posttoday

สหรัฐฯ รับรองอธิปไตยของหมู่เกาะคุก, นีอูเอ

26 กันยายน 2566

สหรัฐฯ รับรองหมู่เกาะคุกและนีอูเอว่าเป็นรัฐ “อธิปไตยและเป็นอิสระ” และให้คำมั่นว่าจะเปิดความสัมพันธ์ทางการฑูต ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสริมความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่เป็นเกาะแปซิฟิก โดยเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อตอบโต้อิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น

ในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ ไบเดนกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์และอนาคตของหมู่เกาะแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกามีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก”

“การยอมรับหมู่เกาะคุกของสหรัฐฯ และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตไม่เพียงแต่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยให้แน่ใจว่าอนาคตที่มีร่วมกันของเรามีความปลอดภัยมากขึ้น เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น และเป็นอิสระมากขึ้น สำหรับประชาชนและ ผู้คนทั่วโลก”

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังต้อนรับบรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย หมู่เกาะคุก ไมโครนีเซีย ฟิจิ เฟรนช์โปลินีเซีย คิริบาส นาอูรู นิวแคลิโดเนีย นิวซีแลนด์ นีอูเอ ปาเลา ปาปัวนิวกินี สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู และวานูอาตู เพื่อหารือกันเป็นเวลาสองวันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

การประชุมสุดยอด US-Pacific Island Forum คาดว่าจะมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการสาธารณสุข

สหรัฐฯ รับรองอธิปไตยของหมู่เกาะคุก, นีอูเอ

“ผมอยากให้คุณรู้ว่าผมได้ยินที่คุณพูด ผู้คนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกได้ยินคุณ เราได้ยินคำเตือนของคุณเกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น” ไบเดนกล่าวระหว่างการแถลงข่าวในช่วงเริ่มต้นการอภิปรายที่ทำเนียบขาวเมื่อเช้าวันจันทร์

“เรารับฟังเสียงเรียกร้องของคุณเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะไม่สูญเสียสถานะหรือสมาชิกภาพในสหประชาชาติอันเป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทุกวันนี้ สหรัฐฯ กำลังแสดงความชัดเจนว่านี่คือจุดยืนของเราเช่นกัน”

การเจรจาครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง

ก่อนหน้านี้ ผู้นำหมู่เกาะแปซิฟิกวิพากษ์วิจารณ์ประเทศร่ำรวยที่ไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และแสวงหาผลกำไรจากการกู้ยืมที่มอบให้กับประเทศที่มีความเปราะบางเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Climate change 

ในการประชุมสุดยอดเมื่อปีที่แล้ว ทำเนียบขาวได้เปิดเผยยุทธศาสตร์แปซิฟิก ซึ่งเป็นโครงร่างของแผนการช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคในประเด็นเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางทะเล และการปกป้องภูมิภาคจากการประมงมากเกินไป

รัฐบาลสหรัฐ ให้คำมั่นที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือ 810 ล้านดอลลาร์สำหรับประเทศต่างๆ บนเกาะแปซิฟิกในทศวรรษหน้า ซึ่งรวมถึงเงิน 130 ล้านดอลลาร์สำหรับความพยายามที่จะหยุดยั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไบเดนต้อนรับผู้นำที่ทำเนียบขาวในเช้าวันจันทร์เพื่อพูดคุยและรับประทานอาหารกลางวันแบบทำงาน

เขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่าฝ่ายบริหารของเขาตั้งเป้าที่จะเพิ่มความช่วยเหลือด้านสภาพอากาศ และกำลังทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเพื่อลงทุน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับโครงการริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานในหมู่เกาะแปซิฟิก

“สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะรับประกันว่าภูมิภาคอินโดแปซิฟิก … จะเป็นอิสระ เปิดกว้าง เจริญรุ่งเรืองและปลอดภัย เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกชาติที่อยู่รอบโต๊ะนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น” ไบเดนกล่าว

สหรัฐฯ รับรองอธิปไตยของหมู่เกาะคุก, นีอูเอ

นอกจากนี้ ผู้นำยังจะพบปะกับทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของไบเดนอย่างจอห์น แคร์รี สำหรับการเจรจาที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเกน และลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำที่กระทรวงการต่างประเทศ ในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม เม็ก คีน ผู้อำนวยการโครงการเกาะแปซิฟิกของสถาบันโลวีในออสเตรเลียกล่าวว่า แม้ว่าสหรัฐฯ ได้เปิดสถานทูตใหม่และสำนักงาน USAID ในภูมิภาคตั้งแต่การประชุมสุดยอดปีที่แล้ว แต่สภาคองเกรสยังไม่ได้อนุมัติคำมั่นด้านเงินทุนส่วนใหญ่ที่ทำไว้เมื่อปีที่แล้ว

เธอเสริมว่าประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก "ยินดีที่สหรัฐฯ มีส่วนร่วมกับภูมิภาคนี้อีกครั้ง แต่ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดการยกระดับด้านกำลังทหารในภูมิภาค"