ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 เปลี่ยนจีนจากโรงงานโลก สู่ ผู้นำเทคฯ

19 เมษายน 2568

ส่องยุทธศาสตร์ "Made in China 2025" แผนภาพอนาคตที่จะเปลี่ยนโฉมจีนจากโรงงานโลก สู่มหาอำนาจทางเทคโนโลยีและการผลิตขั้นสูงที่พึ่งพาตนเองได้

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้จุดประกายความทะเยอทะยานครั้งสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลก ด้วยแผนยุทธศาสตร์ "Made in China 2025"

 

แผนภาพอนาคตที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนโฉมจีนจากโรงงานโลกที่พึ่งพาการผลิตปริมาณมาก ไปสู่มหาอำนาจทางเทคโนโลยีและการผลิตขั้นสูงที่พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลจากนานาชาติ

 

สำนักข่าว CNBC เผยว่ารายงานฉบับล่าสุดจากหอการค้ายุโรปในประเทศจีน ได้นำเสนอภาพประเมินผลที่น่าสนใจ เผยให้เห็นทั้งความก้าวหน้าที่น่าทึ่ง และเป้าหมายสำคัญที่ยังคงหลุดมือไป พร้อมทั้งเปิดโปงด้านมืดของการแข่งขันที่ดุเดือดภายในประเทศ

 

ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 เปลี่ยนจีนจากโรงงานโลก สู่ ผู้นำเทคฯ

แผน "Made in China 2025" ถือกำเนิดขึ้นในปี 2558 และถูกวิจารณ์อย่างมากในระดับนานาชาติว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจจีนภายในประเทศ

 

แม้จีนจะลดท่าทีลงในภายหลัง แต่จิตวิญญาณแห่งการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีก็กลับมาลุกโชนอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

โดยได้รับแรงกระตุ้นโดยตรงจากข้อจำกัดและมาตรการกีดกันที่เข้มงวดขึ้นจากสหรัฐอเมริกา

 

รายงานของหอการค้ายุโรปฯ ได้ฉายภาพความสำเร็จและความล้มเหลวของแผน MIC 2025 อย่างละเอียด โดยชี้ว่า

 

จีนทำได้เกินเป้าหมายในการยึดครองตลาดรถยนต์ภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

 

ทว่าในภาคส่วนอื่นๆ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของแผน เช่น อวกาศ, หุ่นยนต์ระดับสูง และเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าในภาคการผลิต ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

 

นอกจากนี้ ข้อมูลยังเผยว่า จาก 10 ภาคอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ในแผนมุ่งเน้น จีนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริงเพียง 3 ด้านเท่านั้น ได้แก่

ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 เปลี่ยนจีนจากโรงงานโลก สู่ ผู้นำเทคฯ

อุตสาหกรรมการต่อเรือซึ่งมีประวัติยาวนาน, ระบบรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ ด้านรายงานยังชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพิงเทคโนโลยีภายนอก เช่น  เครื่องบิน C919 ที่จีนพัฒนาเอง ยังพึ่งพาชิ้นส่วนสหรัฐฯ ยุโรปอยู่มาก

 

ขณะที่การใช้ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็มาจากเทคโนโลยีต่างชาติ 

 

เยนส์ เอสเคลันด์ ประธานหอการค้ายุโรปในจีน แสดงความเห็นในมุมมองที่น่าคิด โดยกล่าวว่า

"ทุกคนควรถือว่าตัวเองโชคดีที่จีนพลาดเป้าหมายการเติบโตด้านการผลิต"

 

หากจีนทำได้ตามเป้าหมายที่ทะเยอทะยานเหล่านั้นสำเร็จ ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันและสร้างความยากลำบากให้กับคู่แข่งในตลาดโลกมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว 

 

ความก้าวหน้าที่น่าทึ่งนี้สะท้อนได้จากตัวเลขสัดส่วนมูลค่าเพิ่มภาคการผลิตทั่วโลกที่จีนครอบครองอยู่ ปัจจุบันอยู่ที่ 29% ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับสัดส่วนรวมกันของสหรัฐฯ และยุโรปแล้ว 

 

ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ (CSIS) ให้มุมมองว่า การควบคุมการส่งออกชิปของชาติตะวันตกอาจประสบความสำเร็จในการชะลอความพยายามของจีนได้ชั่วคราว

 

แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนสำหรับบริษัทตะวันตกเอง และที่สำคัญกว่านั้นคือ อาจยิ่งผลักดันให้จีนเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งในระยะยาวอาจสร้างความท้าทายใหม่ต่อระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ

 

แม้แผน "Made in China 2025" อาจไม่บรรลุเป้าเชิงปริมาณทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เร่งให้จีนก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ และพลิกโฉมภูมิทัศน์การแข่งขันระดับโลกอย่างมหาศาล 

 

Thailand Web Stat