COP29 วุ่น ประเทศกำลังพัฒนาค้านข้อตกลง 3 แสนล้านดอลลาร์ ชี้ไม่พอรับมือวิกฤต
การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP29 บรรลุข้อตกลงจัดสรรเงินทุน 3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญ
การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP29 ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ได้บรรลุข้อตกลงสำคัญในการจัดสรรเงินทุน 3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องได้รับเงินทุนดังกล่าวว่ายังไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤตที่กำลังเผชิญ
แม้ว่าข้อตกลงนี้จะเป็นการเพิ่มวงเงินจากเป้าหมายเดิมที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ตัวแทนจากหลายประเทศ รวมถึงอินเดีย ได้แสดงความไม่พอใจ โดยระบุว่าเป็นเพียง "ภาพลวงตา" ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญได้จริง
ไซมอน สตีล หัวหน้าด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ยอมรับว่าการเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เชื่อว่าข้อตกลงนี้จะเป็นเสมือนกรมธรรม์ประกันภัยให้กับมนุษยชาติในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยเน้นย้ำว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินตามข้อตกลงอย่างครบถ้วนและตรงเวลา
ข้อตกลงนี้ยังวางรากฐานสำหรับการประชุมสภาพภูมิอากาศครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้น ณ อเมซอน ประเทศบราซิล ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับทศวรรษหน้า นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้าหมายที่กว้างขึ้นในการระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศให้ได้ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2578 ซึ่งรวมถึงเงินทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญยังคงอยู่ที่การแบ่งความรับผิดชอบระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระด้านค่าใช้จ่ายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม หรือภัยแล้ง
ที่น่ากังวลคือ โลกกำลังอยู่ในเส้นทางที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นถึง 3.1 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ ตามรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหประชาชาติปี 2567 ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปี 2567 นับเป็นปีที่อุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งน้ำท่วมในแอฟริกาที่คร่าชีวิตผู้คนนับพัน ดินถล่มในเอเชีย และภัยแล้งในอเมริกาใต้ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่รอดพ้นผลกระทบ ซึ่งเห็นได้จากน้ำท่วมในเมืองบาเลนเซีย ประเทศสเปน ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 200 คน และสหรัฐอเมริกาที่ประสบภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ถึง 24 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ไม่ได้กำหนดขั้นตอนโดยละเอียดว่าประเทศต่างๆ จะดำเนินการตามคำมั่นสัญญาของการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปีที่แล้วอย่างไร ในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าในทศวรรษนี้