ผู้เชี่ยวชาญชี้ เนื้อจากห้องแล็บติดฉลากโคเชอร์และฮาลาลได้
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เนื้อจากห้องแล็บ (Lab-grown meat) สามารถติดฉลากโคเชอร์ตามมาตรฐานอาหารยิว และฉลากฮาลาลได้ หากกระบวนการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อเป็นไปตามมาตรฐานทางศาสนา
GOOD หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเนื้อจากห้องแล็บ ได้เรียกประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชารีอะห์ของอิสลาม เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตของบริษัท โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เนื้อสัตว์ที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นในห้องทดลองสามารถเป็นอาหารฮาลาลได้ หากเซลล์สัตว์ที่ใช้มาจากสัตว์ที่ถูกเชือดตามกฎหมายอิสลาม
จากความคิดเห็นดังกล่าว นับว่าเป็นประโยชน์สำหรับบริษัทที่เพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยี “สเต็มเซลล์” เนื่องจากช่วยให้ผู้ที่นับถือศาสนายิวและศาสนาอิสลามสามารถบริโภคเนื้อจากห้องแล็บ (Lab-grown meat) ได้
ปัจจุบันเนื้อจากห้องแล็บมีจำหน่ายแค่ในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ แต่บริษัทต่างๆ หวังว่านักลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนจะนำเงินลงทุนมาใช้กับส่วนนี้มากขึ้นเพื่อเพิ่มการผลิตและเป็นทางเลือกด้านอาหารสำหรับทั่วโลก
เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured Meat) เป็นเนื้อสัตว์ที่ได้มาจากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยี “สเต็มเซลล์” วิศวกรรมชีวภาพและวัสดุชีวภาพ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พื้นที่ทางเกษตรกรรม และการฆ่าสัตว์
บริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้หวังว่าผลิตภัณฑ์ของตนจะสามารถดึงดูดผู้ทานวีแกนและมังสวิรัตได้ รวมถึงผู้ทานเนื้อสัตว์แต่มีความตระหนักต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน สหภาพออร์โธดอกซ์ (OU) ซึ่งเป็นหน่วยงานออกใบรับรองโคเชอร์ตามมาตรฐานอาหารยิวที่ใหญ่ที่สุด ระบุว่า เซลล์ของไก่ที่เพาะเลี้ยงโดยบริษัท SuperMeat มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานโคเชอร์
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ OU และ Islamic Services of America ซึ่งเป็นหน่วยงานออกใบรับรองฮาลาล ในสหรัฐอเมริกามีผู้บริโภคผลิตภัณฑ์โคเชอร์มากกว่า 12 ล้านคน ขณะที่อีก 8 ล้านคนรับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทฮาลาล