บริษัทน้ำมันปาล์มของมาเลเซียชี้ไม่ได้จ้างแรงงานชาวบังกลาเทศ
ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของมาเลเซียบางรายไม่จ้างแรงงานจากบังกลาเทศ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ในระหว่างการจัดหางาน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายบริษัทในประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกได้เพิ่มความพยายามในการดำเนินกระบวนการจัดหางานอย่างมีจริยธรรม และปรับปรุงมาตรฐานแรงงาน หลังจากที่สหรัฐฯ สั่งห้ามการนำเข้าจาก 2 บริษัทเนื่องจากข้อกล่าวหาว่าบังคับใช้แรงงาน
แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล คิดเป็นประมาณ 80% ของแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่พึ่งพาแรงงานของมาเลเซีย
รัฐบาลมาเลเซียระงับการจ้างงานทั้งหมดจากบังกลาเทศในปี 2561 หลังจากมีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในกระบวนการนี้ แม้ว่าข้อตกลงด้านแรงงานฉบับใหม่ระหว่างทั้งสองประเทศจะมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว แต่บริษัทเพาะปลูก 3 แห่งกล่าวว่า บริษัทของพวกเขาไม่ได้กลับมาจ้างแรงงานชาวบังกลาเทศอีก
“สาเหตุหลักเกิดจากการที่คนงานบังกลาเทศหนีงานในอัตราสูง เนื่องจากพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังจะไปทำงานในภาคเกษตรกรรม” IOI Plantation (IOIB.KL) ซึ่งไม่ได้ใช้แรงงานจากบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2561 ออกมาระบุ
ผู้บริหารระดับสูงของอีกบริษัทหนึ่งอ้างถึงการขาดความโปร่งใสในกระบวนการสรรหาและค่าธรรมเนียมการจัดหางานที่สูงในหมู่คนงานจากบังกลาเทศ
Sime Darby Plantation (SIPL.KL) ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวว่า บริษัทได้หยุดจ้างงานจากบังกลาเทศในปี 2559 ในปีนั้น บริษัทยังได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมายเพื่อบังคับใช้ "นโยบายค่าจัดหางานเป็นศูนย์"
องค์การแรงงานระหว่างประเทศจัดลำดับการหลอกลวงและแรงงานขัดหนี้ที่เกิดจากค่าธรรมเนียมการจัดหางานจำนวนมากเป็นตัวชี้วัดของ "แรงงานบังคับ"
มาเลเซียได้เริ่มการสอบสวนหลังคนงานหลายร้อยคนจากเอเชียใต้เพิ่งมาถึงมาเลเซียโดยไม่มีงานทำ แม้ว่าจะได้มีสัญญาจ้างงานและต้องจ่ายเงินค่าจัดหางานไปแล้วหลายพันดอลลาร์
กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซียและสถานทูตบังกลาเทศในกรุงกัวลาลัมเปอร์ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในทันที เมื่อเดือนที่แล้ว สถานทูตเรียกร้องให้มาเลเซียมีความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้พลเมืองถูกเอาเปรียบในการจ้างงาน
Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังอุตสาหกรรมในมาเลเซีย กล่าวว่า กฎหมายที่เสนอในสหภาพยุโรปเพื่อห้ามนำเข้าและขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานบังคับได้กระตุ้นเตือนให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มหันมาใช้สิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานมากขึ้น .
Joseph D'Cruz ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ RSPO กล่าวว่า "อุตสาหกรรมโดยทั่วไปกำลังถูกเรียกร้องสู่ระดับของความยั่งยืน ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ที่มากขึ้น โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ตั้งแต่หน่วยงานกำกับดูแลไปจนถึงสถาบันการเงิน นักลงทุน และผู้บริโภค กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้"