เจมส์ เวบบ์ พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก!
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (The James Webb Space Telescope) ไขความลับจักรวาลไปอีกขั้นกับการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะหรือ exoplanet เป็นครั้งแรก
‘LHS 475 b’ วัตถุบนห้วงอวกาศที่ถูกค้นพบใหม่นอกระบบสุริยะนี้ เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดพอๆกับโลก และอยู่ในกลุ่มดาวออกแทนต์ที่ห่างออกไป 41 ปีแสง โดยก่อนหน้านี้ ข้อมูลที่รวบรวมโดยดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของ NASA หรือ TESS ได้คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจมีอยู่จริง
ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดยนักดาราศาสตร์ Kevin Stevenson และ Jacob Lustig-Yaeger จาก Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory (APL) ในเมืองลอเรล รัฐแมริแลนด์ ได้เฝ้าจับตาการเคลื่อนผ่านของดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ การค้นพบครั้งนี้ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 11 ม.ค. 2023 ที่การประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน (American Astronomical Society) ครั้งที่ 241 ในซีแอตเติล
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดเดียวที่มีความสามารถในการระบุลักษณะชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ทีมวิจัยใช้กล้องเพื่อวิเคราะห์ความยาวของคลื่นแสงต่างๆ เพื่อดูว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีส่วนประกอบของอากาศอยู่หรือไม่ แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก็ตาม แต่ทางทีมจะติดตามสำรวจดาวดวงนี้อีกครั้งในช่วงฤดูร้อนและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของชั้นบรรยากาศ
ไม่เพียงเท่านั้น การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในครั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ยังชี้ให้เห็นว่า ดาวเคราะห์ ‘LHS 475 b’ มีอุณหภูมิที่สูงกว่าโลกของเรา 200-300 องศา ซึ่งถ้าหากการวิจัยต่อไปพบว่าดาวดวงนี้ยังประกอบด้วยเมฆหนาทึบที่ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ‘LHS 475 b’ ก็จะไม่ต่างอะไรจากดาวศุกร์ ดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลก
“การค้นพบในครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ในการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์อีกมากมายในอนาคต กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์กำลังพาเราเข้าใกล้องค์ความรู้ใหม่ในจักรวาลมากขึ้นเรื่อยๆ และภารกิจนี้เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น” Mark Clampin ผู้อำนวยการฝ่ายฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของสำนักงานใหญ่ NASA กล่าว