posttoday

โอดผู้บริโภคอยากได้สินค้ารักษ์โลก แต่ไม่อยากจ่ายแพง

08 กันยายน 2566

ผู้ผลิตและธุรกิจสินค้าแบบยั่งยืนโอด สินค้า Eco-friendly ขายยาก เหตุต้นทุนแพง คุณภาพสวนทาง ผู้บริโภคไม่ยอมควักกระเป๋าแม้กดดันให้ธุรกิจเดินหน้าสู้ Climate Change

ผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค และหน่วยงานกำกับดูแลได้กดดันบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ Kimberly-Clark, Nestle ไปจนถึง Walmart ให้ลงทุนกว่าพันล้านดอลลาร์เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเพิ่มความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแรงกดดันเพื่อบีบธุรกิจให้หันหน้าสู่แนวทางรักษ์โลก หลายบริษัทชี้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ กับแนวทางปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพหรือราคา ซึ่งผู้บริโภคจะไม่ยอมอะลุ้มอล่วยกับสิ่งเหล่านี้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน Kimberly-Clark ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกระดาษทิชชู่ Kleenex และผ้าอ้อม Huggies ได้พยายามใช้เส้นใยรีไซเคิลมากขึ้นในผลิตภัณฑ์ของตน ถึงอย่างนั้นผู้บริโภคบางส่วนกลับให้ความเห็นว่าเส้นใยเหล่านี้มีคุณภาพต่ำกว่าปกติ

ณ สิ้นปี 2022 Kimberly-Clark ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและจากการใช้ไฟฟ้าลง 42% ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทางอ้อมอื่นๆ ลดลงอีก 10.8% เมื่อเทียบกับปี 2015 โดยบริษัทได้ยกระดับห่วงโซ่อุปทานเพื่อจัดหาเส้นใยที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม

ทางด้านผลสำรวจจากบริษัทข้อมูล NielsenIQ และ McKinsey เผยว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา  78% ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ระบุว่าวิถีชีวิตแบบยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา

ทั้งนี้ ผู้บริหารธุรกิจ CPG (สินค้าบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค) หลายเจ้าชี้ว่าความท้าทายอย่างหนึ่งในการดำเนินงานด้าน ESG (การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) คือ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอต่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ท้ายสุดแล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องการสื่อสารที่จะชี้ให้ผู้บริโภคเห็นว่าผลกระทบที่จะตามมาเป็นอย่างไร