พลังแห่งรัก ชนะ ‘ออทิสติกเทียม’
ใครจะคาดคิดว่าด้วยยุคของการติดต่อสื่อสารที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยค่อนข้างมาก
โดย...มีนา ภาพ : มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม และ กิจจา อภิชนรจเรข
ใครจะคาดคิดว่าด้วยยุคของการติดต่อสื่อสารที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยค่อนข้างมาก สังคมเมืองที่คุณพ่อคุณแม่บางท่านรู้เท่าไม่ถึงการณ์เลี้ยงลูกให้เติบโตหน้าจอทีวี ส่งแท็บเล็ตให้ลูกเล่นเมื่อออกไปใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์กินข้าวกับเพื่อน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เด็กไทยมีภาวะ “ออทิสติกเทียม” มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ซึ่งภาวะนี้มักเกิดในครอบครัวที่มีฐานะดี ทว่าก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่หากผู้ปกครองรู้ว่าลูกมีภาวะดังกล่าวแล้วยอมรับ กระตุ้นพัฒนาการของลูกด้วยพลังแห่งรักเสียแต่เนิ่นๆ ภาวะ “ออทิสติกเทียม” ก็จะดีขึ้น และกลายเป็นเด็กปกติในที่สุด
รู้จัก ‘ออทิสติกเทียม’
“ออทิสติกเทียม” ในสังคมไทยมีคนรู้จักภาวะนี้น้อยมาก ข้อมูลเปิดเผยโดย พญ.วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา แพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศรีธัญญา แพทย์เฉพาะทางจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลเวชธานีและโรงพยาบาลนครธน คุณหมอยังอธิบายเพิ่มเติมถึงภาวะออทิสติกเทียม คือ เด็กเล็กๆ วัยขวบกว่าที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าทั้งทางด้านภาษาและสังคม เช่น ด้านภาษา คือวัยขวบกว่าแต่ไม่สามารถพูดหนึ่งคำที่มีความหมายได้ หรือเด็กวัย 2 ขวบกว่า ยังไม่สามารถพูดเป็นวลีได้ ส่วนพัฒนาการล่าช้าด้านสังคม เช่น ไม่เล่นกับเพื่อนหรือไม่สื่อสารกับคนอื่น อยู่ในโลกส่วนตัว หมกมุ่นกับกิจกรรมตัวเอง ไม่มองหน้า ไม่ทำตามคำสั่ง
“ออทิสติกหลักๆ คือพัฒนาล่าช้ากว่าวัย มีปัญหาเรื่องภาษา ไม่พูดตามเกณฑ์ ไม่มองหน้า ไม่สบตา ไม่พยายามสื่อสารกับคนอื่น ไม่ทำตามสั่ง หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น นั่งปรบมือ โยกตัว นั่งมองพัดลมเป็นเวลานานๆ นี่คือออทิสติก ซึ่งออทิสติกเทียมเด็กจะมีภาวะคล้ายๆ ออทิสติก แต่เมื่อเพื่อนบ้านหรือคุณครูทักจนพ่อแม่สังเกตเห็น เพราะเด็กดูแปลกๆ ไม่เหมือนเด็กในวัยเดียวกัน เด็กๆ เวลาอยู่กับพ่อแม่ที่บ้านไม่มีตัวเปรียบเทียบเหมือนเด็กอยู่กับเพื่อนในโรงเรียน ก็จะเห็นความผิดปกติชัดเจน เมื่อคุณพ่อคุณแม่พาลูกมาปรึกษาแพทย์ แพทย์ประเมินในด้านความล่าช้าภาษาและสังคมรุนแรงถึงขั้นเป็นออทิสติกหรือไม่ สมมติประเมินว่าความรุนแรงไม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัย แต่สอบถามประวัติการเลี้ยงดูในเด็กบางกลุ่มพบว่าการเลี้ยงดูมีปัญหาไม่ได้กระตุ้นเท่าที่ควร เช่น ภาษา พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยกับลูก ปล่อยให้เป็นพี่เลี้ยงดูแลหรืออยู่กับผู้สูงอายุ อีกทั้งปล่อยให้ลูกอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์ ดูการ์ตูนในทีวี ทำให้เด็กไม่ได้ถูกกระตุ้นการสื่อสาร เราต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานความสามารถไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน เช่น ด้านภาษา เด็กบางคนพื้นฐานความสามารถดีตั้งแต่เกิด เขาถูกกระตุ้นพัฒนาการนิดเดียวก็เก่ง แต่เด็กบางคนขี้อาย เข้าสังคมไม่เก่ง ยิ่งไม่เก่งแล้วไม่กระตุ้นก็ยิ่งช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ทางสังคมพ่อแม่ไม่ค่อยให้เด็กไปเล่นกับลูกเพื่อนข้างบ้าน ทำให้เด็กไม่รู้จักการอยู่ร่วมในสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน อันนี้คือปัญหาการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กยิ่งล่าช้า แต่ไม่ได้มีพฤติกรรมชัดเจน อันนี้เรียกว่า เด็กมีภาวะออทิสติกเทียม”
ครอบครัวฐานะดีมีภาวะ ‘ออทิสติกเทียม’ มากกว่า
คุณหมอวรรณพักตร์พบแนวโน้มเด็กไทยมีภาวะออทิสติกเทียมเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ ประกอบกับพ่อแม่ส่วนใหญ่ในสังคมเมืองต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกเอง ปล่อยให้พี่เลี้ยงดูแล โดยเฉพาะพี่เลี้ยงชาวพม่าที่ไม่ได้พูดคุยหรือเล่นกับเด็กเลย ทำให้เด็กๆ ไม่มีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยทั้งด้านสังคมและภาษา
“การเลี้ยงเด็กเล็กๆ ที่ดีคือ ควรมีเวลานั่งคุยนั่งพูดกับเด็ก เล่านิทานให้ลูกฟัง เด็กจะได้รับการกระตุ้นด้านภาษา ถ้าพ่อแม่ยุคนี้ไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี ผลกระทบที่จะเกิดจากการเล่นไอที เราต้องเฝ้าระวัง และตื่นตระหนกในการป้องกัน ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับไอที ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต อย่าปล่อยให้เด็กเล่นเกม นั่งดูซีดีการศึกษา ซึ่งพ่อแม่คิดว่าการปล่อยให้เด็กนั่งดูการ์ตูนเป็นการกระตุ้นแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว เมื่อลูกถูกกระตุ้นด้านพัฒนาการ ลูกมีแนวโน้มดีขึ้นได้ถ้ากระตุ้นอย่างเหมาะสม อย่างน้อยๆ 6 เดือนขึ้นไปเด็กจะมีภาวะดีขึ้น หรือฝึกแค่ 3 เดือน เด็กดีขึ้นในด้านการสื่อสาร
แต่ออทิสติกแม้ใส่ตัวกระตุ้นไปแล้ว ก็ยังมีอาการบางอย่างไปจนถึงตอนโต แต่ออทิสติกเทียมหากกระตุ้นดีๆ จะไม่หลงเหลืออาการเลย แต่มีบางคนที่ไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมก็ไม่หายและมีภาวะอยู่อย่างนั้น ออทิสติกเทียมจึงสามารถพัฒนาได้ เพราะสมองเด็กไม่ได้ล่าช้า แต่เขาขาดการกระตุ้นต่างหาก” นี่คือความต่างระหว่างออทิสติกทั้งสองแบบ แต่จริงๆ แล้วออทิสติกแบ่งได้หลากหลายภาวะมาก
6 ปีทองของลูก
ปีทองของสมองลูกคือ 6 ปีแรก หากเด็กๆ ได้รับการกระตุ้นดีขึ้น เหมาะสม โอกาสฟื้นฟูดีขึ้น มีสูงมากๆ วิธีเลี้ยงลูกถูกต้องคือ พยายามกระตุ้นพัฒนาการตามวัย 1 ขวบต้องพูด การให้เวลาคุณภาพกับเด็กไม่ต้องมากในแต่ละวัน แต่พ่อแม่ต้องกระตุ้นการสื่อสารและเล่นกับลูกอย่างจริงจัง ทำเสมอๆ และทำทุกวัน เล่นด้วยกัน อ่านนิทานด้วยกัน เล่นกับลูก พูดคุยโต้ตอบ เวลาดูทีวี ลูกดูพ่อแม่ดูด้วย และพูดคุยอธิบาย การให้ลูกนั่งระบายสี ต่อเลโก้ จิ๊กซอว์ ถือเป็นการฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อทั้งนั้น อยู่คอนโดมิเนียมก็ควรปล่อยลูกออกมาวิ่งเล่นบ้าง
“อยากแนะนำว่าพ่อแม่อย่าฝากความหวังไว้กับคนอื่น พ่อแม่ต้องคอยเช็ก คอยดูพัฒนาการของลูกว่าสมวัยไหม ยุคนี้หาข้อมูลอ่านได้ง่ายมาก มีคุณหมอเขียนไว้มากมายเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก ถ้าลูก 2 ขวบครึ่งพูดได้เป็นคำๆ เราควรซีเรียสแล้ว”
คุณหมอเน้นย้ำอีกว่า หากพบว่าบุตรหลานในครอบครัวมีภาวะออทิสติกเทียม ให้คิดเสียว่ายังโชคดียังมีโอกาสรักษาลูกได้ปกติ ออทิสติกเทียม เป็นภาวะที่ยารักษาไม่ได้ พ่อแม่ต้องปรับการเลี้ยงดูกระตุ้นพัฒนาการตามความเหมาะสม ถ้าเรารู้เร็ว ใส่ตัวกระตุ้นพัฒนาการที่พร่องไปอย่างเหมาะสม เกิน 80% ดีขึ้นภายใน 6 เดือน หรือภาวะออทิสติกเทียมหายไปเลยก็มี
พลังแห่งรัก
คุณแม่สาวนฏชมน นิลอ่อน ฝ่ายบริหารจัดการกลุ่มศักยภาพพลังบวก ออทิสติก นับเป็นคุณแม่เข้มแข็งที่กล้าเผชิญกับภาวะออทิสติกเทียมและออทิสติก เธอกล้าเปิดเผย แบ่งปันเรื่องราวการเลี้ยงดูลูกสาวพราว วัย 13 ขวบ มีภาวะออทิสติกเทียม และลูกชายวัย 6 ขวบ 8 เดือน มีภาวะออทิสติก คุณแม่เปิดรับและรู้วิธีรับมือได้อย่างดี จนพิสูจน์คำว่า พลังแห่งรักชนะทุกสิ่ง จนปัจจุบันลูกสาวดีขึ้นเกือบ 90% เหลือแต่เรื่องเดียวที่คุณแม่ห่วงคือ การจัดการทางด้านอารมณ์ที่อ่อนไหวเท่านั้น
“ครั้งแรกที่รู้ว่าลูกสาวมีภาวะออทิสติกเทียม ตอนเขาอายุ 6 ขวบ รู้ครั้งแรกตกใจ เพราะเกิดจากการเลี้ยงดู คุณแม่รีบปรับพฤติกรรมการเลี้ยงลูกก็พบว่าลูกดีขึ้น แค่กระตุ้นการพูดภายใน 2 เดือน ลูกพูดได้ กระตุ้นโลกส่วนตัวภายใน 6 เดือน ลูกสาวดีขึ้น แต่ลูกชายรู้ว่าเขามีภาวะออทิสติกตอน 3 ขวบ ก็ต้องกระตุ้นพัฒนาการลูกอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยลูกอยู่คนเดียว สอนเขา อยู่กับเขา เพราะคุณแม่ออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกโดยเฉพาะ พาเขาไปในสถานที่ที่เด็กๆ ทุกคนไปได้ ไม่มีคำว่าอาย เพราะถ้าเราอาย ลูกจะไม่พัฒนา และลูกจะอยู่อย่างไรในวันที่ไม่มีเรา ตอนนี้รู้สึกดีใจที่ลาออกจากงาน คิดว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิด เพราะเราได้ลูกกลับมา ครั้งแรกยอมรับทำใจไม่ได้ เสียใจ กว่าคุณแม่จะตั้งตัวได้ 3 เดือนทั้งพ่อและแม่ คุณแม่จึงอยากแนะนำทุกคนว่า พอรู้ว่าลูกเราเป็น อย่าไปห่วงว่าลูกเราเป็นอะไร แต่เราตั้งใจดูแลช่วยเหลือเขาให้มีความสุขที่สุด เวลาเขาไม่มีเราเขาอยู่ได้ เราจะมีแรงมีพลังดูแลลูก”
สำหรับลูกสาว คุณแม่สาวดูแลด้านจิตใจเป็นพิเศษ ต้องเอาใจใส่ในหนึ่งอาทิตย์หากคุณแม่เห็นความผิดปกติของลูกสาว เช่น ตาแดงๆ เหมือนผ่านการร้องไห้ หรือเห็นลูกเงียบๆ คุณแม่จะเรียกลูกสาวมาพูดคุย วิธีที่ดีคือ เราต้องสังเกตพฤติกรรมลูก เขามีปัญหาในการดำเนินชีวิตหรือไม่ อย่างไร เพราะเด็กแต่ละคนมีปัญหาที่ต่างกัน อยากบอกทุกคนว่า เงินสำคัญจริง แต่ลูกสำคัญที่สุด เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว พัฒนาการของลูกเราซื้อกลับมาไม่ได้
วิธีดูแลลูกหลักๆ ของคุณแม่สาว คือ เธอปรับทัศนคติของพ่อแม่ให้ยอมรับเขาให้ได้ เข้าใจว่าลูกเป็นอย่างนี้ เสริมในจุดเด่นจุดด้อยของลูก ไม่ว่าจะออทิสติกแท้หรือเทียมก็ตาม เช่น เมื่อพบว่าลูกชายเมื่อเล่านิทานให้ลูกฟัง ลูกมีความจำที่ดีมากๆ ก็ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังบ่อยๆ
“ปัญหาของพ่อแม่ที่พบว่าลูกมีภาวะออทิสติกมักเฝ้าโทษตัวเอง คุณแม่แนะว่า คิดได้ แต่อย่าคิดนาน เพราะไม่ช่วยและไม่มีประโยชน์ แต่ให้มาคิดว่าเราจะพัฒนาลูกอย่างไรดีกว่า และอย่าไปแคร์หรืออายสายตาคนอื่น ซึ่งแม่เคยรู้สึก อันนี้ลูกเราจะยิ่งแย่ ให้เราทำวิธีหูหนวก ตาบอดเสีย และพาลูกไปทุกที่ที่เด็กปกติไป ลูกจะไปกรี๊ดตรงไหนก็ฝึก เราต้องเรียนรู้และสอนลูกเลย แล้วลูกเราจะพัฒนาดีขึ้น นี่คือสิ่งที่อยากแนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกมีภาวะออทิสติกธรรมดาหรือเทียมก็แล้วแต่ เราบอกตัวเองว่าลูกเราแตกต่างจากคนอื่น แต่อย่าเหมาว่าลูกเราด้อยกว่าคนอื่น เราต้องค้นหาให้เจอ ลูกเราเก่งด้านไหน แม่อยากให้กำลังใจ ถ้าคุณหมอบอกว่าลูกมีภาวะออทิสติกเทียม ก็ไม่ต้องเสียใจ เราดูแลได้ เด็กจะดีกว่าเด็กปกติด้วยด้วยซ้ำค่ะ”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในเมืองไทยมีมูลนิธิหรือชมรมที่ให้คำปรึกษาด้านภาวการณ์พัฒนาในเด็กออทิสซึมมากมาย เช่น มูลนิธิ เดอะ เรนโบว์ รูม ชมรมเมืองไทยเข้าใจออทิสซึม กลุ่มศักยภาพเชิงบวก ออทิสติก ฯฯ ดร.ขวัญ หารทรงกิจพงษ์ กรรมการมูลนิธิ เดอะ เรนโบว์ รูม ประธานชมรมเมืองไทยเข้าใจออทิสซึม และผู้อำนวยการด้านคลินิก ลิตเติ้ล สเปราท์ ศูนย์พัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กล่าวว่า ในต่างประเทศเห็นความสำคัญของออทิสซึมมาก และกำหนดให้วันที่ 2 เม.ย. เป็นวันออทิสซึมโลก ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญกำหนดเป็นกฎหมายเพื่อผู้ที่มีภาวะออทิสซึมมานานหลายปีแล้ว
ดร.ขวัญ แนะว่า หากพบลูกเป็นออทิสซึม อันดับแรกควรพาไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งคุณหมอจะวินิจฉัยอาการว่าเด็กมีพัฒนาการเหมาะกับวัยหรือไม่ จากนั้นคุณหมอจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่เพื่อส่งน้องไปกระตุ้นพัฒนาการทั้งในหน่วยงานรัฐบาลและเอกชนที่เหมาะสม ซึ่งผู้ปกครองก็สามารถเลือกสถานที่ใกล้บ้านได้ อย่างเช่น ชมรมเมืองไทยเข้าใจออทิสซึม เป้าหมายคือ ให้ความรู้คนทั่วไปว่าออทิสซึมคืออะไร และมีโปรแกรมดูแลน้องๆ ออทิสซึม หรืออย่างเรนโบว์ รูม จะช่วยให้ข้อมูลได้กว้างขึ้น มีกลุ่มคุณแม่มีภาวะนี้เหมือนกันมาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้
“เราทำงานด้านนี้มา 13 ปี มีจำนวนเด็กมีภาวะออทิสซึมเพิ่มสูงแบบตัวเลขยกกำลัง คือเท่าตัวเลย ซึ่งมีหลายๆ ทฤษฎี บางคนบอกว่าเป็นเคมีเคิลในสิ่งแวดล้อม บางคนบอกว่าเป็นยาที่ฉีด อาหารที่เรากิน แต่ยังไม่สรุป ฉะนั้นเป็นภาวะที่ป้องกันไม่ได้เลย พบเร็วช่วยได้เร็ว สำหรับออทิสซึมเทียม จากเด็กที่มารับคำปรึกษา 100 คน จะพบราว 25 คนค่ะ แต่หากพบเร็วกระตุ้นได้เร็ว โอกาสหายมีสูงค่ะ