เคาะแล้ว ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล 24 ส.ค. นี้
ญี่ปุ่นระบุว่าจะเริ่มปล่อยน้ำกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัดแล้วมากกว่า 1 ล้านเมตริกตันลงสู่ทะเลในวันที่ 24 ส.ค. ขณะที่จีนวิพากษ์วิจารณ์การเดินหน้าแผนดังกล่าวอย่างหนัก
แผนดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัท Tokyo Electric Power Company (Tepco) สามารถรื้อถอนได้ แต่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มชาวประมงท้องถิ่น
ล่าสุด การเดินหน้าแผนดังกล่าว นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ระบุว่าจะเริ่มปล่อยน้ำกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลในวันที่ 24 สิงหาคม หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลประกาศว่าได้เสริมสร้างความเข้าใจกับอุตสาหกรรมประมงเกี่ยวกับการปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในระดับหนึ่งแล้ว แม้ว่ากลุ่มชาวประมงจะยังกังวลว่าการดำเนินงานของทางการมีความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงในอาชีพ รวมถึงวิถีชีวิตของพวกเขา
บริษัท Tepco ระบุว่า ในช่วงแรกน้ำจะถูกปล่อยออกมาในปริมาณที่น้อย รวมถึงจะยังมีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยการปล่อยน้ำครั้งแรกจะมีปริมาณทั้งหมด 7,800 ลูกบาศก์เมตร เป็นเวลาประมาณ 17 วัน เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้
น้ำดังกล่าวจะมีไอโซโทปทริเทียมประมาณ 190 เบคเคอเรลต่อลิตร (หน่วยของกัมมันตภาพรังสี) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนดสำหรับน้ำดื่ม ที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร
ญี่ปุ่นแถลงว่าการปล่อยน้ำกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้นมีความปลอดภัย ขณะที่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังและมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติของสหประชาชาติ ให้การอนุมัติแผนดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม โดยระบุว่าแผนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้น "น้อยมาก"
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจที่จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์ FNN ของญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเผยว่า มีผู้สนับสนุนการปล่อยน้ำกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลราว 56% ขณะที่ 37% ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
นอกจากนี้ แม้แผนดังกล่าวจะมีการรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศยังแสดงความกังขาต่อความปลอดภัยของแผนดังกล่าว โดยจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่วิจารณ์แผนนี้อย่างหนัก
Wang Wenbin โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เรียกแนวทางดังกล่าวว่า เป็นแผนที่ "เห็นแก่ตัว" และจีนจะใช้มาตรการทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ความปลอดภัยด้านอาหาร และสุขภาพของประชาชน
ส่วนฝั่งฮ่องกงระบุว่า การปล่อยน้ำกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล เป็นสื่งที่ "ขาดความรับผิดชอบ" และทางการจะควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทันที
ทั้งนี้ Tony Irwin รองศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียให้ความเห็นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกมีการปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วเป็นปกติ และทำแบบนี้มาเป็นเวลากว่า 60 ปี แล้ว ซึ่งแม้จะยังมีไอโซโทปทริเทียมเจือปน แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม