posttoday

ชิ้นส่วนจรวดเกาหลีเหนือใช้กับขีปนาวุธข้ามทวีปได้

02 มิถุนายน 2566

ความพยายามของเกาหลีเหนือในการปล่อยจรวดส่งดาวเทียมรุ่นใหม่ ‘Chollima-1’ ต้องคว้าน้ำเหลวจากระบบเครื่องยนต์ขาดเสถียรภาพ ก่อนจะตกสู่ทะเลในเวลาต่อมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เครื่องยนต์ของ Chollima-1 เหมือนเครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับขีปนาวุธข้ามทวีปมากกว่า

Ankit Panda ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระหว่างประเทศระบุว่า จรวดส่งดาวเทียมรุ่นใหม่ของเกาหลีเหนือมีการออกแบบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับจรวดส่งดาวเทียม Unha ที่เป็นรุ่นก่อนหน้า โดยเครื่องยนต์ของ Chollima-1 ดูเหมือนเครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) มากกว่า 

การปล่อยจรวดครั้งนี้มีความต่างจากการปล่อยดาวเทียมครั้งล่าสุดในปี 2016 ของเกาหลีเหนือ ทางประเทศเองมีระบบ ICBM ที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องปลอมแปลงว่าเป็นการทดสอบอาวุธ

Chollima-1 ดูเหมือนจะเป็นจรวดประเภท Medium-Lift Launch Vehicle หรือจรวดขนาดกลางที่มีไว้สำหรับส่งดาวเทียมขนาดเล็กไปยังวงโคจรระดับต่ำของโลก เมื่อเทียบกับจรวดส่งดาวเทียมรุ่นก่อน Chollima-1 ถือว่ามีแฟริ่งบรรทุกสัมภาระที่ค่อนข้างใหญ่ โดยคาดว่าสามารถรับมวลสัมภาระได้ราว 200 ถึง 300 กิโลกรัม"

เป้าหมายของเกาหลีเหนือคือสามารถส่งดาวเทียมหลายดวงด้วยจรวดเพียงตัวเดียว ซึ่งบ่งชี้ว่าในอนาคตพวกเขาอาจเปิดตัวยานส่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ Joseph Dempsey นักวิจัยด้านกลาโหมของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ ยังระบุว่าจรวด Chollima-1 อาจขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวแบบหัวฉีดเครื่องยนต์ 2 ตัว เช่นเดียวกับขีปนาวุธข้ามทวีป Hwasong-15

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าเครื่องยนต์นั้นมาจากตระกูล RD-250 ของโซเวียต ขณะที่เครื่องยนต์ของจรวดส่งดาวเทียม Unha ใช้กลุ่มเครื่องยนต์ที่ได้มาจากขีปนาวุธสกั๊ด

ทางฝั่งองค์กร 38 North  ซึ่งมีฐานหลักอยู่ในสหรัฐฯและมีหน้าที่มอนิเตอร์เกาหลีเหนือโดยตรงให้ข้อมูลว่า "แม้ว่าควันไอเสียของ Chollima-1 จะมีความโปร่งแสง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการใช้เชื้อเพลิงเหลว แต่ถึงอย่างนั้น ยังมีคราบสีเทาเกาะอยู่รอบแท่นยิงจรวดและทั่วพื้นที่บริเวณใกล้เคียง โดยสาเหตุของสารตกค้างนี้ยังไร้ซึ่งความชัดเจน”

สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ระบุว่า การใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธในการปล่อยจรวดอวกาศถือเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ได้แบนโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ ทางการเกาหลีใต้กำลังพยายามกู้ซากชิ้นส่วนของ Chollima-1 ซึ่งถ้าหากสามารถกู้ชิ้นส่วนสำคัญได้ ก็จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ให้โลกได้ทราบว่าทางการเกาหลีเหนือผลิตจรวดและขีปนาวุธอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัสดุที่ถูกนำมาใช้