SpaceX เต็งหนึ่ง! ชิงสัญญา "Golden Dome" โล่ป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ
ศึกชิงสัญญา "Golden Dome" ระบบป้องกันขีปนาวุธสหรัฐฯ SpaceX นำทัพซิลิคอนวัลเลย์ชูเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ท้าชนยักษ์ใหญ่กลาโหม
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในแวดวงเทคโนโลยีกลาโหม สำนักข่าว Reuters รายงานว่า SpaceX บริษัทเทคโนโลยีอวกาศของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ พร้อมด้วยพันธมิตรอย่าง Palantir ผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ และ Anduril ผู้ผลิตโดรน
กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มตัวเต็งสำคัญในการคว้าสัญญาโครงการ "Golden Dome” ซึ่งเป็นระบบโล่ป้องกันขีปนาวุธผ่านดาวเทียม ที่ริเริ่มขึ้นตามแนวคิดของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
โครงการนี้ถือกำเนิดขึ้นหลังทรัมป์ลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อวันที่ 27 มกราคม โดยระบุว่าการโจมตีด้วยขีปนาวุธเป็น "ภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดที่สหรัฐฯ เผชิญ"
แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งสามบริษัทซึ่งก่อตั้งโดยผู้ประกอบการที่มีความเชื่อมโยงและให้การสนับสนุนทรัมป์ทางการเมือง ได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอสำหรับองค์ประกอบสำคัญของโครงการนี้
โดยตัวอีลอน มัสก์เอง เคยบริจาคเงินสนับสนุนทรัมป์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวบางรายชี้ว่า แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ต่อกลุ่มของ SpaceX
แต่กระบวนการคัดเลือกสำหรับโครงการ "Golden Dome” ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และโครงสร้างสุดท้ายรวมถึงผู้รับสัญญาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
แผนดาวเทียมหมื่นล้าน กับโมเดลสร้างความต่าง
ตามรายงานจาก Reuters ตัวแทนจากทั้งสามบริษัทได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและเพนตากอน เพื่อนำเสนอแผนการสร้างเครือข่ายดาวเทียมจำนวน 400 ถึง 1,000 ดวง อตรวจจับและติดตามขีปนาวุธ
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงกองทัพดาวเทียมติดอาวุธ (ขีปนาวุธหรือเลเซอร์) อีกราว 200 ดวง สำหรับทำลายเป้าหมาย แต่แหล่งข่าวระบุว่ากลุ่ SpaceX จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนการติดอาวุธนี้
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอของ SpaceX ที่จะให้บริการในส่วนของตนเองในรูปแบบ "subscription service" แทนที่รัฐบาลจะเป็นเจ้าของระบบโดยตรง
โมเดลนี้อาจช่วยเร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของเพนตากอนให้เร็วขึ้น แต่ก็สร้างความกังวลภายในเพนตากอนบางส่วน เกี่ยวกับการพึ่งพิงรูปแบบสมาชิกสำหรับโครงการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง และอาจทำให้รัฐบาลสูญเสียการควบคุมในระยะยาว
ทั้งนี้ SpaceX และอีลอน มัสก์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของมัสก์ในการเจรจาสัญญา ขณะที่เพนตากอน และทำเนียบขาว รวมถึง Palantir และ Anduril ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามในประเด็นนี้
ซิลิคอนวัลเลย์ ท้าชน ยักษ์ใหญ่กลาโหม
หาก SpaceX ชนะดีลสัญญาครั้งนี้ จะถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของบริษัทเทคโนโลยีจากซิลิคอนวัลเลย์ในอุตสาหกรรมกลาโหม และเป็นการท้าทายผู้รับเหมารายใหญ่อย่าง
Northrop Grumman, Boeing, RTX และ Lockheed Martin ซึ่งต่างก็แสดงความสนใจในโครงการนี้เช่นกัน ซึ่งเพนตากอนกำลังให้ความสนใจบริษัทกว่า 180 แห่ง รวมถึงสตาร์ทอัพด้านกลาโหมหน้าใหม่หลายราย
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ต้นทุนรวมของโครงการ Golden Dome อาจสูงถึงหลายแสนล้านดอลลาร์ โดยเพนตากอนได้กำหนดกรอบเวลาส่งมอบขีดความสามารถเป็นระยะ ตั้งแต่ต้นปี 2026 ไปจนถึงหลังปี 2030
ทั้งนี้ ในส่วนของ SpaceX ได้เสนอตัวสำหรับส่วนที่เรียกว่า custody layer ของโครงการ ซึ่งคือเครือข่ายดาวเทียมตรวจจับและติดตามขีปนาวุธ
โดยประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับส่วนนี้ไว้ที่ 6-1 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้วยศักยภาพด้านจรวดและดาวเทียมที่มีอยู่ ทำให้ SpaceX อาจมีความได้เปรียบด้านกรอบเวลาที่เร่งรัด
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามสำคัญว่า SpaceX ไม่เคยมีประสบการณ์ส่งมอบระบบป้องกันประเทศขนาดใหญ่และซับซ้อนเช่นนี้ จะสามารถทำภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเชื่อถือได้เพียงพอสำหรับปกป้องความมั่นคงของชาติได้จริงหรือไม่