posttoday

ความพยายามลอบสังหารทรัมป์ 2 ครั้งใน 2 เดือน การเมืองสหรัฐกับความรุนแรง

16 กันยายน 2567

สองครั้งภายในสองเดือน สหรัฐมีข่าวเกือบเกิดโศกนาฏกรรมที่บุคคลสำคัญทางการเมืองถูกลอบสังหารในช่วงการเลือกตั้ง สะท้อนว่าความรุนแรงอาจบ่อนทำลายประเทศจากการแตกแยกทางความเชื่ออย่างรุนแรง

หลังจากหลายทศวรรษที่ว่างเว้นจากความพยายามลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางการเมือง แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้ กลับกลายเป็นความร้อนแรงเมื่อเกิดข่าวความพยายามลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี และผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรครีพับบลิกันรอบสอง ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ตกเป็นเป้าหมายของสิ่งที่ FBI กล่าวว่า "ดูเหมือนจะเป็นการพยายามลอบสังหาร" ที่สนามกอล์ฟของเขาในเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา เพียงเก้าสัปดาห์หลังจากเขารอดชีวิตจากความพยายามเอาชีวิตเขาขณะกำลังปราศัยหาเสียง

อดีตประธานาธิบดีกล่าวว่าเขาปลอดภัยและสบายดี และทางการได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้

เจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ไม่ไกลจากจุดที่ทรัมป์กำลังเล่นกอล์ฟอยู่ สังเกตเห็นปากกระบอกปืน AK โผล่จากพุ่มไม้ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 400 หลา

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งยิงตอบโต้ ก่อนมือปืนทิ้งปืนไรเฟิลแล้วหลบหนีไปในรถ SUV โดยทิ้งอาวุธปืนพร้อมกับเป้สะพายหลังสองใบ กล้องเล็งและกล้องโกโปร  

ความพยายามลอบสังหารทรัมป์ 2 ครั้งใน 2 เดือน การเมืองสหรัฐกับความรุนแรง

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นกระแสความรุนแรง ที่กำลังกลายเป็นเงาบดบังการเมืองอเมริกันอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงขึ้น จากการที่อาวุธปืนมีอยู่อย่างง่ายดาย ตอนนี้ ฉากกันกระสุน และการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้บรรยากาศการแข่งขันเคร่งเครียดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทรัมป์ถูกกระสุนเฉี่ยวที่หูขวา และมีผู้เข้าร่วมการรับฟังคำปราศัยเสียชีวิตหนึ่งราย จากการยิงในการหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนียเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม มือปืนซึ่งถูกระบุว่าเป็นชายอายุ 20 ปีชื่อ Thomas Crooks ถูกพลซุ่มยิงของหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษยิงเสียชีวิต

นั่นเป็นการยิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือผู้สมัครประธานาธิบดี ครั้งแรกในรอบกว่าสี่ทศวรรษ และความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างชัดเจน ทำให้ Kimberly Cheatle ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษภายใต้แรงกดดันจากรัฐสภาทั้งสองพรรค

รักษาการผู้อำนวยการคนใหม่ของหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่าเขา "ละอายใจ" ต่อความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยที่นำไปสู่ความพยายามลอบสังหารครั้งนี้

ความพยายามลอบสังหารทรัมป์ 2 ครั้งใน 2 เดือน การเมืองสหรัฐกับความรุนแรง

 

ในสถานการณ์ปกติ ความพยายามลอบสังหารผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อาจนำไปสู่การแสดงความเห็นอกเห็นใจที่อาจส่งผลให้เกิดผลทางการเมือง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทรัมป์ อยู่ในช่วงเวลาที่การแข่งขันกับแฮร์ริสกำลังเข้มข้น ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งผลกับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้หรือไม่

แต่แน่นอนว่า อดีตประธานาธิบดี จะใช้เหตุการณ์ล่าสุด ตอกย้ำว่าเขาตกเป็นเหยื่อของการลอบสังหารและการใช้ความรุนแรงที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เขามีอำนาจ และจะทำให้ผู้สนับสนุนเขาตกอยู่ในอารมณ์โกรธแค้นมากขึ้น

ภาพของเหตุจลาจลและการโจมตี ต่อรัฐสภาสหรัฐในสมัยประชุมที่ 117 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 จากบรรดาผู้สนับสนุน ทรัมป์ ที่คัดค้านการเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2563 โดยกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์หลายพันคน เดินขบวนไปตามถนนเพนซิลเวเนียก่อนที่จะบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อขัดขวางการนับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งระหว่างการประชุมร่วมของรัฐสภา และเพื่อขัดขวางกระบวนการรับรองชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน  ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และยังคงเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนการเมืองสหรัฐ ในฐานะประเทศต้นแบบของการเมืองยุคใหม่ มาจนถึงปัจจุบัน

ที่สุดของบทสรุปเรื่องราวครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกัน ที่จะตอบสนองกับรูปแบบการเมืองที่รุนแรงและแบ่งขั้วครั้งนี้อย่างไร

ความพยายามลอบสังหารทรัมป์ 2 ครั้งใน 2 เดือน การเมืองสหรัฐกับความรุนแรง