ยอดสั่งซื้อหุ่นยนต์ในสหรัฐฯชะลอตัว เหตุดอกเบี้ยพุ่ง เศรษฐกิจซบเซา
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพัฒนาการของหุ่นยนต์ยังไม่สามารถเอาชนะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ โดยมีรายงานว่าในไตรมาสที่ 2 นี้ บริษัทต่างๆ ในอเมริกาเหนือเริ่มลดคำสั่งซื้อเครื่องจักรไฮเทคมากขึ้น จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จนทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ใหม่ๆลดลง
สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของออโตเมชั่น หรือ A3 (Association for Advancing Automation) ให้ข้อมูลว่า คำสั่งซื้อเครื่องจักรไฮเทคเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทำให้ความต้องการหุ่นยนต์ตัวใหม่จึงลดลงตาม
ขณะที่ Nancy Kleitsch ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ ICON Injection Molding ผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกจากเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา ระบุว่า "เราจะยังไม่พิจารณาการซื้อหุ่นยนต์ในตอนนี้"
เช่นเดียวกับผู้ผลิตหลายราย ธุรกิจของ ICON เติบโตขึ้นมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากหลายฝ่ายมีความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความต้องการดังกล่าวเริ่มลดลงเรื่อยๆจนแตะระดับต่ำสุดในรอบอย่างน้อย 7 ปี
ปัญหาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว
หลายบริษัท ยังเกิดความลังเลในการสั่งซื้อหุ่นยนต์เช่นเดียวกับบริษัท ICON โดยกลุ่มโรงงาน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจ e-commerce และธุรกิจทางการแพทย์ ได้สั่งซื้อหุ่นยนต์ไปแล้วกว่า 7,697 ตัวในไตรมาสที่ 2 ลดลง 37% จากปีที่แล้ว
ตามข้อมูลของกลุ่ม A3 ยอดขายหุ่นยนต์พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด เนื่องจากบริษัทต่างๆต้องหาตัวช่วยเพื่อผลิตสินค้าที่ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม Jeff Burnstein ประธาน A3 กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า “ยอดขายที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่าภาคส่วนต่างๆไม่ต้องการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยในการผลิตแล้ว แต่เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัว ทุกภาคส่วนต่างกังวล และแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบกับภาพรวม ทุกอย่างเลย ”
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมบางกลุ่มมีการลงทุนกับหุ่นยนต์มากเกินไปในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เช่น บริษัทด้าน E-commerce ที่เร่งสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติเพื่อตอบรับกับความต้องการของลูกค้าในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดขายหุ่นยนต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือความตึงตัวของตลาดแรงงาน หุ่นยนต์จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในหลายภาคส่วน ซึ่งในอดีตภาคส่วนที่นิยมใช้หุ่นยนต์มากที่สุดคือในโรงงานผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ต่างๆ
ทั้งนี้ สำหรับภาคการก่อสร้างได้ให้ความเห็นว่า เป็นการยากที่จะปรับค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องจักรสักเครื่องหนึ่ง เนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่สำคัญกว่า ดังนั้น การเช่าเครื่องจักรน่าจะตอบโจทย์กว่าการซื้อ เพราะมีราคาที่ถูกกว่า และช่วยประหยัดต้นทุน