‘ฉีผาว’ กี่เพ้า...กี่สมัย งดงามตลอดกาล
‘รอยรัก แรงแค้นจากปรภพ ฝังลึกในกี่เพ้าชุดงาม
‘รอยรัก แรงแค้นจากปรภพ ฝังลึกในกี่เพ้าชุดงาม
โดย...จตุรภัทร หาญจริง
‘รอยรัก แรงแค้นจากปรภพ ฝังลึกในกี่เพ้าชุดงาม
ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด
โบตั๋นกลีบบาง...ยังคงรอวันหวนกลับคืน’
นอกจากความเข้มข้นของละครแนวดรามาทริลเลอร์เรื่องกี่เพ้า ที่เดินทางมาถึงตอนอวสานในวันนี้แล้ว ความงดงามของงานตัดเย็บที่รวมเอาศิลปะหลายแขนงไว้ในชุดกี่เพ้าหรือฉีผาว ตามการออกเสียงของคนจีน ยังทำให้ผู้คนกล่าวขวัญถึง และหันมาให้ความสนใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีนผ่านเครื่องแต่งกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
หากกี่เพ้าในละครคือที่มาของความลับที่รอวันคลี่คลาย กี่เพ้าในชีวิตจริงก็มีเรื่องราวอันน่าสนใจที่รอวันให้ผู้คนทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงเครื่องแต่งกายอันงดงามที่ไม่แพ้เครื่องแต่งกายจากชนชาติใดในโลก
ความเป็นมาของชุดกี่เพ้า
กี่เพ้า หรือ ฉีผาว โดยมากมักหมายถึงชุดเสื้อคลุมยาว เมื่อผ่านวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัยจนมาถึงสมัยราชวงศ์ชิง จึงได้มีการตีความหมายจากตัวอักษรคำว่าฉีผาว ว่าหมายถึงชุดเสื้อคลุมยาวที่ชาวกองธงทั้งชายและหญิงสวมใส่ (“ฉี” แปลว่า ธง “ผาว” แปลว่า ชุดเสื้อคลุมยาว)
กี่เพ้าเป็นงานตัดเย็บที่รวมเอาศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการอำพรางจุดด้อยบนร่างกาย หัตถกรรมการปักลวดลาย ภาพดอกไม้และนก หรือภาพอื่นๆ ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจีนได้เป็นอย่างดี แต่ละลวดลายบนกี่เพ้ายังสะท้อนคติความเชื่อของชาวจีนที่คัดเลือกเฉพาะลายมงคลมาตัดเย็บไว้บนกี่เพ้า เช่น ลายดอกโบตั๋น ที่หมายถึงโชคลาภ ความยุติธรรม ขณะที่ดอกเหมยหรือราชินีดอกไม้แห่งฤดูหนาว สื่อถึงอายุที่ยืนยาว มีเพียงบางลายที่สงวนไว้เฉพาะราชสำนักเท่านั้น เช่น ลายมังกร 5 นิ้ว เครื่องหมายของรัชทายาท และมังกร 9 นิ้ว ที่สื่อถึงจักรพรรดิและจักรพรรดินี
ปกปิดแต่เปิดเผย คือเอกลักษณ์ของชุดกี่เพ้าที่ดูเรียบร้อยจากชายกระโปรงยาวเกือบถึงพื้น หากแฝงเสน่ห์ของความเป็นหญิงในขณะเดียวกัน จนขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งชุดแต่งกายประจำชาติที่น่าจดจำมากที่สุด เพราะเป็นชุดที่เน้นทรวดทรงของผู้สวมใส่ ทั้ง หน้าอก เอว สะโพก รวมถึงเรียวขา ชุดกี่เพ้าจึงบ่งบอกค่านิยมการเอาใจใส่ดูแลรูปร่างของสตรีชาวจีน เช่นเดียวกับประเพณีการรัดเท้า
วิวัฒนาการของชุดกี่เพ้า
กี่เพ้าเป็นชุดที่ดัดแปลงมาจากชุดของหญิงชาวแปดกองธงในสมัยราชวงศ์ชิง กี่เพ้าเป็นเครื่องแต่งกายที่เกิดจากการหลอมรวมเป็นหนึ่งของชนชาติต่างๆ ของจีน และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวจีน ต่อมาชาวฮั่นได้นำมาสวมใส่และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยขึ้นโดยอาศัยแบบเก่าเป็นพื้นฐาน จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาเป็นชุดกี่เพ้ายุคแรกที่เป็นที่นิยมทั่วประเทศจีน ต่อมาเมื่อเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกแพร่หลายเข้ามาในประเทศจีน ก็ได้มีการดัดแปลงชุดกี่เพ้าให้เข้ากับลักษณะเด่นของชุดแบบตะวันตก กลายเป็นชุดกี่เพ้าแบบใหม่ที่เรียบง่ายและแพร่หลายสู่คนทั่วไปมากขึ้น
ช่วงสมัยที่ 1 ยุคเริ่มต้นสมัยของราชวงศ์ชิงยุคเริ่มต้นสาธารณรัฐ (ปี ค.ศ. 1616-1911)
ชุดกี่เพ้าที่สาวแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิงสวมใส่กันมีลักษณะค่อนข้างหลวม กว้าง ใหญ่ ตรง และยาวถึงเท้า เนื้อผ้าที่ใช้ล้วนเป็นผ้าต่วนลายปักตรงบริเวณปกคอ ส่วนหน้าของเสื้อและขอบแขนล้วนใช้ผ้ากว้างกุ๊นขอบทั้งสิ้น พอถึงปลายราชวงศ์ชิงเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ ชุดกี่เพ้าจะผสมแบบชาวฮั่น ที่แยกกระโปรงกับเสื้อเป็นสองชิ้น ช่วงแขนจะสั้นลงและกว้างขึ้น
ช่วงสมัยที่ 2 ยุคก่อนปฏิวัติวัฒนธรรมยุคสมัยปฏิรูปเปิดประเทศ (ปี ค.ศ. 1911-1949)
ชุดกี่เพ้าเริ่มเป็นที่นิยมกันแพร่หลายขึ้น รูปแบบของชุดไม่ค่อยแตกต่างจากในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายมากนัก แต่ต่อมาไม่นาน แขนเสื้อของกี่เพ้าก็ค่อยๆ สั้นลง ขอบที่กุ๊นก็ไม่ใหญ่เหมือนเมื่อก่อน ปลายทศวรรษที่ 20 เนื่องจากได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากของชาวยุโรปและอเมริกา รูปแบบของกี่เพ้าจึงได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กี่เพ้าขณะนั้นจากเดิมที่เคยเห็นว่ายาวก็หดสั้นลง ดัดแปลงให้เข้ารูปมากกว่าเมื่อก่อน และยังสามารถให้เห็นถึงส่วนเว้าโค้งของเพศหญิงได้มากยิ่งขึ้น
เมื่อมาถึงทศวรรษที่ 30 ถือว่าเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมากของชุดกี่เพ้า แรกเริ่มนิยมปกคอสูง ปกคอเสื้อยิ่งสูงยิ่งทันสมัย แต่ต่อมาไม่นานก็เริ่มนิยมปกคอต่ำ ปกคอเสื้อยิ่งต่ำยิ่ง “โมเดิร์น” จนกระทั่งมีการสวมใส่ชุดกี่เพ้าที่ไม่มีปกกันขึ้น การเปลี่ยนแปลงของแขนเสื้อบางครั้งก็นิยมแขนยาวมาก ยาวจนเลยข้อมือ บางครั้งก็นิยมแขนสั้น สั้นจนเห็นศอก ส่วนความยาวของชุด มีอยู่ช่วงหนึ่งนิยมชุดยาว ยาวจนกระทั่งชายกระโปรงด้านหน้าหลังลากพื้นไปเลยก็มี แต่ต่อมาก็นิยมเป็นชุดสั้น สั้นจนเหนือเข่าขึ้นมา
ช่วงสมัยที่ 3 หลังการปฏิรูปเปิดประเทศยุคปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 1949-ปัจจุบัน)
ตั้งแต่ทศวรรษที่ 40 เป็นต้นมา รูปแบบของชุดกี่เพ้าก็มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนเป็นชุดแขนกุด ลดความยาวของชุดลง และลดระดับความสูงของปกเสื้อลง ทำให้ชุดกี่เพ้ายิ่งเพิ่มความสะดวกสบายในการสวมใส่มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นแบบฉบับของชุดกี่เพ้าในปัจจุบัน ในช่วงแรกของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน การที่หญิงสาวสวมใส่ชุดกี่เพ้ายังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแพร่หลาย แต่ต่อมาเนื่องด้วยเหตุผลนานัปการ ผู้ที่สวมใส่ชุดกี่เพ้ายิ่งลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ชุดกี่เพ้าถือเป็นชุดประจำชาติที่ยังคงสืบทอดต่อกันมาในประเทศจีน ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่ง เส้นสายของชุดกี่เพ้าที่เรียบง่ายและสวยงาม ลักษณะการตัดเย็บอย่างง่ายๆ และสุภาพเรียบร้อย ค่อนข้างเหมาะสำหรับให้หญิงสาวสวมใส่ อีกทั้งยังมีบทบาทอยู่บ้างในระดับสากล ไม่กี่ปีมานี้ นักออกแบบเสื้อผ้าของประเทศจีนได้มีการรวบรวมพลังความคิดเพื่อประโยชน์แห่งมวลชน เปลี่ยนแปลงเสื้อผ้าแบบเก่าและพัฒนาแบบใหม่ๆ ขึ้น โดยนำเอารูปแบบชุดกี่เพ้าแบบดั้งเดิมกับรูปแบบเสื้อผ้าสมัยใหม่มาผสมผสานกันขึ้น ทำให้ลักษณะอันงดงามและความเป็นสมัยใหม่ของชุดกี่เพ้าได้ปรากฏต่อสาธารณชนในปัจจุบัน
&<2288;
&<2288;
&<2288;