UN เผย มีผู้ถูกหลอกเข้าสู่ธุรกิจหลอกลวงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแสนคน
องค์การสหประชาชาติ ระบุในรายงานเมื่อวันอังคารว่า ผู้คนหลายแสนคนถูกแก๊งอาชญากรลักลอบค้ามนุษย์ และถูกบังคับให้ทำงานในธุรกิจหลอกลวงและปฏิบัติการออนไลน์ผิดกฎหมายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
รายงานดังกล่าวอ้างถึง "แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ" ประมาณการว่าผู้คนอย่างน้อย 120,000 คนทั่วเมียนมาและประมาณ 100,000 คนในกัมพูชาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการหลอกลวง ร่วมกับองค์กรอาชญากรอื่นๆ ในประเทศลาว ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งทำทุกอย่างตั้งแต่การฉ้อโกง ไปจนถึงการพนันออนไลน์
“คนที่ถูกบังคับให้ทำงานในปฏิบัติการหลอกลวงเหล่านี้ต้องอดทนต่อการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมในขณะที่ถูกบังคับให้ก่ออาชญากรรม พวกเขาตกเป็นเหยื่อ พวกเขาไม่ใช่อาชญากร” โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว
ด้าน ชาย คิม คุน โฆษกตำรวจกัมพูชา กล่าวว่า เขาไม่เห็นรายงานของสหประชาชาติ แต่ได้สอบถามถึงตัวเลขที่อ้างถึงดังกล่าว
“ไม่รู้จะตอบยังไงดี พวกเขาไปเอาตัวเลข (100,000 คน) มาจากไหน พวกเขาได้ตรวจสอบหรือเปล่า พวกเขาไปเอาข้อมูลมาจากไหน ชาวต่างชาติก็แค่พูดไปเรื่อย”
รายงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นหนึ่งในรายงานที่มีรายละเอียดมากที่สุดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโควิด โดยเป็นผลส่วนหนึ่งจากการปิดคาสิโนที่กระตุ้นให้มีการย้ายเข้าไปในพื้นที่ที่มีการควบคุมน้อยกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานระบุว่า ธุรกิจหลอกลวงที่เติบโตอย่างรวดเร็วเหล่านี้สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
“เมื่อเผชิญกับการปราบปรามจับกุม ผู้กระทำความผิดจึงมุ่งเป้าไปที่ชาวต่างชาติซึ่งอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงมากขึ้น … เพื่อดึงเข้าสู่วงจรการกระทำผิด โดยอ้างว่าเสนองานจริงให้พวกเขา” รายงานระบุ
รายงานระบุว่าเหยื่อค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มาจากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง จีน ไต้หวัน และฮ่องกง แต่บางรายก็มาจากที่ห่างไกลอย่างแอฟริกาและละตินอเมริกา
สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคเสริมสร้างหลักนิติธรรมและจัดการกับการคอร์รัปชั่นเพื่อ "ทำลายวงจรหลีกเลี่ยงบทลงโทษตามกฎหมาย" ที่ช่วยให้องค์กรอาชญากรรมเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆ