posttoday

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

12 มีนาคม 2566

ทำไม “พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” จึงถูกขนานนามว่าคือ หัวใจแห่งประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรของราชวงศ์อังกฤษ มีความสำคัญอย่างไร มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษมาอย่างยาวนานนับร้อยนับพันปี

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

 

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษ (ขั้นตอนที่ 4 ของ 6 ขั้นตอนสำคัญ) จะมีพิธีในส่วนที่เรียกว่า การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือการสวมมงกุฎ (The Investiture and the crowning) โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์แก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ ขณะที่ยังประทับบนพระราชอาสน์ เริ่มจากการถวายพระลูกโลกประดับกางเขน (The Sovereign’s Orb) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจทางศีลธรรมและศาสนา ตามมาด้วยการถวายพระคทาพร้อมไม้กางเขน (The Sovereign’s Sceptre with Cross) เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมและความเมตตากรุณา จากนั้นจึงจะสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดลงบนพระเศียร

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. 2023 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน

 

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

 

บีบีซีรายงานว่า ครั้งนี้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามและสมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงเข้าพิธีสวมพระมหามงกุฎพร้อมกัน โดยรายละเอียดต่าง ๆ ของพระราชพิธีสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ยังคงเป็นความลับสุดยอด ภายใต้แผนการที่มีชื่อเป็นรหัสว่า "ปฏิบัติการลูกโลกทองคำ" (Operation Golden Orb)

 

พระมหามงกุฎประจำพระราชพิธี คือพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St Edward's Crown) ที่จะถูกนำมาสวมลงบนพระเศียรของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามในครั้งนี้ เป็นสิ่งแสดงถึงสัญลักษณ์สูงสุดของสถาบันกษัตริย์ และพระมหากษัตริย์จะสวมใส่ในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น 

 

กางเขนบนมงกุฎแสดงถึงความเชื่อของชาวคริสต์ ขณะที่เฟลอร์-เดอ-ลิส หรือ สัญลักษณ์ที่แปลงมาจากดอกลิลลีจำนวนสี่ดอก ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์ของอิทธิพลของฝรั่งเศสที่มีต่อประวัติศาสตร์อังกฤษ

 

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ
 

 

มงกุฎที่เป็นภาพจำอันน่าประทับใจนี้ถูกสรรค์สร้างขึ้นและใช้เป็นครั้งแรกสำหรับพิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ในปี 1661 เพื่อทดแทนมงกุฎเดิมในยุคกลางที่ถูกทำลายไปในสมัยของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษในปี 1649

 

มหามงกฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดถูกเรียกชื่อตาม “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ” (Edward the Confessor) เพราะเชื่อกันว่าเป็นมงกุฎที่สร้างเลียนแบบมงกุฎของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์เวสเซกซ์แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ  (ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1042 – 5 มกราคม ค.ศ. 1066) 

 

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเคร่งศาสนามาก ที่ถูกเรียกว่า 'Edward the Confessor' หรือ เอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ เพราะเขามักจะสารภาพบาป ในปี 1042 เขาสั่งให้สร้างมหาวิหาร Westminster Abbey ซึ่งเป็นโบสถ์ของราชวงศ์อังกฤษที่ใช้เวลาสร้างนานเกือบ 50 ปี หลังจากสวรรคตเพียงไม่ถึงร้อยปีพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1161 ทรงเป็นนักบุญของคริสตจักรโรมันคาทอลิก คริสตจักรแห่งอังกฤษ และนิกายแองกลิคัน

 

หลังจากปีค.ศ. 1689 มงกุฎองค์นี้ไม่ได้ถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเลยกว่า 200 ปี แต่แล้วในปีค.ศ. 1911 พระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้รื้อฟื้นการใช้มงกุฎองค์นี้ในพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และถือปฏิบัติต่อเนื่องเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นในสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8) 

 

มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดยังถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ ประกอบตราอาร์ม และตราสัญลักษณ์ต่างๆ สำหรับราชอาณาจักรเครือจักรภพ (Commonwealth Realms) เพื่อแสดงถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 โดยมีพระบรมราชโองการให้ใช้ตรามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดแทนตรามงกุฎทิวดอร์ (ซึ่งใช้ตั้งแต่ค.ศ. 1902) นับตั้งแต่ปีที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา และการใช้ตราสัญลักษณ์มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น

 

ส่วนตราสัญลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ปรากฏสัญลักษณ์มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดอยู่ด้านบนอักษรย่อพระบรมนามาภิไธย 

 

 

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

 

มหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดปัจจุบันมีอายุ 362 ปีถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอนร่วมกับมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทและเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้นมงกุฎที่ทำจากทองคำแท้ๆ น้ำหนักถึง 2.23 กิโลกรัม (เกือบ 5 ปอนด์) องค์นี้ยังที่เป็นที่รู้จักในฐานะ “หัวใจ หรือ เซ็นเตอร์พีซแห่งประวัติศาสตร์ของมงกุฎเพชรล้ำค่าทั้งหลาย” (“the historic centrepiece of the Crown Jewels”) ประดับด้วยอัญมณีจำนวน 444 ชิ้น ประกอบด้วย ทับทิม แซฟไฟร์ โกเมน โทแพซ และทัวร์มาลีน

 

ที่มงกุฎเซนต์เอ็ดมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดามงกุฏทั้งหมด ก็เพราะจะนำมาใช้เฉพาะในพระราชพิธีสวมมงกุฎของกษัตริย์เท่านั้น โดยครั้งล่าสุด มหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดถูกใช้ในพระพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 

 

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

 

บีบีซีระบุว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงเคยสวมพระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเพียงครั้งเดียวเป็นเวลาสั้น ๆ กว่าหนึ่งนาทีเท่านั้น ระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์


 

มงกุฎเพชร หรือ CROWN JEWELS คืออะไร?

 

มงกุฎเพชรเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดของประเทศ รวมถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ประกอบด้วยวัตถุมากกว่า 100 ชิ้นและอัญมณีมากกว่า 23,000 ชิ้น เป็นสิ่งประเมินค่ามิได้ มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และคือสัญลักษณ์แห่งอำนาจอันยาวนาน

 

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

 

 

มงกุฎเพชรเป็นส่วนหนึ่งของ Royal Collection และคอลเลกชั่นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญ 

 

ส่วนอีกหนึ่งในมหามงกุฎในคอลเลกชั่นที่สำคัญคือ มงกุฎอิมพีเรียลสเตท ซึ่งพระมหากษัตริย์จะใช้ในโอกาสพิเศษต่างๆ ของรัฐ เช่น การเปิดรัฐสภา ระหว่างขบวนแห่ไปยังสภาขุนนาง มงกุฎจะถือต่อหน้าพระมหากษัตริย์และวางบนเบาะรองนั่งข้างบัลลังก์ในระหว่างการปราศรัย

 

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

 

 

มหามงกุฎอิมพีเรียลสเตทถือเป็นหนึ่งในวัตถุที่มีค่าที่สุดในคอลเลกชั่นของราชวงศ์อังกฤษ ด้วยมีมูลค่าประมาณหลายร้อยล้านปอนด์ 

 

และหนึ่งในอัญมณีประดับมงกุฎที่สำคัญและถูกกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ เพชรคัลลิแนนที่สอง (Cullinan II) จากแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับฉายาว่า "ดวงดาวแห่งแอฟริกา" โดยชิ้นส่วนหนึ่งจากโคตรเพชรนี้ประดับอยู่บนพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตต (Imperial State Crown) ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงสวมในตอนท้ายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และขณะเสด็จออกสีหบัญชรที่พระราชวังบักกิงแฮม

 

“พระมหามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด” หัวใจประวัติศาสตร์มงกุฎเพชรราชวงศ์อังกฤษ

 

 

ในขณะเดียวกัน มีการยืนยันแล้วว่า ราชินีคามิลล่าจะสวมมงกุฏของควีนแมรี (Queen Mary's Crown) ที่ประดับด้วยเพชร 2,200 เม็ด มงกุฎควีนแมรี่ถูกสวมครั้งแรกโดยคุณย่าทวดของคิงชาร์ลส์ เมื่อครั้งที่เธอได้รับการสวมมงกุฎเป็นมเหสีของกษัตริย์จอร์จที่ 5 ในปี 1911

 

จากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า สมเด็จพระราชินีคามิลลาจะทรงสวมพระมหามงกุฎเดียวกันกับที่ "ควีนมัม" หรือสมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลก่อนทรงเคยสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่หก เป็นที่รู้กันว่า พระมหามงกุฎดังกล่าวมีส่วนหนึ่งของโคตรเพชร "โคอินูร์" (Koh-i-Noor) ซึ่งอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน ต่างก็อ้างว่าเป็นเจ้าของหนึ่งในโคตรเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกชิ้นนี้ด้วย 

 

"โคอินูร์" ตั้งอยู่ในมงกุฎของ Queen Elizabeth the Queen Mother ในปี 1937

 

 

 

 

อ้างอิง: 

https://people.com/royals/king-charles-coronation-everything-to-know-queen-camilla/

https://www.hellomagazine.com/royalty/20230309166040/imperial-state-crown-all-need-to-know/

https://www.hrp.org.uk/tower-of-london/history-and-stories/the-crown-jewels/

https://www.bbc.com/thai/international-63632177