แนวทางรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 แบบใหม่ ไม่ต้องพึ่งพาอินซูลิน
เราทราบกันดีว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ถือเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย ทำให้ผู้ป่วยต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินไปตลอดชีวิต แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมือมีแนวทางรักษาใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสร้างอินซูลินได้เอง และยังได้รับอนุมัติจาก FDA สหรัฐฯเรียบร้อยแล้วด้วย
เชื่อว่าทุกท่านต้องรู้จักโรคเบาหวานกันไม่มากก็น้อย บ้างก็อาจได้พบเห็นประสบกับตัวเองกับการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด บางส่วนอาจเคยได้ยินการเจ็บป่วยนี้จากข่าวสาร แต่ต้องยอมรับว่านี่ถือเป็นหนึ่งในโรคยอดนิยมสามารถพบได้ทั่วไป
ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยอยู่ที่ 3.3 ล้านราย และมีอัตราการเพิ่มราว 3 แสนคน/ปี ขณะที่ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน อีกทั้งเรายังทราบกันดีว่า โรคเบาหวานเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายแรงชนิดอื่นอย่าง ความดันโลหิตสูง และ โรคหัวใจ ที่เป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพอีกมากมาย
น่าเสียดายที่ตอนนี้เรายังไม่มีวิธีหรือแนวในการรักษาเบาหวานให้หายขาด ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพึ่งพาอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อล่าสุด เริ่มมีแนวทางรักษาแบบใหม่ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 ไม่ต้องรับอินซูลินขึ้นมาสำเร็จ
ถึงตรงนี้คงมีบางท่านเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเบาหวานชนิดที่ 1 อยู่เล็กน้อย จึงขอเพิ่มเติมรายละเอียดโรคกันเสียหน่อย
เบาหวานประเภทที่ 1 หนึ่งในโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 แตกต่างจากเบาหวานที่เราคุ้นเคยตามปกติที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยจะเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำงานบกพร่อง นำไปสู่การโจมตีเซลล์ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินซึ่งทำหน้าที่แปลงกลูโคสให้เป็นน้ำตาล ร่างกายจึงไม่สามารถย่อยสลายกลูโคสนำไปสู่อาการเบาหวานในที่สุด
ข้อแตกต่างประการสำคัญระหว่างเบาหวานชนิดที่ 1 กับเบาหวานทั่วไปคือ นี่ไม่ใช่โรคที่เกิดจากความอ้วนหรืออาหารการกิน แต่เป็นผลกระทบจากการความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยอายุไม่เกิน 30 ปี และสามารถเกิดอาการขึ้นได้ตั้งแต่เด็กจึงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง
เบาหวานชนิดที่ 1 มักทำให้เกิดอาการหิวหรือกระหายน้ำกว่าปกติ น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปัสสาวะบ่อย ผิวหนังติดเชื้อง่าย ในกรณีร้ายแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้มีปริมาณกรดในกระแสเลือดมากเกินไป หรือ ภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
จริงอยู่จำนวนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ถือว่าเป็นกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยเบาหวานโดยรวม คิดเป็นตัวเลขจะอยู่ที่ราว 3 – 5% ของทั้งหมด กระนั้นก็ยังสามารถทำไห้เกิดผลกระทบทางสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งในด้านการติดเชื้อ, โรคไต, การไหลเวียนโลหิต ไปจนโรคหัวใจอีกด้วย
ปัจจุบันเบาหวานชนิดที่ 1 ยังไม่มีแนวทางการป้องกันหรือรักษาเป็นรูปธรรม ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นไปได้สูงว่าเมื่อเกิดอาการขึ้นครั้งหนึ่งจึงอาจส่งผลกระทบไปทั้งชีวิต ทำได้เพียงฉีดอินซูลินอย่างต่อเนื่องและรักษาสุขภาพเพื่อประคองอาการเท่านั้น
จริงอยู่การรักษาให้หายขาดยังเป็นเรื่องยากแต่เริ่มมีแนวคิดรักษาที่ลดการพึ่งพาอินซูลินลงเช่นกัน
แนวทางรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 แบบใหม่ ลดการพึ่งพาอินซูลิน
ผลงานนี้เป็นของบริษัท CellTrans Inc. กับการคิดค้นแนวทางบรรเทาอาการเบาหวานชนิดที่ 1 รูปแบบใหม่อย่าง Lantidra อาศัยเซลล์ตับอ่อนของผู้เสียชีวิตที่บริจาคร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ตับอ่อนสามารถกลับมาผลิตอินซูลิน จนผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง
โรคเบาหวานมีความเกี่ยวพันกับระดับน้ำตาลในเลือดโดยตรง ผู้ป่วยอาการหนักบางกลุ่มจำเป็นต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดตลอดเวลา จากการต้องเฝ้าระวังและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย บางรายจำเป็นต้องได้รับอินซูลินอย่างต่อเนื่อง
เพื่อบรรเทาผลกระทบตรงนี้พวกเขาจึงริเริ่มแนวทางการรักษารูปแบบใหม่ ตามที่กล่าวไปข้างต้นการรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 จำเป็นต้องพึ่งพาอินซูลินเพราะร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงเริ่มเกิดแนวคิดในการบำบัดด้วยเซลล์ โดยการนำเซลล์ตับอ่อนที่ได้รับการบริจาคมาใช้งาน
การรักษาเริ่มต้นจากการนำเซลล์เนื้อเยื่อตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลินจากผู้บริจาค มาฉีดใส่หลอดเลือดดำของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 โดยจะทำการฉีดเซลล์เนื้อเยื่อตับอ่อนนี้เข้าไปราว 1 – 3 ครั้ง ขึ้นกับระดับการตอบสนองของผู้ป่วยต่อเซลล์ที่ได้รับบริจาค เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีเซลล์ผลิตอินซูลินได้เองจนสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ผลลัพธ์จากการทดลองทางคลินิก ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวน 30 คนเข้าร่วมการทดสอบพบว่า 70% ของกลุ่มตัวอย่างเริ่มกลับมาปกติ ใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องได้รับอินซูลินจากภายนอกเป็นเวลามากกว่า 1 ปี ในจำนวนนี้มีอีกราว 33% จากทั้งหมดที่สามารถมีชีวิตได้ตามปกติไม่ต้องฉีดอินซูลินนานกว่า 5 ปี ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากขึ้น
ในส่วนผลข้างเคียงจากการรักษาจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามบุคคล แต่เท่าที่พบจะมีอาการคลื่นไส้, ท้องเสีย, อ่อนเพลีย ไปจนโลหิตจาง ซึ่งเป็นการตอบสนองที่เกิดขึ้นได้เมื่อได้รับยาทางหลอดเลือดดำ แต่เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาผลิตอินซูลินได้เอง นี่ถือเป็นแนวทางรักษาที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ข้อดีอีกอย่างของการบำบัดด้วยเซลล์ Lantidra คือ นี่ไม่ใช่แนวทางรักษาที่อยู่ในขั้นศึกษาวิจัยหรือรวบรวมข้อมูล แต่ได้รับการอนุมัติจากทาง FDA ของสหรัฐฯ ให้สามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ หากแพทย์ได้ทำการแจ้งประโยชน์และความเสี่ยงของแนวทางการรักษานี้อย่างชัดเจน
นี่จึงถือเป็นวิธีรักษาที่เรากำลังจะได้ใช้งานและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้มากในอีกไม่ช้า
ที่มา
https://www.novonordisk.co.th/th/disease-areas/type-1-diabetes.html
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/diabetes
https://www.posttoday.com/post-next/innovation/694373
https://interestingengineering.com/health/fda-approves-first-cellular-type1diabetes