดียว “อาวุธนิวเคลียร์”


โลกยุคใหม่ที่ซับซ้อน แม้จะยังมีประเด็นในความสัมพันธ์ที่ต้องจัดการร่วมกันอยู่อีกมาก ทั้งเรื่องของภาวะโลกรวน ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ หรือการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่แก่นแกนของความสัมพันธ์ทั้งหมด ยังคงเป็นเรื่องของการแข่งขันด้านอำนาจและผลประโยชน์ 


“ใครกำปั้นใหญ่กว่า คนนั้นก็เสียงดังกว่า”