posttoday

ขยะจากเสื้อผ้าแบรนด์ดังถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอิฐกัมพูชา

21 พฤศจิกายน 2566

องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งกัมพูชารายงานว่า ขยะสิ่งทอจากแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกกว่า 19 แบรนด์ ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตอิฐของกัมพูชา จนส่งผลให้คนงานหลายรายล้มป่วย สตรีมีครรภ์ในพื้นที่ใกล้เคียงกระทบหนัก

จากการเยี่ยมชมโรงงานผลิตอิฐ 21 แห่งในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา และจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง องค์กรสันนิบาตเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งกัมพูชา (Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights: LICADHO ) รายงานว่า ขยะสิ่งทอจากแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกกว่า 19 แบรนด์ ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอิฐของกัมพูชา จนส่งผลให้คนงานหลายรายเกิดอาการป่วย 

สำหรับแบรนด์ที่ LICADHO พบ ได้แก่ Adidas, C&A, Cropp and Sinsay, Disney, Gap, Old Navy, Athleta, Karbon, Kiabi, Lululemon Athletica, Lidl Stiftung & Co's Lupilu, Walmart's No Boundaries, Primark, Reebok, Sweaty Betty , Tilley Endurables, Under Armour และ Venus Fashion

ขยะจากเสื้อผ้าแบรนด์ดังถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอิฐกัมพูชา

ส่วนสาเหตุที่โรงงานผลิตอิฐหลายแห่งใช้ขยะสิ่งทอแทนเชื้อเพลิงชนิดเก่าที่เคยใช้ เนื่องจากขยะสิ่งทอช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงได้มากกว่า

คนงานหลายส่วนให้ความเห็นว่า เศษเสื้อผ้าที่ถูกเผาทำให้พวกเขามีอาการปวดหัว และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ขณะที่บางส่วนให้ความเห็นว่ากลิ่นจากการเผาขยะสิ่งทอทำให้รู้สึกป่วยจนผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์

การศึกษาจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ชี้ว่า การเผาขยะสิ่งทอหรือเสื้อผ้าสามารถปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์ได้หากระหว่างการเผาไหม้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ขณะที่มลพิษจากขี้เถ้าก็ยังอยู่ในระดับสูง 

ขณะที่การศึกษาอีกฉบับจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่า เศษเสื้อผ้ามักมีสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น สารฟอกขาว (Chlorine bleach) ฟอร์มาลดีไฮด์ แอมโมเนีย โลหะหนัก พีวีซี และเรซินที่ใช้ในกระบวนการย้อมและพิมพ์ โดยคนงานในโรงงานอิฐมักต้องเผชิญกับอาการปวดหัวไมเกรน เลือดกำเดาไหล และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ อยู่เป็นประจำ

รายงานจาก LICADHO ยังระบุว่า สารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาขยะสิ่งทอคือสารไดออกซินซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

ขยะจากเสื้อผ้าแบรนด์ดังถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอิฐกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม Adidas ซึ่งมีโรงงาน 16 แห่งในกัมพูชา กล่าวว่า บริษัทกำลังเริ่มสอบสวนว่าขยะสิ่งทอถูกเปลี่ยนเส้นทางจากการกำจัดที่ถูกวิธีไปยังโรงงานอิฐหรือไม่

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ Adidas ในกัมพูชาระบุว่า ขยะสิ่งทอทั้งหมดจากซัพพลายเออร์ ต้องถูกส่งไปยังโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะที่ได้รับการรับรองและมีการควบคุมในทุกกระบวนการ เพื่อแปรรูปขยะต่างๆเป็นพลังงาน

นอกจากนี้ บริษัทอีกหลายแห่ง รวมถึง Primark และ Lidl กำลังสอบสวนเรื่องดังกล่าวและแสดงความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชาและบริษัทกำจัดขยะ Sarom Trading Co. Ltd ยังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว