posttoday

การตรวจเลือดแบบใหม่ ช่วยให้ค้นพบมะเร็งก่อนเกิดอาการ

24 พฤศจิกายน 2566

โรคมะเร็ง อีกหนึ่งโรคร้ายที่ใครต่างไม่อยากเป็นแต่หลายครั้งนี่เป็นสิ่งยากจะหลีกเลี่ยง การตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญ น่าเสียดายที่การตรวจส่วนมากยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายมาก แต่จะเป็นอย่างไรหากมี การตรวจเลือดแบบใหม่ที่ช่วยค้นพบมะเร็งก่อนเกิดอาการ

เมื่อพูดถึงโรคมะเร็งหลายท่านคงรู้จักดีว่านี่ถือเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยนี่ถือเป็นโรคที่เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 หลายปีซ้อน โดยมีการตรวจพบผู้ป่วยใหม่กว่า 70,000 ราย/ปี อีกทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยกว่า 50,000 ราย/ปี เลยทีเดียว

 

          แน่นอนว่านี่เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากเป็นหรือให้เกิดขึ้นกับตัว แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างน้อยเราก็อยากรู้ตัวโดยเร็ว เพื่อจะได้สามารถป้องกันและรักษาอาการได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามการตรวจสอบมะเร็งเองก็มีความยุ่งยากในหลายด้าน ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากมักค้นพบในช่วงเริ่มแสดงอาการ ซึ่งบางกรณีอาจสายเกินในการรักษา

 

          นำไปสู่การคิดค้นแนวทางการตรวจมะเร็งผ่านเลือดที่สามารถค้นพบแนวโน้มมะเร็งได้ก่อนแสดงอาการ

 

การตรวจเลือดแบบใหม่ ช่วยให้ค้นพบมะเร็งก่อนเกิดอาการ

 

การตรวจเลือดรูปแบบใหม่ที่ใช้ค้นหาโรคมะเร็ง

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Rockefeller University กับการพัฒนาแนวทางการตรวจหามะเร็งรูปแบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนหรืออาศัยกรรมวิธีหลายรูปแบบให้ยุ่งยาก อาศัยเพียงการตรวจเลือดก็เพียงพอต่อการชี้วัดแนวโน้มในการเป็นมะเร็งของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ

 

          แนวคิดในการตรวจหามะเร็งด้วยวิธีนี้เริ่มต้นจากการค้นพบโปรตีนชนิดใหม่อย่าง LINE-1 ORF1p เป็นโปรตีนที่สามารถพบได้ทั่วไปในเซลล์ของคนเราในปริมาณจำกัด แต่ร่างกายของเรามีกลไกสำหรับควบคุมการเกิดและแสดงผลของโปรตีนชนิดนี้โดยเฉพาะ จึงไม่สามารถตรวจพบได้มากตามปกติ

 

          กรณีที่สามารถตรวจพบโปรตีนชนิดนี้เป็นจำนวนมากคือ เมื่อเซลล์เกิดการแบ่งและขยายตัวอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการเกิดขึ้นและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย การตรวจหาค่าโปรตีนชนิดนี้ภายในเลือด จึงอาจช่วยเป็นตัวชี้วัดที่ใช้วินิจฉัยการเป็นมะเร็งของผู้ป่วยได้

 

          แนวทางการตรวจโปรตีนชนิดนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือกล้องจุลทรรศน์ทั่วไป พวกเขาจึงออกแบบแนวการตรวจเลือดแบบใหม่อย่าง Single Molecule Arrays (Simoa) ระบบตรวจจับโปรตีนความไวสูงพิเศษที่ออกแบบมาเฉพาะ ช่วยให้สามารถแสดงผลค่าโปรตีนชนิดนี้ได้โดยละเอียด

 

          ในขั้นตอนทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างกว่า 400 ราย พวกเขาพบว่า 99% ของกลุ่มตัวอย่างมีค่าโปรตีนอยู่ในระดับไม่เป็นอันตราย มีเพียง 5 รายที่มีการพบค่าโปรตีนชนิดนี้ในเลือดปริมาณสูงเป็นพิเศษ หลังจากนั้น 6 เดือนกลุ่มที่มีค่าโปรตีนในเลือดสูงก็เริ่มแสดงอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม เช่นเดียวกับผู้ป่วยอีกรายที่มีอาการมะเร็งรังไข่ระยะที่ 1

 

          แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการตรวจสอบมะเร็งล่วงหน้าที่กำลังก่อตัวภายในร่างกายล่วงหน้า

 

การตรวจเลือดแบบใหม่ ช่วยให้ค้นพบมะเร็งก่อนเกิดอาการ

 

การตรวจหามะเร็งชนิดใหม่ที่อาจพลิกโฉมวงการแพทย์

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจรู้สึกว่าการตรวจหามะเร็งผ่านเลือดไม่ใช่เรื่องแปลก ด้วยปัจจุบันก็มีแนวทางการตรวจหามะเร็งผ่านโปรตีน CA125 หรือ HE4 ที่สามารถใช้ตรวจสอบระดับเซลล์มะเร็งภายในร่างกายผ่านเลือดได้เช่นกัน ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้จึงฟังดูไม่แตกต่างจากเดิมนัก

 

          แต่อันที่จริงการตรวจหาโปรตีนรูปแบบใหม่เรียกว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิง เพราะการตรวจหาโปรตีน 2 ชนิดข้างต้นเป็นการตรวจเลือดเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ของมะเร็งรังไข่เท่านั้น จำกัดขอบเขตในการตรวจสอบของมะเร็งเพียงชนิดเดียว อีกทั้งยังใช้ในการตรวจสอบเฉพาะผู้ป่วยเพศหญิงเป็นหลัก

 

          แตกต่างจากการตรวจหา LINE-1 ORF1p ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงชนิดเดียว มีผลการวิจัยยืนยันว่า โปรตีนชนิดนี้สามารถพบได้กับทั้งผู้ป่วยมะเร็งรังไข่, มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกระเพาะ, มะเร็งลำไส้, มะเร็งเต้านม ไปจนมะเร็งตับอ่อน เรียกว่าครอบคลุมมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบทุกชนิด

 

          มะเร็งที่ได้รับการพูดถึงข้างต้นหลายชนิดเป็นมะเร็งที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเฉพาะทางจึงจะหาพบ หลายครั้งจำเป็นต้องผ่านกรรมวิธียุ่งยากอย่างการสแกนแบบต่างๆ ผ่าตัดสอดกล้อง หรือการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจสอบ แต่แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้อาจสร้างความเจ็บปวดไม่เป็นมิตรต่อผู้ป่วยนัก ในขณะที่การตรวจหาโปรตีนอาศัยเลือดเพียงเล็กน้อยในการตรวจสอบ แทบไม่ต่างจากขั้นตอนการตรวจสุขภาพทั่วไป

 

          ข้อดีอีกอย่างของการตรวจหาโปรตีนผ่านเลือดคือค่าใช้จ่าย เราทราบดีว่ากระบวนการอัลตร้าซาวน์, ซีทีสแกน ไปจนการผ่าตัดสำรวจล้วนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หลายคนจึงอาจไม่สามารถเข้าถึง แตกต่างจากการตรวจเลือดหาโปรตีนนี้ที่มีต้นทุนในการตรวจเพียง 3 ดอลลาร์(ราว 105 บาท) ทำให้สามารถตรวจสอบหามะเร็งหลายชนิดได้ง่ายและครอบคลุมขึ้นมาก

 

          หากสามารถพัฒนาการตรวจหาโปรตีนชนิดนี้จากเลือดให้ใช้งานอย่างแพร่หลาย ในอนาคตเราอาจตรวจหามะเร็งผ่านการตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นได้

 

 

 

          แน่นอนการตรวจสอบนี้ยังคงอยู่ในขั้นต้นจำเป็นต้องทดสอบในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อรวบรวมข้อมูล แต่แนวโน้มการตรวจอาจไม่ได้ถูกใช้งานเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มอย่างเดียว เมื่อทีมวิจัยพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะและหลอดอาหาร เมื่อผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาและอาการเริ่มดีขึ้น โปรตีน LINE-1 ORF1p ในเลือดก็เริ่มลดระดับลงเช่นกัน

 

          ดังนั้นในอนาคตการตรวจหาโปรตีนอาจถูกนำไปใช้ในการชี้วัดอาการของผู้ป่วยมะเร็งได้อีกด้วย

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.js100.com/en/site/post_share/view/129548

 

          https://www.rockefeller.edu/news/34894-new-blood-test-could-offer-earlier-detection-of-common-deadly-cancers/

 

          https://newatlas.com/medical/blood-test-detect-cancer-before-symptoms-appear/

 

          https://interestingengineering.com/science/blood-test-detects-cancers-before-symptoms