posttoday

เมื่อหลอดรักษ์โลกในปัจจุบันอาจไม่ดีต่อโลกและสุขภาพอย่างที่คิด

28 กันยายน 2566

ปัจจุบันเราเริ่มคุ้นเคยกับหลอดรักษ์โลกอย่าง หลอดกระดาษ มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดปริมาณและบรรเทาผลกระทบจากขยะพลาสติก แต่อาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไปเมื่อล่าสุดมีการพบว่า หลอดกระดาษ อาจมีอันตรายมากกว่าที่คิด

หลอดรักษ์โลก หรือ หลอดจากวัสดุทดแทน ถือเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมในการลดขยะจากหลอดพลาสติก ด้วยแต่ละวันคนเราใช้งานหลอดเป็นจำนวนมากในการดื่มเครื่องดื่ม หากสามารถลดการใช้หลอดพลาสติกเปลี่ยนเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ จะช่วยลดปัญหาขยะและอัตราการเกิดไมโครพลาสติกลงอย่างมาก

 

          นั่นเป็นเหตุให้บรรดาร้านรวงน้อยใหญ่ทยอยผลักดันการใช้งานหลอดรักษ์โลกมากขึ้น หลายบริษัทต่างสนับสนุนแนวทางนี้หันมาใช้หลอดกระดาษเต็มรูปแบบแม้จะมีการตอบรับจากผู้บริโภคไม่ค่อยดีนัก เพื่อสนับสนุนแนวทางการลดขยะพลาสติกและมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม

 

          อย่างไรก็ตามจากผลการวิจัยล่าสุด การใช้งานหลอดรักษ์โลกอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ถูกต้องเสียทีเดียว

 

เมื่อหลอดรักษ์โลกในปัจจุบันอาจไม่ดีต่อโลกและสุขภาพอย่างที่คิด

 

ภัยเงียบที่คาดไม่ถึงจากหลอดรักษ์โลก สารเคมี PFAS

 

          ผลการศึกษานี้มาจากทีมวิจัยแห่ง University of Antwerp หลังพวกเขาค้นพบว่า หลอดรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์ในการดื่มเครื่องดื่มซึ่งออกแบบให้ใช้ทดแทนหลอดพลาสติกเพื่อแก้ปัญหาขยะ แต่หลอดรักษ์โลกในท้องตลาดล้วนมีสารประกอบจาก สารเคมีตลอดกาล หรือ PFAS แทบทั้งสิ้น

 

          สารเคมีตลอดกาล หรือ PFAS ถือเป็นกลุ่มสารเคมีกว่า 12,000 ชนิด ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ คาร์บอน และ ฟลูออรีน ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมหลายชนิดเพื่อเพิ่มความทนทาน จุดนี้เองที่เป็นปัญหาเมื่อความทนทานที่มากเกิน ทำให้การขจัดสารนี้จากสิ่งแวดล้อมหรือร่างกายเป็นเรื่องยาก สร้างผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

 

          จากการทดสอบในปี 2021 มีการตรวจพบสาร PFAS จากหลอดที่ผลิตด้วยวัสดุจากพืช นำไปสู่การทดสอบหลอดน้ำดื่มจากวัสดุหลายชนิดตั้งแต่กระดาษ, ไม้ไผ่, แก้ว, พลาสติก และสแตนเลสที่มีวางขายตามท้องตลาด โดยทำการวิเคราะห์สารประกอบที่ใช้ในการผลิตเพื่อค้นหาสารเคมีตลอดกาลที่ปนเปื้อน

 

          ผลการทดสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PFAS ปนเปื้อนสูงสุดคือ หลอดกระดาษมีจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารนี้กว่า 90% จากที่วางขายตามท้องตลาด รองลงมาคือหลอดไม้ไผ่ 80%, หลอดพลาสติกราว 75%, หลอดแก้วอยู่ที่ 40% ส่วนหลอดอะลูมิเนียมไม่มีการค้นพบสารนี้แม้แต่นิดเดียว

 

          นี่จึงถือเป็นข้อโต้แย้งสำคัญที่มีต่อหลอดรักษ์โลกหลายชนิด โดยเฉพาะหลอดกระดาษซึ่งได้รับความนิยมทดแทนหลอดพลาสติก รวมถึงหลอดชนิดอื่นทั้งหลอดที่มีวัตถุดิบจากพืชหรือแม้แต่หลอดแก้ว เมื่อหลอดรักษ์โลกที่ถูกผลักดันทดแทนหลอดพลาสติกเหล่านี้ อาจไม่ได้เป็นมิตรและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่คิด

 

         

เมื่อหลอดรักษ์โลกในปัจจุบันอาจไม่ดีต่อโลกและสุขภาพอย่างที่คิด

 

อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากหลอดรักษ์โลกที่ใช้งาน

 

          จริงอยู่จากผลการวิจัยพบว่าหลอดน้ำดื่มที่เราใช้งานมีการปนเปื้อนสาร PFAS กันทั่วไป ทำให้เราอาจต้องตั้งคำถามและเฝ้าระวังหลอดน้ำดื่มที่เราใช้งานในชีวิตประจำวันกว่าที่คิด แต่งานวิจัยฉบับนี้ยังมีข้อโต้แย้งในหลายด้านที่ยังขาดข้อมูลในเชิงลึก จำเป็นต้องได้รับการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมอีกมาก

 

          อย่างแรกคือการปนเปื้อนนี้เกิดในขั้นตอนใด จริงอยู่สาร PFAS ได้รับความนิยมในการเคลือบผิวเป็นสารกันน้ำ จึงอาจถูกใช้ในกรรมวิธีการผลิตหลอดน้ำดื่มที่ใช้กันทั่วไป แต่เป็นไปได้เช่นกันว่า การปนเปื้อนอาจเกิดขึ้นจากดินที่ใช้ปลูกวัสดุในการผลิตหลอด, ปนเปื้อนจากวัตถุดิบชนิดอื่นในกรรมวิธีการผลิต หรือมาจากหีบห่อที่ใช้บรรจุหลอดสำหรับจัดจำหน่ายได้เช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องได้รับการศึกษารายละเอียดต่อไป

 

          ประการต่อมาคือ แม้มีการพบสารนี้ปนเปื้อนในหลอดน้ำดื่มที่วางจำหน่ายทั่วไป แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดแล้วพบว่า สาร PFAS ที่ตรวจมีความเข้มข้นต่ำจนแทบไม่มีความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบทางสุขภาพ ในระยะสั้นจึงแทบไม่มีผลเสียเกิดขึ้นกับร่างกายโดยตรง

 

          นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดพลาสติกที่มีการใช้งานก่อนหน้า หลอดกระดาษก็มีประโยชน์ในด้านช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกโดยตรง อีกทั้งยังลดอัตราการเกิดไมโครพลาสติกปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ดังนั้นหากเทียบกับหลอดพลาสติกแบบเดิม การใช้งานหลอดกระดาษหรือหลอดไม้ไผ่ก็ยังมีประโยชน์กว่า

 

          อย่างไรก็ตามจุดเด่นสำคัญของสาร PFAS คือ ความทนทาน ทำให้เมื่อเกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมการขจัดออกจะทำได้ยาก และเมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายการขับออกแทบเป็นไปไม่ได้ ทำให้แม้สารที่ได้รับจะมีปริมาณเล็กน้อย แต่อาจเป็นการสร้างปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้เช่นกัน

 

          สำหรับสาร PFAS ที่มีการตรวจพบในหลอดน้ำดื่มทั่วไปคือ Perfluorooctanoic acid สารเคมีที่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและระบบภูมิคุ้มกัน มักเข้าไปสะสมตามอวัยวะอย่างตับ ระบบสืบพันธุ์ และต่อมไทรอยด์ โดยอาจนำไปสู่เนื้องอกและมะเร็งได้ รวมถึงยังมีการตรวจพบ Trifluoroacetic acid และ Trifluoromethanesulfonic acid ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีคุณสมบัติละลายน้ำสูงและอาจปะปนไปกับเครื่องดื่มเมื่อทำการดูดน้ำผ่านหลอดได้ทั้งสิ้น

 

          ดังนั้นสำหรับท่านที่ใส่ใจสุขภาพ การใช้งานหลอดรักษ์โลกจึงควรเป็นอีกเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกันต่อไป

 

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ใช่หลอดกระดาษ หลอดไม้ไผ่ หรือหลอดแก้ว แล้วทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย จากการตรวจสอบของทีมวิจัยพบว่า หลอดที่ไม่มีการปนเปื้อนของสาร PFAS เลยคือ หลอดอะลูมิเนียม ที่สามารถนำกลับมาใช้งานซ้ำอีกทั้งยังไม่ทำให้เครื่องดื่มเสียรสชาติ แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านการพกพาโดยเฉพาะบนเครื่องบินโดยสารเพราะอาจถูกนำไปใช้เป็นอาวุธ รวมถึงยังทำความสะอาดได้ลำบากอยู่สักหน่อย

 

          นอกจากนี้ยังเริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาหลอดที่น่าสนใจแบบอื่น เช่น หลอดน้ำแข็ง ที่อาศัยน้ำมาแช่แข็งแล้วนำมาทำเป็นหลอดเพื่อใช้ในการดื่มเครื่องดื่ม ได้รับการออกแบบในฐานะหลอดที่ช่วยลดปริมาณขยะโดยที่ผู้บริโภคยังเพลิดเพลินกับรสชาติได้อยู่ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดน่าสนใจแม้จะไม่เหมาะกับเมืองไทยนักก็ตาม

 

          และสำหรับท่านที่ไม่ชอบใช้หลอดแต่นิยมดื่มจากแก้วโดยตรง ปัญหาทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ท่านไม่ต้องใส่ใจใดๆ ทั้งสิ้น

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/690492

 

          https://newatlas.com/health-wellbeing/90-percent-of-paper-straws-contain-pfas-compounds/

 

          https://newatlas.com/good-thinking/ice-straw-plastic-problem-drinks-cool/

 

          https://web.facebook.com/PCD.go.th/posts/4321191621297525/?locale=ar_AR