posttoday

"คลองปานามา" ความสำคัญต่อการค้าโลก เสี่ยงรับผลกระทบจากเอลนีโญ

22 มิถุนายน 2566

คลองปานามา หนึ่งในเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้รับสมญาว่าเป็นหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ด้านวิศวกรรมของโลกยุคใหม่ หนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของโลก กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจนส่งผลต่อระดับน้ำในคลอง จนส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์ของโลก

คลองปานามา เป็นทางน้ำเทียมยาว 82 กม. (51 ไมล์) ในปานามา ซึ่งเชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านคอคอดปานามา ความยาวของคลองปานามาจากแนวชายฝั่งถึงชายฝั่งประมาณ 40 ไมล์ (65 กม.) และจากน้ำลึกในมหาสมุทรแอตแลนติก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทะเลแคริบเบียน) ไปจนถึงน้ำลึกในมหาสมุทรแปซิฟิกประมาณ 50 ไมล์ (82 กม.) คลองซึ่งสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 เป็นหนึ่งในสองคลองที่มนุษย์ขุดขึ้นที่มีการสัญจรมากที่สุดในโลก โดยอีกคลองหนึ่งคือคลองสุเอซ 

คลองปานามา สามารถย่นระยะทางของเรือที่แล่นระหว่างชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ที่จำเป็นต้องอ้อมแหลมฮอร์นในอเมริกาใต้ ทำให้การเดินทางสั้นลงประมาณ 8,000 ไมล์ทะเล (15,000 กม.) โดยใช้คลอง ประหยัดได้ถึง 3,500 ไมล์ทะเล (6,500 กม.) สำหรับการเดินทางระหว่างชายฝั่งหนึ่งของอเมริกาเหนือและท่าเรือที่อยู่อีกฝั่งของอเมริกาใต้ เรือที่แล่นระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออกหรือออสเตรเลียสามารถประหยัดได้มากถึง 2,000 ไมล์ทะเล (3,700 กม.)  

\"คลองปานามา\" ความสำคัญต่อการค้าโลก เสี่ยงรับผลกระทบจากเอลนีโญ

ฝรั่งเศสเริ่มโครงการขุดคลองในปี พ.ศ. 2424 หลังประสบความสำเร็จจากการขุดคลองสุเอซ แต่หยุดลงเพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจเนื่องจากปัญหาด้านวิศวกรรมและอัตราการเสียชีวิตของคนงานที่สูง มีผู้เสียชีวิตจากการก่อสร้างคลองปานามาไม่ต่ำกว่า 27,600 คน เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างเป็นป่าดิบชื้น เป็นสาเหตุของโรคระบาด เช่น มาลาเรียหรือไข้เหลือง รวมทั้งปัญหาดินถล่ม จนทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้งในช่วงการก่อสร้าง จนทำให้คลองปานามา ถูกขนานนามว่า “หนึ่งในโครงการที่ก่อสร้างยากที่สุดในโลก”  

สหรัฐอเมริกาเข้าครอบครองโครงการในปี พ.ศ. 2447 และเปิดคลองในปี พ.ศ. 2457 คลองปานามาถูกควบคุมโดยสหรัฐอเมริกาแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2522 การควบคุมคลองได้ส่งผ่านไปยังคณะกรรมการคลองปานามา ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมของสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐปานามา และการควบคุมทั้งหมดได้ส่งต่อไปยังปานามาในตอนเที่ยงของวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 การบริหารคลองเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลปานามาแต่เพียงผู้เดียว 

\"คลองปานามา\" ความสำคัญต่อการค้าโลก เสี่ยงรับผลกระทบจากเอลนีโญ

เนื่องจากความแตกต่างกันของระดับน้ำทะเลของมหาสมุทรทั้งสองฝั่ง โดยระดับน้ำทะเลเฉลี่ยฝั่งแปซิกฟิสูงกว่าฝั่งแอตแลนติกประมาณ 20 เซ็นติเมตร เพราะปัจจัยความแตกต่างด้านสภาพของมหาสมุทร เช่น ความหนาแน่นของน้ำ และภูมิอากาศ ทำให้คลองปานามาได้รับการออกแบบให้มีประตูกั้นน้ำภายในคลองเป็นช่วง ๆ ตลอดระยะทาง ผิดกับคลองสุเอซที่ไม่มีประตูกั้นน้ำ 

ทั้งนี้เพื่อยกระดับเรือให้สูงขึ้นหรือลดต่ำลงเมื่อเรือแล่นผ่านจากปากคลองด้านหนึ่งไปออกปากคลองอีกด้านหนึ่ง ใช้รถไฟลากจูงเรือขณะอยู่ในคลอง  โดยการบริหารจัดการคลองในแต่ล็อคทำงานโดยแรงโน้มถ่วงของน้ำจากทะเลสาบ Gatún, Alajuela และ Miraflores ซึ่งตัวล็อคมีความยาว ความกว้าง และความลึกเท่ากัน และถูกสร้างขึ้นเป็นคู่เพื่อให้เรือขนส่งพร้อมกันไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

\"คลองปานามา\" ความสำคัญต่อการค้าโลก เสี่ยงรับผลกระทบจากเอลนีโญ

ประตูล็อคแต่ละบานมีสองบาน กว้าง 65 ฟุต (20 เมตร) และหนา 6.5 ฟุต (2 เมตร) ติดตั้งบนบานพับ ประตูมีความสูงตั้งแต่ 46 ถึง 82 ฟุต (14 ถึง 25 เมตร) เคลื่อนไหวด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งฝังอยู่ในผนังล็อค ถูกควบคุมจากหอบังคับการ ควบคุมน้ำท่วมหรือระบายน้ำออกจากห้องล็อคด้วย ห้องล็อคมีความยาว 1,000 ฟุต (300 เมตร) กว้าง 110 ฟุต (33 เมตร) และลึก 40 ฟุต (12 เมตร) ใช้เวลาเดินเรือผ่านคลองประมาณ 8 ชั่วโมง การเดินเรือผ่านคลองจึงมีค่าใช้จ่ายสูง แต่คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาและระยะทางที่ต้องใช้เส้นทางอื่น

คลองปานามา อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ Panama Canal Authority จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางของเรือที่มาใช้บริการ ซึ่งค่าบริการนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของเรือ ขนาด รวมทั้งประเภทของสินค้า 

โดยแต่ละปีจะมีเรือกว่า 14,000 ลำแล่นผ่าน  ถือเป็นเส้นทางหลักสำคัญของการเดินเรือของโลก ซึ่งค่าบริการในการใช้บริการของเรือบรรทุกสินค้าจะอยู่ที่ 300,000 เหรียญ หรือกว่า 10 ล้านบาทต่อเที่ยว ทำให้ค่าธรรมเนียมผ่านทางเรือของคลองปานามาคิดเป็นมูลค่าถึง 3.7% ของ GDP ของประเทศปานามา หรือ 2.1 หมื่นล้านบาท 

\"คลองปานามา\" ความสำคัญต่อการค้าโลก เสี่ยงรับผลกระทบจากเอลนีโญ

ทำให้เพื่อนบ้านในภูมิภาค มีโครงการที่จะแข่งขันกับคลองปานามาที่ได้กำไรมหาศาล โดยในปี 2014 นิการากัวได้ประกาศการเริ่มต้นงานในคลองขนส่งมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่มุ่งแข่งขันกับทางน้ำของปานามา ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริง และในปีนี้ รัฐบาลเม็กซิโกได้ประกาศแผนพัฒนาทางเดินคร่อมคอคอดแคบ ๆ ทางตอนใต้ของเม็กซิโก แผนนี้มีชื่อว่า Interoceanic Corridor ซึ่งจะรวมถึงรถไฟขนส่งสินค้าที่ทอดยาวจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังอ่าวเม็กซิโกด้วย