AI ตรวจจับไฟป่า แนวทางใหม่ในการรับมือภัยพิบัติจากทั่วโลก
การรับมือไฟป่าถือเป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติของหลายประเทศ หลังจากความรุนแรงของภัยพิบัติสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง นำไปสู่การมองหาแนวทางใหม่มารับมือ และสิ่งที่ทั้งโลกต่างมุ่งพัฒนาอย่างพร้อมเพรียงคือ AI ตรวจจับไฟป่า รวมถึงประเทศไทยที่เริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้
ไฟป่า อีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ถือเป็นผลกระทบโดยตรงจากภาวะโลกร้อน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งต่อชีวิต สุขภาพ ไปจนทรัพย์สินของผู้คน ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมผลกระทบจากความแปรปรวนทางสภาพที่ร้ายแรงอยู่แล้วให้หนักขึ้นอีก
หลายภาคส่วนเริ่มรับรู้และมองหาแนวทางรับมือไฟป่า อย่างไรก็ตามการป้องกันภัยพิบัติชนิดนี้ให้ทันท่วงทีอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เมื่อไฟป่าสามารถขยายตัวลุกลามได้รวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ในไม่กี่วินาที แนวทางเคลื่อนไหวหลังเกิดเพลิงไหม้แบบเดิมของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงอาจไม่ตอบโจทย์
นำไปสู่การนำเอาเทคโนโลยีใหม่อย่าง AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้เพื่อรับมือการเกิดไฟป่า
เมื่อทั่วโลกเริ่มผลักดันเทคโนโลยี AI รับมือไฟป่า
ความสนใจในเทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์เริ่มต้นมาพักใหญ่ นำไปสู่การขยับขยายไปใช้งานหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการรับมือไฟป่าที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปอย่าง กรีซ และ ไซปรัส ที่แต่ละปีมักมีไฟป่าเกิดเป็นวงกว้างจนทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
นำไปสู่แนวทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศกับ อิสราเอล ที่เริ่มพัฒนาระบบตรวจจับไฟป่าอย่าง SAFERS อัลกอริทึม AI ที่มีศักยภาพในการค้นหาและตรวจสอบสถานการณ์ไฟป่าได้แบบเรียลไทม์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยภายในพื้นที่
ตัวระบบจะรวบรวมข้อมูลสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม, เซ็นเซอร์ตรวจจับอัคคีภัย, การพยากรณ์อากาศ หรือแม้แต่ข้อมูลที่ได้รับแจ้งต่างๆ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาประมวลผลผ่านอันกอริทึม ช่วยให้ประเมินพื้นที่เสี่ยงในการเกิดไฟป่า ประเมินแนวโน้มการลุกลาม และกำหนดพื้นที่อันตรายที่เกิดขึ้น ก่อนส่งไปยังเจ้าหน้าที่กู้ภัย
เดิมระบบตรวจจับไฟป่าจาก AI นี้อยู่ในระหว่างการทดสอบ แต่ทั้งสองประเทได้เจรจาความร่วมมือเพื่อนำมาทดลองใช้ภายในประเทศ ภายหลังได้รับความช่วยเหลือในสำหรับจัดการไฟป่าจากอิสราเอลเป็นเครื่องบินสำหรับดับเพลิง นี่ถือเป็นการขยายความร่วมมือเพื่อรับมือไฟป่าที่เกิดขึ้น
ล่าสุดด้วยการสนับสนุนจากหลายประเทศในสหภาพยุโรป ประเทศที่เข้าร่วมโครงการและพร้อมสำหรับการรับข้อมูลที่ส่งจาก AI จึงขยายตัวสู่อิตาลี, ฟินแลนด์, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และสเปน โดยคาดว่าจะขยายขอบเขตครอบคลุมทั่วทั้งสหภาพยุโรปในไม่ช้า
แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงประเทศในทวีปยุโรปที่เริ่มนำเอา AI มาใช้รับมือไฟป่า
แนวทางการใช้ AI รับมือไฟป่าในทวีปอเมริกาเหนือ
ไฟป่าไม่ได้เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเพียงภูมิภาคเดียวแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก อีกหนึ่งซีกโลกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในปี 2023 ที่เกิดเหตุไฟป่าฮาวายที่ได้รับการขนานนามว่ารุนแรงสุดในรอบ 100 ปี, ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนียที่กินพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร หรือ ไฟป่าแคนาดา ที่ทำให้เกิดฝุ่นควันฟุ้งกระจายทั่วทั้งประเทศ
เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่ความพยายามในการรับมือไฟป่าแต่เนิ่นๆ กรมป่าไม้และป้องอัคคีภัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เริ่มนำระบบ AI มาสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยประโยชน์จากเครือข่ายของกล้องและระบบตรวจจับควันไฟบนยอดเขากว่า 1,000 ตัวที่มีอยู่ในระบบ
จุดเด่นของ AI นี้คือ สามารถตรวจจับหมอก ฝุ่น และควันที่เกิดจากการเผาไหม้ได้แม่นยำ สามารถระบุความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง รวมถึงตรวจสอบแนวโน้มในการเกิดไฟป่าจากข้อมูลที่ได้รับแบบเรียลไทม์ จากนั้นจึงทำการส่งแจ้งเตือนไปยังนักดับเพลิงในพื้นที่เพื่อระงับเหตุการณ์ทันท่วงที
ผลจากการทดลองใช้งานพบว่า ระบบ AI สามารถประเมินและแจ้งเตือนเหตุการณ์ไฟป่าได้ ก่อนการได้รับแจ้งผ่านช่องทางตามปกติได้เร็วกว่าปกติราว 40% ของไฟป่าที่เกิดขึ้น ด้วยเครือข่ายกล้องตรวจจับไฟป่าที่ได้รับการวางระบบไว้อย่างดี โดยในวันที่อากาศแจ่มใสกล้องแต่ละตัวสามารถตรวจสอบได้ไกลถึง 96 กิโลเมตรเลยทีเดียว
อีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการพัฒนารับมือไฟป่าคือ กล้อง AI สำหรับตรวจจับไฟป่าแบบเรียลไทม์ที่ได้รับการติดตั้งจากแคนาดา ที่กำลังวางเครือข่ายกล้องสำหรับตรวจจับไฟป่าตามสถานที่ต่างๆ โดยกล้องมีขอบเขตการทำงานไกล 20 กิโลเมตร รวมถึงยังสามารถเพิ่มระยะการสอดส่องได้จากการติดตั้งผ่านโดรน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำและรายละเอียดการตรวจจับยิ่งขึ้น โดยระบบกล้องนี้จะทำการเชื่อมต่อกับดาวเทียมของ SpaceX เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่อไป
ระบบโดรน AI รับมือไฟป่าในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยปัญหาไฟป่าก็ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีโดยเฉพาะแถบพื้นที่ภาคเหนือ นำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด(ARV) เครือ PTTEP ร่วมกับ AIS สู่ความร่วมมือในการพัฒนาโดรนดับเพลิงระบบ AI มาใช้งานร่วมกับเซ็นเซอร์จาก Internet of everything(IOT) ไว้ใช้ในการตรวจสอบรับมือไฟป่า
ระบบนี้เริ่มต้นจากเซ็นเซอร์ IOT จาก AIS ซึ่งกระจายอยู่ภายในป่าคอยทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณควันไฟ ถูกใช้งานแพร่หลายเพื่อตรวจจับสัญญาณควัน ความร้อน และอุณหภูมิเพื่อแจ้งเตือนไฟป่า ช่วยย่นเวลาในการแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่จาก 3 – 6 ชั่วโมง ให้สามารถเข้าสู่พื้นที่ได้ในเวลาราว 30 นาที
ส่วนโดรนดับเพลิงนั้นเป็นโดรนที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถตรวจจับจุดความร้อนและสนับสนุนการดับเพลิง โดยสามารถมุ่งหน้าสู่พื้นที่ดับเพลิงโดยอัตโนมัติเพื่อช่วยในการสำรวจพื้นที่ ตรวจสอบสถานการณ์ไฟป่าได้ทันท่วงที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นภาพรวมของสถานการณ์และสามารถรับมือได้อย่างแม่นยำ
ไม่เพียงใช้ในการรวบรวมข้อมูลสำหรับการวางแผนวิเคราะห์สถานการณ์ ยังสามารถบังคับควบคุมเพื่อใช้สนับสนุนการดับเพลิงในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยสามารถปล่อยลูกบอลดับเพลิงในจุดที่ไฟกำลังลุกไหม้ สร้างแนวป้องกันไฟ ไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จากรถดับเพลิง เพื่อใช้ในการสนับสนุนในการฉีดน้ำหรือโฟมให้เข้าสู่จุดเกิดเหตุง่ายขึ้นอีกด้วย
นอกจากใช้สำหรับการรับมือไฟป่าแล้ว โดรนของทางบริษัทยังสามารถใช้ในการรับมือเหตุเพลิงไหม้ในเมือง อาคาร หรือโกดังขนาดใหญ่ ช่วยกระจายการฉีดน้ำให้ไปถึงพื้นที่เสี่ยงภัย และยังสามารถใช้ข้อมูลที่ได้รับจากกล้องและเซ็นเซอร์ต่างๆ สร้างแผนที่ 3 มิติเพื่อใช้ประเมินสถานการณ์และสร้างแนวกันไฟได้อย่างแม่นยำ
ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและช่วยรักษาชีวิตของนักดับเพลิงได้เป็นอย่างดี
ทั้งหมดคือแนวโน้มของเทคโนโลยี AI ที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนการตรวจจับไฟป่า ที่แม้หลายส่วนอาจยังอยู่ในขั้นระหว่างการพัฒนาก็จริง แต่ด้วยสถานการณ์ไฟป่าในแต่ละปีคงเริ่มมีการใช้งานในไม่ช้า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติที่นับวันมีแต่จะรุนแรงยิ่งขึ้น
ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจมีแนวทางรับมือไฟป่าที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ก็เป็นได้
ที่มา
https://thestandard.co/canada-wildfires-bad-air-quality/
https://interestingengineering.com/innovation/california-is-controlling-its-wildfires-using-ai-tech
https://interestingengineering.com/innovation/canadian-telecom-uses-ai-cameras-to-fight-wildfires