คอนเคลฟ: เบื้องหลังการเลือกตั้งประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก

28 เมษายน 2568

เมื่อพระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ หรือสละตำแหน่ง กระบวนการที่เก่าแก่ที่สุดของโลกก็เริ่มขึ้น คือการคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งพระองค์ใหม่ ที่เรียกว่า "คอนเคลฟ" (conclave)

คำว่า "คอนเคลฟ" มาจากภาษาละตินที่แปลว่า "ห้องที่สามารถล็อกได้" "ห้องปิด" หรือ "มาพร้อมกับกุญแจ" สะท้อนถึงลักษณะการประชุมที่ต้องแยกตัวจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง

 

ประวัติศาสตร์และที่มา

 

การประชุม คอนเคลฟ มีต้นกำเนิดใน "ยุคกลาง" ศตวรรษที่ 13 ในสมัยพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 10 เพื่อจัดการกับการเลือกตั้งที่เคยใช้เวลายาวนานมาก เช่น การเลือกตั้งของพระองค์เองซึ่งกินเวลาเกือบสามปี กระบวนการนี้ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการเลือกตั้งที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี โดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

ใครมีสิทธิเลือกตั้ง?

 

ผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่คือสมาชิกของ "คณะพระคาร์ดินัล" (College of Cardinals) ซึ่งเป็นนักบวชอาวุโสผู้มีสมณศักดิ์สูงสุดของศาสนจักร พระคาร์ดินัลเหล่านี้ได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาแต่ละองค์

 

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดคือ พระคาร์ดินัลที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปีเท่านั้น ที่มีสิทธิออกเสียงใน คอนเคลฟ ปัจจุบัน มีสมาชิก คณะพระคาร์ดินัล ทั้งหมด 252 รูป แต่มีเพียง 138 รูปเท่านั้นที่มีคุณสมบัติในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด  (โดย 3 คนสละสิทธิ) จึงเหลือ 135 รูป ซึ่งจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงมักจะจำกัดไว้ที่ประมาณ 100-120 คน หรือ 120 รูปตามปกติ แต่เพิ่มขึ้นเนื่องจากพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่

 

ในทางทฤษฎี ชายชาวคาทอลิกทุกคนที่ผ่านพิธีรับศีลล้างบาปแล้วสามารถได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาได้ แต่ในทางปฏิบัติมีเพียง พระคาร์ดินัล เท่านั้นที่จะได้รับเลือก

คอนเคลฟ: เบื้องหลังการเลือกตั้งประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก

 

กระบวนการก่อนเริ่มคอนเคลฟ

 

ก่อนเริ่ม คอนเคลฟ คณะพระคาร์ดินัลจะประชุมในสิ่งที่เรียกว่า "การประชุมใหญ่สามัญ" (general congregations) เพื่อหารือถึงประเด็นที่ศาสนจักรกำลังเผชิญ ซึ่งเป็นโอกาสให้พระคาร์ดินัลจากทั่วโลกได้ทำความรู้จักกัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานศพและสวดภาวนาเป็นเวลาประมาณ 9 วัน (ซึ่งยืดหยุ่นได้)

 

การเริ่มต้นคอนเคลฟ

 

คอนเคลฟ จะเริ่มต้นขึ้นในเวลาประมาณสองถึงสามสัปดาห์หลังพิธีศพของพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัลที่มีสิทธิเลือกตั้งจะเดินทางเป็นขบวนเข้าสู่ โบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ซึ่งมีชื่อเสียงจากภาพจิตรกรรมฝาผนังเพดานที่วาดโดย มีเกลันเจโล ขณะเดินเข้าโบสถ์ จะมีการร้องเพลงสวดภาษาละติน "Come Holy Spirit"

 

ภายใน โบสถ์น้อยซิสทีน จะมีการติดตั้งเครื่องรบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันการดักฟัง และตัดสัญญาณ Wi-Fi รวมถึงโทรศัพท์มือถือ พระคาร์ดินัลจะต้องสาบานว่าจะรักษาความลับของการประชุม

 

หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการ ผู้อำนวยการพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพระสันตะปาปาจะกล่าวเสียงดังเป็นภาษาละตินว่า "Extra Omnes" ซึ่งแปลว่า "ทุกคนออกไป" จากนั้นประตูของ โบสถ์น้อยซิสทีน จะถูกปิดล็อก และพิธี คอนเคลฟ จะเริ่มขึ้น พระคาร์ดินัล ผู้มีสิทธิออกเสียงจะถูกกักบริเวณภายในสำนักวาติกันจนกว่าจะประกาศผล

คอนเคลฟ: เบื้องหลังการเลือกตั้งประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก

 

การลงคะแนนเสียงเลือกพระสันตะปาปา

 

1.พระคาร์ดินัลจะเขียนชื่อผู้ที่ต้องการเลือกลงบนกระดาษ โดยเขียนไว้ใต้ข้อความภาษาละติน "Eligio in Summum Pontificem" ซึ่งหมายถึง "ข้าพเจ้าขอเลือกให้ผู้เป็นอัครบิดรคือ..." มีคำแนะนำให้เขียนด้วยลายมือที่ผิดแปลกจากปกติเพื่อรักษาความลับ

 

2.นำบัตรไปหย่อนลงในภาชนะพิเศษ หรือ โกศที่ตั้งอยู่หน้าผู้ตรวจนับ ขณะวางบัตรลง จะกล่าวคำสาบานต่อพระคริสต์ว่าเลือกคนที่ตนเชื่อว่าเหมาะสมที่จะได้รับเลือกจากพระเจ้า

 

3.ผู้แทนหรือผู้ตรวจนับ (scrutinizers) ที่สุ่มเลือกมา 3 คน จะรวบรวมและอ่านบัตรลงคะแนนออกเสียง

 

การลงคะแนนจะจัดขึ้นใน โบสถ์น้อยซิสทีน โดยในวันแรกจะมีการลงคะแนน 1 ครั้ง จากนั้นในวันที่สองเป็นต้นไป จะลงคะแนนวันละ 4 รอบ คือ 2 รอบเช้า และ 2 รอบบ่าย การเลือกตั้งจะต้องได้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 บวกหนึ่งเสียง จึงจะถือว่าได้รับการเลือกตั้ง

 

หากไม่มีผู้ใดได้รับเลือกภายใน 13 วัน (ตามกฎที่กำหนดโดยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) จะมีการจัดวันอธิษฐานและไตร่ตรอง จากนั้นจะจำกัดตัวเลือกให้เหลือเพียง 2 ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด แต่ยังคงต้องได้เสียง 2 ใน 3 บวก 1 เสียง เช่นเดิม  

 

ควันจากปล่องควัน: สัญญาณแจ้งผล

 

ตลอดการประชุม คอนเคลฟ จะมีการเผาทำลายบัตรลงคะแนนเสียงที่ใช้แล้ววันละสองครั้ง ควันที่ลอยขึ้นจากปล่องไฟของ โบสถ์น้อยซิสทีน จะเป็นสัญญาณแจ้งผลต่อชาวโลก

 

-ควันดำ (fumata nera): ยังเลือกไม่ได้ ในปัจจุบันมีการเติมสารเคมีเพื่อให้ควันมีสีดำชัดเจน

คอนเคลฟ: เบื้องหลังการเลือกตั้งประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก

 

-ควันขาว (fumata bianca): ได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว บัตรลงคะแนนจะถูกเผาเพื่อให้เกิดควันสีขาวเมื่อมีผู้ได้รับเลือกและยอมรับตำแหน่ง

คอนเคลฟ: เบื้องหลังการเลือกตั้งประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก

ประเพณีควันสีนี้เริ่มต้นในสมัยการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ในปี 1914 และเคยเกิดความสับสนในเรื่องสีควันในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2

 

หลังการเลือกตั้ง

 

เมื่อมีผู้ได้รับเลือกและได้คะแนนเสียงตามเกณฑ์แล้ว จะมีการถามว่า "คุณจะยอมรับการเลือกตั้งตามหลักกฎหมายในฐานะพระสันตะปาปาสูงสุดหรือไม่" หรือ "ท่านจะยอมรับการเลือกตั้งตามจารีต ซึ่งเลือกให้ท่านเป็นอัครบิดรหรือไม่" หากผู้ถูกเลือกตอบว่า "Accepto" หรือ "ข้ายอมรับ" เขาก็จะกลายเป็นผู้นำคนใหม่ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก

 

จากนั้น ผู้ได้รับเลือกจะตัดสินใจเลือก พระนาม ที่จะใช้เป็นพระนามสันตะปาปา การเลือกชื่อมักบ่งบอกทิศทางของสมณสมัย ตัวอย่างเช่น ฮอร์เฮ มาริโอ แบร์โกลิโอ เลือกชื่อ "ฟรานซิส" เพื่อเป็นเกียรติแก่เซนต์ฟรานซิสแห่งอัสซีซี ซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความเรียบง่าย พระองค์เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่ใช้ชื่อนี้

 

พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะถูกนำไปยัง "ห้องแห่งน้ำตา" (Room of Tears) ซึ่งอยู่ติดกับ โบสถ์น้อยซิสทีน เพื่อไตร่ตรองถึงภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ที่นั่นพระองค์จะสวมชุดทางการของประมุขศาสนจักร จากนั้นคณะพระคาร์ดินัลจะเข้าถวายความเคารพและสัตย์ปฏิญาณ

 

การเลือกตั้งจะถูกประกาศจากระเบียงของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ พระคาร์ดินัลโปรโตเดอาคอน จะออกมาประกาศด้วยคำภาษาละตินว่า "Habemus Papam" ซึ่งแปลว่า "เรามีพระสันตะปาปาแล้ว" พร้อมประกาศ พระนาม ของพระสันตะปาปาองค์ใหม่ จากนั้น พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก และให้พรแรกแก่ชาวโลกด้วยคำภาษาละติน "Urbi et Orbi" ซึ่งหมายถึงการประทานพรแด่ชาวกรุงโรมและชาวโลก สมณสมัยใหม่จึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

คอนเคลฟ: เบื้องหลังการเลือกตั้งประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก

เกร็ดน่ารู้

*ผลการเลือกตั้งแต่ละรอบจะถูกนำขึ้นถวายพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ปิดผนึก และเก็บรักษาในหอจดหมายเหตุของวาติกัน เปิดออกดูได้เมื่อพระองค์มีพระบัญชาเท่านั้น

*การประชุม คอนเคลฟ มักจะจบลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยในช่วงพระสันตะปาปา 10 องค์ที่ผ่านมา ใช้เวลาประมาณ 3 วัน การเลือกตั้งพระสันตะปาปาฟรานซิสในปี 2556 ใช้เวลาเพียง 2 วัน โหวต 5 ครั้ง ส่วนพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ใช้ 4 ครั้ง

*แต่บางครั้งการลงคะแนนก็ยืดเยื้อมาก กรณีที่ยาวนานที่สุดในยุคกลางคือ 2 ปี 9 เดือน กับ 2 วัน ส่วนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในปี 1740 ใช้เวลา 181 วัน

*พระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นพระสันตะปาปาที่ไม่ใช่ชาวยุโรปองค์แรกในรอบเกือบ 1,300 ปี และยังเป็นพระสันตะปาปาจากคณะเยสุอิตพระองค์แรก  

*คณะพระคาร์ดินัลมักถูกครอบงำโดยชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวอิตาเลียน พระคาร์ดินัลที่ไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่มีสิทธิออกเสียงใน คอนเคลฟ เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ปัจจุบันมีสมาชิกจากกว่า 90 ประเทศ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแต่งตั้งสมาชิกเกือบ 80% ของทั้งหมด

Thailand Web Stat