ชวนมองโดมิโนเอฟเฟกต์เศรษฐกิจโลก หากทรัมป์ปลด "ประธานเฟด" ตามใจ
ชวนวิเคราะห์ อนาคตจุดเสี่ยงเศรษฐกิจโลก... จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์ปลดประธานเฟด "เจอโรม พาวเวลล์"? ความสำคัญของธนาคารกลางอิสระ ที่ไม่อาจมองข้าม
ในโลกที่การเมืองมักเข้ามาพัวพันกับทุกอณูของชีวิต คำถามเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของระบบการเงินกลับถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
สำนักข่าว CNN เผยข้อมูลว่า จากท่าทีล่าสุดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ทรงอิทธิพลอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่พุ่งเป้าโจมตีธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ "เฟด" และตัวประธานอย่างเจอโรม พาวเวลล์
ที่ไม่เพียงแต่สร้างแรงสั่นสะเทือนในตลาดการเงินเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำให้เห็นถึงคุณค่าที่ไม่อาจมองข้ามของสถาบันที่เรียกว่า "ธนาคารกลางอิสระ"
ถ้อยคำอันดุเดือดที่หลุดออกมาจากปากของทรัมป์ ราวกับต้องการส่งสัญญาณไปถึงทุกฝ่าย
"ถ้าผมอยากให้เขาไป เขาก็ต้องกุลีกุจอออกไปอย่างรวดเร็ว เชื่อผมเถอะ"
น้ำเสียงจากปากผู้ปกครองสหรัฐฯ เต็มไปด้วยความไม่พอใจที่ พาวเวลล์ ไม่ยอมก้มหัวทำตามความต้องการของเขา นั่นคือ การเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยด่วน
ซึ่งทรัมป์เชื่อมั่นว่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการจุดพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุนตลาดหุ้น และที่สำคัญที่สุด คือการปูทางไปสู่ชัยชนะทางการเมืองของตนเอง
แต่อีกด้านหนึ่งคือ เฟด ถือว่าเป็น "ธนาคารกลางอิสระ และไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐสภา”
เนื่องจากการการตัดสินใจนโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีหรือบุคคลอื่นใดในอำนาจบริหารหรือสภานิติบัญญัติ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกดดันทางการเมืองในแบบที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังทำ
ภารกิจของเฟดคือ ดูแลนโยบายทิศทางการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง เช่น อัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ และปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งเป็นภารกิจที่บางครั้งอาจขัดแย้งกับความต้องการระยะสั้นของผู้ร่างกฎหมายและประธานาธิบดี
ขณะที่ พาวเวลล์ ในฐานะผู้กุมบังเหียน ไม่ได้มีหน้าที่เพียงทำตามความประสงค์ของนักการเมือง แต่ต้องตัดสินใจโดยพิจารณาจากข้อมูลและแนวโน้มทางเศรษฐกิจ
แม้ก่อนหน้านี้ เฟดจะเคยลดดอกเบี้ยมาแล้วหลายครั้งเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย
แต่เมื่อมองเห็นสัญญาณความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากนโยบายที่คาดเดายากของทำเนียบขาว เฟดก็เลือกที่จะใช้ความระมัดระวัง
และเมื่อพาวเวลล์ออกมาเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า นโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์จะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น เงินเฟ้อเพิ่ม และอาจกระทบการจ้างงาน ซึ่งเป็นมุมมองที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้อง
กลับยิ่งสร้างความขัดแย้งกับความเชื่อของทรัมป์ที่มองว่า "ภาษีตอบโต้คือยาวิเศษทางเศรษฐกิจ"
นี่คือแก่นแท้ของปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่ความขัดแย้งส่วนบุคคล แต่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างเจตจำนงทางการเมืองระยะสั้น กับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นเสถียรภาพระยะยาว
เฟดถูกตั้งขึ้นให้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ เพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายการเงินที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนนับล้าน ไม่ถูกครอบงำด้วยแรงกดดันหรือผลประโยชน์เฉพาะหน้า
ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นอย่างไร หากอำนาจในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมเศรษฐกิจ ไปตกอยู่ในมือของผู้นำทางการเมืองเพียงคนเดียว?
ตลาดการเงินทั่วโลกคงจะเข้าสู่ภาวะปั่นป่วนอย่างรุนแรง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสั่นคลอนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เงินเฟ้ออาจพุ่งทะยานจนควบคุมไม่อยู่
ที่ร้ายแรงที่สุด คือชื่อเสียงของอเมริกาในฐานะประเทศที่มีระบบการเงินแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือบนเวทีโลก จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
แม้แต่นักการเมืองที่เคยแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับพาวเวลล์ในบางประเด็น อย่างวุฒิสมาชิกเอลิซาเบธ วอร์เรน ก็ยังต้องออกมาปกป้องความเป็นอิสระของเฟดอย่างแข็งขัน
เธอย้ำเตือนว่า การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจปลดประธานเฟดได้ตามอำเภอใจ จะนำมาซึ่งความพังทลายของตลาด สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับอารมณ์หรือผลประโยชน์ของผู้นำไม่ต่างอะไรกับประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ
ซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจแขวนอยู่บนเส้นด้าย โดยขึ้นอยู่กับว่าผู้นำจะตื่นมาด้วยอารมณ์แบบไหน
อย่างไรก็ตาม การโจมตีเหล่านี้สวนทางกับผลงานของพาวเวลล์โดยสิ้นเชิง เขาได้นำพาเฟดบริหารจัดการเศรษฐกิจผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดครั้งหนึ่ง ทั้งการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตการณ์ที่ตามมา
พาวเวลล์สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เคยพุ่งสูงกว่า 9% ให้ลดลงมาอยู่ที่ระดับปัจจุบันที่ประมาณ 2.4% ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดภาวะว่างงานครั้งใหญ่
ซึ่งถือเป็น "การลงจอดอย่างนุ่มนวล" ที่นักวิเคราะห์หลายคนเคยมองว่าเป็นไปไม่ได้
แน่นอน! หลายคนคงอดคิดไม่ได้ว่าทรัมป์อาจแค่หาที่ระบายอารมณ์จากความอัดอั้น ซึ่งเขาเคยทำมาแล้วในอดีต
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ในคณะบริหารชุดใหม่นี้คนที่พร้อมเอาน้ำเย็นเข้าลูบ สงบสติท่านประธานาธิบดี ดูจะมีเพียงหยิบมือ
นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ก็สะท้อนให้เราเห็นว่า "ผู้ที่พยายามทัดทาน ขัดขวางผู้นำ อาจต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่สวยงามนัก"
สถานการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงต้องรับมือกับผลกระทบต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของทรัมป์ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งสร้างความปั่นป่วนไม่น้อย
ราคาสินค้าบางประเภทสูงขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง และมีความกังวลว่าเศรษฐกิจอาจชะลอตัวจนเข้าใกล้ภาวะถดถอย
นี่คือช่วงเวลาที่เสถียรภาพและความแน่นอนจากสถาบันอย่างเฟดมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
ท้ายที่สุด แม้เพียงแค่คำพูดขู่กรายๆ จากผู้นำทางการเมือง ก็เพียงพอที่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสร้างความไม่แน่นอนในตลาดได้แล้ว
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมประธานาธิบดีส่วนใหญ่ในอดีต จึงเข้าใจว่านโยบายอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีความสำคัญและส่งผลกระทบมหาศาล
แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเฟด ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ได้ตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
บทเรียนจากท่าทีของทรัมป์ในครั้งนี้ จึงเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เห็นอีกครั้งถึงความจำเป็นของการรักษาสถาบันหลักของชาติให้ปลอดพ้นจากอิทธิพลการเมืองระยะสั้น เพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับทุกคน