UAE เร่ง "ปลูกป่าชายเลน" สู้ภาวะโลกร้อน
พื้นที่ป่าชายเลนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังถูกฟื้นฟูเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน การขยายตัวของเมือง และภูมิประเทศแบบทะเลทราย
ป่าชายเลนเขตร้อนถือเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน ต้นโกงกางจะเจริญเติบโตได้ดีในดินโคลนที่มีความเค็มและอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน ทั้งยังมีประโยชน์ในการปกป้องชุมชนชายฝั่งจากพายุและอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม รวมถึงสามารถกู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ได้โดยการช่วยดักจับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ
Hamad al-Jailani นักวิทยาศาสตร์ที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมของหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ป่าชายเลนในอาบูดาบีมีความพิเศษคือ “ต้นแสมทะเล” เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานต่ออากาศร้อนและทนต่อสภาพดินที่มีความเค็มสูง ป่าชายเลนมีความสำคัญเป็นอย่างมากในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอุณหภูมิทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นและไร้ซึ่งความเสถียร”
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าชายเลนในอาบูดาบีมีไม่ถึง 40% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเพาะปลูกมากกว่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ COP28 ในเดือนธันวาคม ได้เริ่มปลูกป่าชายเลนตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 70 และวางแผนที่จะปลูกเพิ่มอีก 100 ล้านต้นให้ได้ภายในปี 2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ 60 ล้านต้น บนพื้นที่ 183 ตารางกิโลเมตร และสามารถช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 43,000 ตันต่อปี
ตามรายงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ในปี 2020 ป่าชายเลนทั่วโลกลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับปี 1996 ก่อนจะอยู่ในระดับทรงตัวในเวลาต่อมา
ขณะที่ ในเขต Khor Kalba ทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีป้ายบอกนักท่องเที่ยวว่าป่าชายเลนที่พวกเขาเห็นอยู่มีอายุมากกว่า 300 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย Brendan Whittington-Jones นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์แห่ง Khor Kalba ยังให้ความเห็นว่า ที่ป่าชายเลนแห่งนี้ยังมีความความหลากหลายด้านสายพันธุ์ในระดับค่อนข้างน่าทึ่ง
ทั้งนี้ ป่าชายเลนที่อยู่มานานจะมีความสามารถในการช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า แต่ทางด้านสหประชาชาติให้ความเห็นว่าอัตราความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูป่าชายเลนนั้นยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม Whittington-Jones ระบุว่า เราควรให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของป่าชายเลนมากกว่าจำนวนต้นที่ปลูก เห็นได้ชัดว่ายังมีหลายพื้นที่ที่อุณหภูมิสูง ดินเค็ม หรือมีพื้นที่จำกัด แต่สิ่งเหล่านี้คือตัวแปรที่ทำให้ป่าชายเลนอยู่รอดต่อไปได้