posttoday

ครั้งแรกของโลก ยาชะลออัลไซเมอร์ที่ได้รับอนุมัติจาก FDA

15 สิงหาคม 2566

อัลไซเมอร์ ถือเป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมไม่มีทางรักษาที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นทุกวัน ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำได้เพียงประคับประคองตามอาการเท่านั้น แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป เมื่อ ยาชะลออัลไซเมอร์ ได้รับการอนุมัติใช้งานจาก FDA สหรัฐฯ

เราทราบกันดีว่าเมื่อเกิดอาการ อัลไซเมอร์ สำหรับผู้ป่วยไม่ต่างจากนับถอยหลังสู่ความตาย ด้วยอาการหลงลืมขั้นรุนแรงทำให้ไม่สามารถจดจำเรื่องที่ผ่านมาหรือคนรอบข้าง เลวร้ายกว่านั้นคือลืมแม้กระทั่งวิธีในการใช้ชีวิตประจำวัน นำไปสู่ผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมในที่สุด

 

          นั่นทำให้อัลไซเมอร์ถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงทางสมองที่ทุกคนต่างหวาดกลัว แย่ยิ่งกว่าคือการเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อสมองซึ่งเป็นต้นตนโรคยังไม่มีทางรักษา ทำได้เพียงการรักษาตามอาการซึ่งไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์ได้ สร้างความลำบากให้แก่ทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิด

 

          จริงอยู่จนตอนนี้ยังไม่มีทางรักษาเป็นรูปธรรม แต่ล่าสุดเริ่มมีการคิดค้นยาชะลออัลไซเมอร์ขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ

 

ครั้งแรกของโลก ยาชะลออัลไซเมอร์ที่ได้รับอนุมัติจาก FDA

 

ยาชะลออัลไซเมอร์ที่ได้รับอนุญาตตัวแรกของโลก

 

          ผลงานนี้เป็นของบริษัทยา Eisai จากญี่ปุ่น และ Biogen ของสหรัฐฯ กับการคิดค้นยาชนิดใหม่ในชื่อ Leqembi ยาตัวแรกที่มีคุณสมบัติในการทุเลาอาการอัลไซเมอร์ได้เป็นผลสำเร็จ สามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในระยะแรกอย่างมีประสิทธิภาพ

 

          การคิดค้นยานี้ได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ในสหรัฐฯจำนวนผู้ป่วยมีมากถึง 6 ล้านคน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีผู้ป่วยอัลไซเมอร์กว่า 600,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ราย/ปี จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสังคมผู้สูงอายุ

 

          กลไกการทำงานของยาชะลออัลไซเมอร์จะเริ่มจากการจ่ายยาชนิดนี้ผ่านทางหลอดเลือดดำ โดยจะเข้าไปลดการทำงานของโปรตีน β-amyloid โปรตีนที่จะพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการขจัดจุลินทรีย์ และเมื่อเกิดการกลายพันธุ์ก็จะสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมอง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการอัลไซเมอร์

 

          เมื่อทำการยับยั้งระงับการทำงานของโปรตีนชนิดนี้ได้สำเร็จ อัตราการสูญเสียของเซลล์สมองจะลดจำนวนลง ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถประคับประคองอาการอัลไซเมอร์ไม่ให้ทรุดลงไปกว่านี้ ถือเป็นคุณสมบัติที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่ค้นพบและเข้ารับการรักษาอาการสมองเสื่อมแต่เนิ่นๆ

 

          จากผลการทดสอบทางคลินิกในการใช้ยาชนิดนี้พบว่า หลังจ่ายยาชนิดนี้แก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นในทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน ผู้ป่วยที่ได้รับการยามีอัตราการทรุดตัวของโรคน้อยลงกว่า 27% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นทั่วไป ช่วยยืดเวลาให้แก่ผู้ป่วยได้มาก

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากยานี้จะได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้จาก FDA สหรัฐฯในที่สุด

 

ครั้งแรกของโลก ยาชะลออัลไซเมอร์ที่ได้รับอนุมัติจาก FDA

 

ข้อจำกัดของยาและก้าวต่อไปในการรักษาอัลไซเมอร์

 

          จริงอยู่นี่อาจเป็นยาตัวแรกที่ได้รับการผลิตเพื่อให้ใช้งานร่วมกับโรคอัลไซเมอร์โดยตรง กระนั้นยาก็ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน แรกสุดคือผลข้างเคียงของ Leqembi ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดบริเวณที่ได้รับการฉีด เป็นไข้ ไปจนอาการบวมตามร่างกายที่มักจะหายในเวลาไม่นาน

 

          แต่ก็มีกลุ่มผู้ได้รับผลข้างเคียงจากยานี้อย่างรุนแรง ในกลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบราว 13% จาก 1,800 คน มีอาการ สมองบวม และ เลือดออกในสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดแข็งตัวยากหรือมีโรคทางสมองชนิดอื่นอยู่ก่อน นี่จึงเป็นยาที่ต้องใช้งานภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์

 

          ลำดับถัดมาคือแม้ยานี้จะได้รับการอนุมัติให้มีการใช้งานแล้วก็จริง แต่สำหรับใช้ในการรักษาอาจมีข้อติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง ด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยยาชะลออัลไซเมอร์นี้อยู่ที่ 26,500 ดอลลาร์(916,000 บาท) จึงอาจเป็นการยากในการที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงยา Leqembi ได้

 

          อีกหนึ่งข้อจำกัดที่ทำให้หลายท่านอาจตั้งคำถามคือ แม้นี่จะเป็นยาโรคอัลไซเมอร์ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานจริง แต่สุดท้าย Leqembi ก็ไม่ใช่ยารักษาทำได้เพียงประคับประคองทุเลาอาการลงเท่านั้น จึงอาจสร้างความแตกต่างและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยไม่มาก

 

          แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยืดระยะเวลาให้แก่ผู้ป่วยที่ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ ให้พวกเขาได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวและใช้ชีวิตด้วยตัวเองยาวนานยิ่งขึ้นหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปี ช่วยเตรียมความพร้อมและประวิงเวลาให้ผู้ป่วยมีความหวัง เพื่อความเป็นไปได้ในการค้นหาแนวทางรักษาทอัลไซเมอร์ต่อไปในอนาคต

 

          ไม่แน่ว่ายาตัวนี้อาจช่วยยืดเวลาให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์นานพอจะเข้ารับการเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ ก็เป็นได้

 

 

 

          นี่ถือเป็นก้าวแรกในการบุกเบิกแนวทางรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่จะตามมาในอนาคต เป็นก้าวสำคัญช่วยให้เห็นว่าเรายังมีหวัง นอกจาก Leqembi ยังมียาชนิดอื่นที่ใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกอีกหลายชนิด ยืนยันถึงความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยโรคอัลไซเมอร์อย่างต่อเนื่อง

 

          ดังนั้นด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน วันที่เราจะมีทางรักษาอัลไซเมอร์ให้หายขาดอาจไม่ไกลอย่างที่คิดก็เป็นได้

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-converts-novel-alzheimers-disease-treatment-traditional-approval

 

          https://newatlas.com/medical/fda-first-drug-slow-alzheimers/