posttoday

สายปุ๊นคิดหนัก การตรวจพบโลหะหนักในเลือดผู้ใช้กัญชา

04 ตุลาคม 2566

เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินพิษภัยจากกัญชามาไม่มากก็น้อย แม้จะได้รับการอนุมัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแต่นี่ยังคงเป็นสารเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ล่าสุดอาจยิ่งอันตรายไปอีกขั้น เมื่อพบว่าผู้ใช้กัญชาจะมีปริมาณโลหะหนักในเลือดมากเป็นพิเศษ

กัญชา ถือเป็นสารเสพติดที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย มีการใช้งานและวางจำหน่ายทั่วไปในหลายภาคส่วนทั่วโลกจากการผ่อนปรนกฎหมายในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยที่เริ่มมีการอนุมัติให้สามารถใช้กัญชาถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งเป้าผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่

 

          แน่นอนการอนุมัติกัญชาถูกกฎหมายถือเป็นอีกหนี่งข้อโต้แย้งใหญ่ในสังคม หลายภาคส่วนแสดงความเห็นคัดค้าน แม้กัญชาอาจช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อย แต่ผลกระทบทางสุขภาพที่ตามมาก็สร้างผลกระทบต่อชีวิตและระบบสาธารณสุขไม่แพ้กัน

 

          วันนี้เราจึงจะมาพูดถึงพิษภัยของกัญชาที่หลายท่านยังไม่ตระหนักในส่วนนี้กันเสียหน่อย

 

สายปุ๊นคิดหนัก การตรวจพบโลหะหนักในเลือดผู้ใช้กัญชา

 

พิษภัยจากการบริโภคกัญชา

 

          อันที่จริงกัญชาใช่จะไม่มีประโยชน์ หากนำมาใช้งานถูกวิธีนี่ก็ถือเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง สามารถนำมาใช้รักษาอาการได้หลายแขนง ตั้งแต่ใช้รักษาอาการลมชัก, ลดอัตราหดเกร็งของกล้ามเนื้อ, บรรเทาอาการเครียดวิตกกังวล, แก้ภาวะเบื่ออาหาร, ลดอาการนอนไม่หลับ ไปจนทุเลาความเจ็บปวดสำหรับผู้ป่วยอาการร้ายแรง

 

          ปัญหาสำคัญของกัญชาคือ การใช้งานควรอยู่ใต้การดูแลของแพทย์และควบคุมการใช้งานอย่างเคร่งครัด เพราะการใช้กัญชามีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ที่มีโรคจิตเภท, ผู้ที่ติดสารเสพติด, ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด, หญิงตั้งครรภ์ที่ให้นมบุตร ไปจนผู้มีอาการแพ้สารสกัดกัญชาเพราะอาจนำไปสู่อันตราย

 

          พิษภัยของกัญชาสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ทั้งความดันโลหิตพุ่งสูง, ใจสั่น, สติแปรปรวน, ประสาทหลอน, หูแว่ว, หวาดระแวง, ตื่นตระหนก, สมองทำงานได้แย่ลง และจะส่งผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยจิตเวช ที่อาจเกิดผลกระทบต่อระบบประสาทและสมองมากเป็นพิเศษ

 

          สำหรับบางท่านเมื่อใช้งานกัญชาอาจเกิดอาการแพ้ โดยสามารถเกิดอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่หัวใจเต้นรัวเร็วผิดจังหวะ, เจ็บหน้าอกร้าวไปถึงแขน, อึดอัดหายใจไม่ออก, เดินเซ, พูดไม่ชัด, สับสน, หูแว่ว, เห็นภาพหลอน, อารมณ์แปรวปรวน ในกรณีร้ายแรงอาจเป็นลมหมดสติ ไปจนส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมอง

 

          นอกจากนี้สำหรับเด็กและวัยรุ่นสาร THC ในกัญชายังส่งผลกระทบมากเป็นพิเศษ นอกจากอาการที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังอาจส่งผลต่อพัฒนาการล่าช้า การเจริญเติบโตของสมองได้รับผลกระทบ ส่งผลรุนแรงต่ออารมณ์และบุคลิกภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางพฤติกรรมและสติปัญญา หรืออาจนำไปสู่โรคจิตเภทซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาว

 

          ล่าสุดอันตรายของกัญชาจะเพิ่มขึ้นอีกขั้นจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณโลหะหนักในเลือดของผู้ใช้งานกัญชา

 

สายปุ๊นคิดหนัก การตรวจพบโลหะหนักในเลือดผู้ใช้กัญชา

 

การสะสมโลหะหนักภายในกัญชา

 

          การค้นพบนี้มาจากงานวิจัยของทีมวิจัยหลายแห่งรวมถึง Columbia University กับการรวบรวมตัวอย่างเลือดและปัสสาวะจากศูนย์สุขภาพแห่งชาติเป็นจำนวนกว่า 7,254 ราย ก่อนพบว่าผู้ใช้กัญชามีปริมาณโลหะหนักหลายชนิดสูงกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

          ผลการตรวจสอบพบว่าในกลุ่มผู้ใช้กัญชาในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จะมีปริมาณโลหะหนักในร่างกายสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะระดับสารตะกั่วซึ่งสูงกว่าปกติ 27% และแคดเมียมสูงกว่าคนทั่วไปราว 22% อีกทั้งยังมีการตรวจพบโลหะหนักชนิดอื่นทางปัสสาวะในปริมาณสูงอีกด้วย

 

          นี่ไม่ใช่สารที่พบได้ในกัญชาโดยตรง แม้ยังไม่ทราบสาเหตุแต่ทางทีวิจัยคาดว่า กัญชาอาจดูดซับสารโลหะนี้จากสภาพแวดล้อมที่ใช้ปลูก ตั้งแต่ดิน, น้ำ, ปุ๋ย ไปจนยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการเพาะปลูก ทำให้เกิดการสะสมตกค้างภายในต้นกัญชาก่อนดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะเกิดการสะสมมากเป็นพิเศษเมื่อบริโภคผ่านการสูดดม

 

          เมื่อสารโลหะหนักสะสมในร่างกายมากเกินไปย่อมนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพ สำหรับตะกั่วจะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยและเวียนศีรษะ มากเข้าก็อาจทำให้ไตเสียหาย, เจ็บปวดบริเวณข้อต่อ, ความดันโลหิตสูง และเป็นพิษต่อระบบประสาท ส่วนแคดเมียมจะส่งผลกระทบต่อไต ทำให้กระดูกเปราะหักแตกง่าย รวมถึงเป็นสารก่อมะเร็งอันตรายเช่นกัน

 

          เลวร้ายกว่านั้นคือการขับโลหะหนักนี้ออกจากเรื่องกายถือเป็นเรื่องยาก สามารถขับออกได้ทางปัสสาวะในปริมาณน้อยจึงเกิดการสะสมง่าย สร้างภาระให้แก่ไต อีกทั้งแม้จะเลิกใช้กัญชาเป็นเวลานาน อัตราการสะสมโลหะหนักในร่างกายก็จะยังคงอยู่และต้องใช้เวลาแก้ไขนานหลายปี

 

          นี่จึงเป็นอีกหนึ่งพิษภัยจากกัญชาที่เราไม่สามารถมองข้ามและต้องเฝ้าระวังเช่นกัน

 

 

 

          อย่างไรก็ตามการวิจัยนี้เพียงตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักในกลุ่มผู้ใช้กัญชา เพื่อศึกษาผลกระทบทางสาธารณสุขเป็นหลัก ในส่วนสาเหตุการปนเปื้อน ความเข้มข้นของโลหะหนักที่ได้รับ ไปจนรายละเอียดในด้านอื่น จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อการตรวจสอบโดยละเอียด

 

          ดังนั้นสำหรับท่านที่บริโภคกัญชาก็ควรทำด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว

 

 

 

          ที่มา

 

          https://cannabis.fda.moph.go.th/info-cannabis/

 

          https://www.bnhhospital.com/th/medical_cannabis

 

          https://interestingengineering.com/health/blazing-could-increase-the-levels-of-heavy-metals-in-blood

 

          https://www.publichealth.columbia.edu/news/blood-urinary-metal-levels-high-among-exclusive-marijuana-users

 

          https://newatlas.com/health-wellbeing/exclusive-marijuana-users-high-levels-cadmium-lead/