เมื่อชะเอมเทศอาจถูกใช้ในการรักษามะเร็งตับอ่อน
ชะเอมเทศ หนึ่งในสมุนไพรพื้นฐานที่เราคุ้นเคยในฐานะยาแก้เจ็บคอละลายเสมหะ เป็นส่วนผสมของตัวยาและวัตถุดิบในการปรุงอาหารนานาชนิด แต่ล่าสุดเริ่มมีแนวคิดใหม่เมื่อมีการค้นพบว่าสารสกัดจากชะเอมเทศมีคุณสมบัติรักษามะเร็งตับอ่อน
เชื่อว่าหลายท่านต้องรู้จักหรือคุ้นเคยสมุนไพรที่ชื่อ ชะเอมเทศ กันมาบ้าง ด้วยเป็นหนึ่งในตัวยาซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในร้านยาแผนโบราณ ได้รับความนิยมจากประโยชน์และคุณสมบัติรอบด้านจากทั้งตำรายาจีนและไทยโบราณ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวยาที่ได้รับความนิยมสำหรับการแพทย์ทางเลือก
การใช้งานชะเอมเทศถูกนำไปใช้งานแพร่หลายทั้งในการปรุงยา เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร ไปจนแต่งรสชาติในลูกอมและยาอมต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นยาสารพัดประโยชน์ชนิดหนึ่ง ล่าสุดสรรพคุณของสมุนไพรกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อสารสกัดจากพืชชนิดนี้อาจถูกนำมาใช้รักษามะเร็งตับอ่อนได้
แต่ก่อนอื่นคงต้องเท้าความคุณสมบัติพื้นฐานและสรรพคุณของชะเอมเทศกันเสียหน่อย
คุณประโยชน์และโทษของชะเอมเทศ
ชะเอมเทศ ถือเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรเก่าแก่ที่ได้รับการใช้งานมาเป็นเวลานาน ได้รับการบันทึกให้เป็นยาแผนโบราณในตำราหลายประเทศ และถูกใช้ในการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อส่งเสริมรสชาติหวาน จึงถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในฐานะยาและการปรุงอาหารต่างๆ
สำหรับประเทศไทยเริ่มทำความรู้จักและใช้งานชะเอมเทศครั้งแรกผ่านชาวจีน จากการนำเข้าของพ่อค้าในฐานะตัวยา จึงเริ่มนำไปเพาะปลูกแล้วนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย ได้รับการใช้งานเป็นส่วนผสมของตำรับยามากมาย ทั้งตำรับยาหอม ยาอำมฤควาที หรือตำรับยาไทยแก้หวัด ล้วนมีตัวยาสำคัญเป็นชะเอมเทศทั้งสิ้น
สรรพคุณของชะเอมเทศที่ได้รับการบันทึกไว้ในตำรายาไทยคือ มีรสหวานชุ่มคอ, แก้ไอ, ขับเสมหะ, ขับเลือดเน่าเสีย, บำรุงหัวใจ, แก้กำเดาให้เป็นปกติ อีกทั้งยังใช้เป็นยาระบายและนำไปปรุงแต่งรสยาอื่นให้กินง่าย ส่วนที่บันทึกในตำราจีนก็มีคุณสมบัติคล้ายกัน เพิ่มมาในฐานะใช้ระบายความร้อน, แก้ใจสั่น, แก้ลมชัก, แก้อักเสบคอบวม ไปจนใช้ในการขับพิษต่างๆ
นอกจากใช้งานในฐานะยาสมุนไพรแผนโบราณแล้ว ชะเอมเทศยังถูกนำไปใช้งานในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในด้านการเสริมความงาม, แก้กรดไหลย้อน, รักษาการติดเชื้อในช่องปาก ไปจนการปวดประจำเดือน อย่างไรก็ตามข้อมูลในกลุ่มนี้บางส่วนยังไม่ได้รับการยืนยันจากข้อมูลจากงานวิจัยเพียงพอจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง
อย่างไรก็ตามชะเอมเทศควรใช้ในปริมาณพอเหมาะและไม่ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูง, ตัวบวม, มือเท้าบวม, โซเดียมสะสมในเลือดสูง, โพแทสเซียมต่ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคความดันโลหิตและโรคไตได้เช่นกันจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
แต่ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่บ่งชี้ว่านอกจากคุณสมบัติข้างต้น ชะเอมเทศอาจมีคุณสมบัติในการรักษามะเร็งตับอ่อนด้วย
การใช้ชะเอมเทศรักษามะเร็งตับอ่อน
ผลงานนี้มาจากทีมวิจัยแห่ง Hong Kong Baptist University เมื่อมีการค้นพบว่าสารสกัดจากชะเอมเทศ มีคุณสมบัติสามารถนำมาใช้ในการรักษามะเร็งตับอ่อน หนึ่งในมะเร็งร้ายแรงที่มีอัตราการรักษาหายและรอดชีวิตของผู้ป่วยต่ำที่สุดชนิดหนึ่ง
จากข้อมูลเชิงสถิติที่ผ่านมาการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนทำได้ไม่ดีนัก แม้จะได้รับการผ่าตัดรักษาจนชิ้นส่วนมะเร็งออกจากร่างกายเต็มรูปแบบ โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะเวลา 3 ปีก็มีเพียง 30% หากไม่ได้รับการผ่าตัดก็อาจมีชีวิตได้เพียง 3 เดือน – 1 ปี ขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่กระจายของโรคภายในร่างกาย
นี่จึงทำให้งานวิจัยของพวกเขามีความสำคัญ หลังได้ทดลองศึกษาผ่านแบบจำลองทีมวิจัยพบว่า สารฟลาโวนอยด์ในชะเอมเทศที่เรียกว่า isoliquiritigenin (ISL) มีคุณสมบัติดีเยี่ยมในการต่อต้านมะเร็งตับอ่อน และอาจเป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนได้แม้อยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว
จากการทดสอบกับเซลล์มะเร็งตับอ่อนของมนุษย์ พวกเขาพบว่าเซลล์ที่ได้รับตัวยามีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาถึง 80% อีกทั้งในการทดลองกับหนูที่เกิดมะเร็งตับอ่อนก็พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีขนาดเนื้องอกลดลงอย่างชัดเจน ถือเป็นผลการทดสอบที่ช่วยยืนยันได้อีกทาง
นอกจากใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยตรงแล้ว สารสกัดจากชะเอมเทศยังสามารถใช้ควบคู่กับยาเคมีบำบัดอย่าง Gemcitabine ที่แม้จะถูกใช้แพร่หลายในการรักษามะเร็งแต่ไม่ได้ผลกับมะเร็งตับอ่อนนัก โดยการใช้ควบคู่ช่วยให้ประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดในหนูเพิ่มขึ้นถึง 18% และยังช่วยยับยั้งป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งเกิดการแพร่กระจาย
นี่จึงถือเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยเปิดแนวทางรักษามะเร็งตับอ่อนและช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วโลก
แน่นอนว่าผลการวิจัยนี้ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น จำเป็นต้องได้รับการศึกษารายละเอียดและทดลองกันอีกมากจึงสามารถนำมาใช้จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการวิจัยนี้อาจช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตแก่ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน อีกทั้งยังมาจากสมุนไพรที่เราต่างคุ้นเคยกันดีอย่างชะเอมเทศอีกด้วย
ที่มา
https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_112386