posttoday

เปิดไทม์ไลน์ "วิกฤต Boeing" ตลอดปี 2024

30 ธันวาคม 2567

2024 ปีมหาวิปโยคของ Boeing ปัญหาด้านความปลอดภัยโผล่ให้เห็นตั้งแต่เริ่มศักราชยันส่งท้ายปี ย้อนไทม์ไลน์ "วิกฤต Boeing" หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก กับชนวนคำถามด้านความปลอดภัยในการบิน

หากจะกล่าวว่าปี 2024 ถือเป็นปีมหาวิปโยคของ Boeing หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลกและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานคงไม่ผิดนัก หลังเกิดอุบัติเหตุเครื่องบิน Boeing 737-800 ของสายการบิน Jeju Air ไถลออกนอกรันเวย์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 179 คน 

โศกนาฎกรรมในครั้งนี้ได้จุดชนวนให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการผลิตและมาตรฐานความปลอดภัยของ Boeing อีกครั้ง แม้สาเหตุที่แท้จริงจะยังอยู่ระหว่างการสอบสวนก็ตาม 

Boeing 737 MAX

เปิดไทม์ไลน์วิกฤต Boeing ตลอดปี 2024

  • มกราคม

เปิดฉากปี 2024 ได้ไม่นาน Boeing ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับวงการการบินทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด แผ่นประตูของเครื่องบิน Boeing 737 Max 9 สายการบิน Alaska Airlines หลุดออกจากตัวเครื่องขณะบินอยู่กลางอากาศ ทำให้ผู้โดยสารตกอยู่ในความหวาดกลัวและสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของบริษัทที่กำลังพยายามฟื้นฟูชื่อเสียงให้กลับคืนมาหลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในอดีต

องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสายการบินของสหรัฐฯ สั่งระงับการบินของเครื่อง Boeing 737 Max 9 ทั่วประเทศ หลังพบปัญหาชิ้นส่วนหลวมในเครื่องบินรุ่นเดียวกันหลายลำ  จนมีการตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานการควบคุมคุณภาพของ Boeing และซัพพลายเออร์

ขณะเดียวกันพนักงานของ Boeing ได้ออกมาเปิดโปงข้อมูลภายในว่า  Boeing เป็นฝ่ายสุดท้ายที่ติดตั้งชิ้นส่วนประตู ซึ่งพนักงานของ Boeing ได้ติดตั้งสลักเกลียวที่ยึดแผงประตูอย่างผิดวิธี และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประตูหลุดออกจากตัวเครื่องระหว่างบิน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องคุณภาพการผลิตภายในบริษัท

Boeing 737 MAX

  • กุมภาพันธ์

จากการสืบหาสาเหตุเบื้องต้นพบว่า Boeing 737 Max 9 ขาดสลักเกลียวตัวสำคัญถึง 4 ตัวที่ใช้ยึดฝาประตูเข้ากับตัวเครื่อง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของบริษัท ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลโครงการ 737 Max  ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่ FAA ออกคำสั่งให้ Boeing ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องมาตรฐานการผลิตภายใน 90 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย

  • มีนาคม

การสอบสวนของ FAA พบหลักฐานชี้ชัดว่า Boeing และซัพพลายเออร์มีปัญหาอย่างหนักในกระบวนการผลิต  นอกจากนี้คณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ (NTSB) ยังเปิดเผยว่า Boeing ได้พยายามขัดขวางการสืบสวน สถานการณ์ยิ่งทวีความซับซ้อนและเงื่อนงำของ Boeing มากขึ้นไปอีก เมื่อพนักงานที่ออกมาเปิดโปงข้อมูลภายในบริษัท ถูกพบว่าเสียชีวิตแบบปริศนา ทำให้คดีนี้กลายเป็นที่จับตามองของสาธารณชนทั่วโลก 

เปิดไทม์ไลน์ \"วิกฤต Boeing\" ตลอดปี 2024

  • ไตรมาส 2-3

เหตุการณ์เปิดโปงภายในบริษัท Boeing ได้สร้างความสะเทือนให้กับวงการอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก เมื่อพนักงานจำนวนมากเริ่มออกมาเปิดเผยถึงปัญหาภายในบริษัทที่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยในการผลิตเครื่องบิน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้

ข้อมูลที่เปิดเผยชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ Boeing ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือการเร่งผลิตเครื่องบินให้ทันส่งมอบกับคำสั่งซื้อจำนวนมาก โดยละเลยขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไป จนเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น

พนักงานที่พยายามจะเปิดโปงปัญหาความปลอดภัยมักจะต้องเผชิญกับการข่มขู่และการคุกคามจากผู้บริหาร ทำให้พวกเขากลัวที่จะออกมาพูดความจริง ส่งผลให้ปัญหาเหล่านี้ถูกปกปิดไว้เป็นเวลานาน

เมื่อถึงจุดที่เกินรับไหวกับปัญหาที่เกิดขึ้น พนักงาน Boeing จึงตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านการชุมนุมประท้วงหน้าโรงงานหลายแห่ง พร้อมแฉเอกสารภายในที่แสดงให้เห็นถึงการละเลยความปลอดภัย และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการขอให้มีการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก

วิกฤตการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นของ Boeing ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับผู้บริหาร โดย Dave Calhoun ซีอีโอของบริษัทได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งพร้อมปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง

นอกจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแล้ว Boeing ยังได้ประกาศแผนปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่เพื่อกอบกู้สถานการณ์และสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา ซึ่งรวมถึงการทบทวนกระบวนการผลิตทั้งหมด การเพิ่มงบประมาณด้านความปลอดภัยและการควบคุมคุณภาพ การปรับปรุงการฝึกอบรมพนักงาน และการพัฒนาระบบรายงานปัญหา

เปิดไทม์ไลน์ \"วิกฤต Boeing\" ตลอดปี 2024

  • ไตรมาส 4

เครื่องบิน Boeing 737-800 ของสายการบิน Jeju Air ที่ไถลออกนอกรันเวย์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 179 คน  เป็นหนึ่งในเครื่องบินรุ่นยอดนิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

จากข้อมูลของ Cirium บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการบินพบว่ามีเครื่องบิน Boeing 737-800 ให้บริการอยู่ทั่วโลกประมาณ 4,400 ลำ หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของเครื่องบินโดยสารทั้งหมดทั่วโลก (ประมาณ 28,000 ลำ) โดย  737-800 เป็นรุ่นในตระกูล Next-Generation 737 (รุ่นก่อนหน้า 737 Max ที่เคยประสบอุบัติเหตุร้ายแรงสองครั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จนนำไปสู่การระงับการบินทั่วโลกของรุ่น Max)

ปัจจุบันมีสายการบินทั่วโลกกว่า 200 บริษัทที่เลือกใช้เครื่องบิน Boeing 737-800 โดยเฉพาะในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมถึงสายการบินชั้นนำของเกาหลีใต้ 5 สายการบิน ได้แก่  Jeju Air, T'way Air,  Jin Air, Eastar Jet และ Korean Air

เปิดไทม์ไลน์ \"วิกฤต Boeing\" ตลอดปี 2024

นับตั้งแต่ปี 1998  Boeing ได้ส่งมอบเครื่องรุ่น 737-800 ให้กับลูกค้าไปแล้วกว่า 5,000 ลำ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการบินสูงและสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก ส่วนอายุการใช้งานโดยทั่วไปของรุ่นดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 5-30 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น หากได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยเครื่องบินของ Jeju Air ที่เพิ่งเกิดอุบัติเหตุมีอายุการใช้งาน 15 ปี

เหตุการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่าส่งผลต่อความไว้วางใจของทั้งนักลงทุนและผู้โดยสารอย่างมาก จนก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า Boeing จะสามารถฟื้นฟูชื่อเสียงและกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติในปี 2025 มากน้อยเพียงใด