นักวิทยาศาสตร์รัสเซีย เตือนผลกระทบจากปรากฏการณ์เปลวสุริยะ
นักวิทยาศาสตร์รัสเซียกล่าวว่ากิจกรรมเปลวสุริยะ (solar flare) ที่ทรงพลังคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันจันทร์ ซึ่งอาจรบกวนการสื่อสารด้วยวิทยุคลื่นสั้น หลังจากสังเกตเห็นแสงแฟลร์ 3 ครั้งบนดวงอาทิตย์เมื่อวันอาทิตย์
สถาบันธรณีฟิสิกส์ประยุกต์ Fedorov ในมอสโกกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเปลวสุริยะระดับ X ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุด รวมถึงโปรตอนแฟลร์ โดยคาดว่าการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุสั้นบนโลกจะได้รับผลกระทบ
สถาบัน Fedorov ระบุว่ามีการสังเกตเห็นเปลวสุริยะ 3 ครั้งในวันอาทิตย์ โดยครั้งหนึ่งเกิดขึ้นนาน 14 นาที พร้อมกับการหยุดชะงักของการสื่อสารทางวิทยุ
เปลวสุริยะระดับ X ถือเป็นการระเบิดที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และสามารถสร้างพายุรังสีที่ยาวนาน โปรตอนแฟลร์เป็นพายุของอนุภาคพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประกอบด้วยโปรตอนเป็นส่วนใหญ่
จากข้อมูลของ NASA เปลวสุริยะเกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นโคโรนา(corona) และโครโมสเฟียร์(chromospheres) เมื่อพลังงานภายในสนามแม่เหล็กที่ถูกสร้างขึ้นภายในชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ถูกปลดปล่อยอย่างรวดเร็ว พลังงานถูกปลดปล่อยออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเกือบทุกย่านความถี่ตั้งแต่คลื่นที่มีความยาวคลื่นยาวอย่างคลื่นวิทยุ (radio wave) แสงที่ตามนุษย์มองเห็น (optical light) รังสีเอกซ์ (X-rays) ไปจนถึงคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้นอย่างรังสีแกมมา(gamma rays) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นรอบๆ จุดดับ(sunspots) ที่ซึ่งมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูง โดยทั่วไปการลุกจ้าจะปล่อยพลังงานในระดับ 1020 จูลต่อวินาที (Joules/second) สำหรับการลุกจ้าที่รุนแรงอาจมากถึง 1025 จูล(Joules) เทียบเท่าระเบิดไฮโดรเจนหนัก 100 ล้านตัน ซึ่งระเบิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน หรือคิดเป็นสิบล้านเท่าของพลังงานจากภูเขาไฟระเบิด สามารถส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลกโดยมีศักยภาพที่จะสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมและอุปกรณ์สื่อสารได้
ในปี พ.ศ. 2565 พายุแม่เหล็กโลกที่เกิดจากการระเบิดของรังสีขนาดใหญ่จากดวงอาทิตย์ทำให้ดาวเทียม SpaceX หลุดจากการควบคุมไปถึง 40 ดวง ในช่วงที่ดาวเทียม SpaceX เพิ่งเปิดตัวใหม่ๆ