posttoday

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

11 มีนาคม 2558

ในสายใยครอบครัวมีความผูกพันที่มองไม่เห็นและตัดไม่ขาดฝังแน่นผ่านทางสายเลือด

โดย...พริบพันดาว

ในสายใยครอบครัวมีความผูกพันที่มองไม่เห็นและตัดไม่ขาดฝังแน่นผ่านทางสายเลือด แต่ก็มีบางเรื่องราวที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยเป็นประเพณีที่ฝังรากลึกและปฏิบัติตามความเชื่อมาเนิ่นนาน ต้องปล่อยไปตามยถากรรม แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงและก้าวไปไกลแล้ว

“พิธีกรรมรับลูกสาวกลับสู่ตระกูลแซ่เดิม หรือสู่อ้อมอกของพ่อแม่” ของโครงการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎจารีตม้งที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว ที่ได้นำหญิงสาวชาวม้งกลับบ้านมาตั้งแต่ปลายปี 2556 เป็นความสำเร็จในความยากลำบากที่จะทะลายกำแพงความเชื่อที่มีมายาวนาน

นี่คือมิติใหม่ของการรื้อสร้างทัศนคติทางเพศที่ผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างของสังคมชนเผ่ามายาวนาน แต่การทำงานย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย และค่อยๆ เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังจากที่มืดมิดไร้ทางแก้ ไม่มีแม้ทางออกมายาวนาน

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

สถานการณ์ของหญิงม้ง

ปัจจุบันชาวม้งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนคน

สังคมม้งเชิดชูผู้ชาย การศึกษาผู้ชายได้รับก่อนผู้หญิง เนื่องจากมีความเชื่อว่า ผู้หญิงกลายเป็นสมบัติของผู้ชายหลังจากที่แต่งงาน โดยไปตัวเปล่า อาศัยเศรษฐกิจของผู้ชาย ซึ่งทำให้เป็นการเหมือนการเสี่ยงดวง ฐานะของผู้หญิงจึงเปลี่ยนแปลงไปตามสามี

ทั้งนี้ ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปบ้างในบางพื้นที่ โดยผู้หญิงสามารถเข้ารับการศึกษาได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่า ผู้หญิงสามารถช่วยเหลือฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ ในส่วนของการตัดสินใจทางการเมือง ผู้หญิงม้งโดยส่วนใหม่ไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งทางการเมือง และทางการปกครองได้ เนื่องจากมีการกำหนดเรื่องความเป็นผู้นำจากตระกูลแซ่

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

ผู้หญิงถูกมองว่าอ่อนแอ หากครอบครัวที่ไม่มีบุตรชาย หากภรรยาของครอบครัวเป็นหมัน สามีก็จะได้รับอนุญาตให้หาภรรยาใหม่จนกว่าจะมีบุตรชายได้ หรือหากสามีเป็นหมันเองก็จะรับบุตรบุญธรรมที่เป็นเพศชาย เพราะคนม้งมีความคิดว่า หากตายต้องให้ลูกชายทำหน้าที่ฝังศพ เพื่อให้วิญญาณสามารถไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้

ในสังคมม้งการหย่าร้างมิใช่เป็นเรื่องของคนสองคน ต้องได้รับการตัดสินใจจากผู้อาวุโสประจำตระกูล ผู้หญิงที่ฟ้องหย่าจะต้องเสียค่าปรับและไม่มีที่ยืนในสังคมม้ง และไม่สามารถกลับไปครอบครัวเดิมได้ เวลาเสียชีวิตไม่มีผู้มาทำพิธีเซ่นไหว้ ทำให้ผู้หญิงม่ายจึงต้องหาสามีใหม่ บางคนต้องยอมแต่งงานเป็นเมียที่สองที่สามของผู้ชายม้ง บางคนเปลี่ยนศาสนา แม่ม่ายมักถูกปฏิบัติอย่างดูถูกเหมือนเป็นวัตถุทางเพศ

ผู้หญิงม้งที่แต่งงานแล้วจึงยอมอดทนถูกกดขี่จากสามีหรือครอบครัวสามีแทนที่จะหย่าร้าง เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อหย่าแล้วไม่สามารถกลับไปนับถือผีบรรพบุรุษของพ่อแม่ตนเองเหมือนเดิมได้ กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อน วัฒนธรรมและความเชื่อเหล่านี้ได้ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

ผู้หญิงม้งที่ยืนด้วยขาตัวเอง

ผู้หญิงม้งคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาแข็งขืนเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมที่ให้อำนาจฝ่ายชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงถูกมองเป็นเพียงวัตถุไร้ตัวตนเป็นทาสแรงงานในครัวเรือน และ
อู่ผลิตทายาทให้กับสายตระกูลสามี เธอกลายเป็นหญิงม่ายหย่าสามีที่ไม่หย่าตระกูล และผู้หญิงที่มุ่งมั่นทำงานพัฒนาชุมชนเพื่อสิทธิสตรีม้งโดยสร้างการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมม้ง

แน่งน้อย แซ่เซ่ง อาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบทในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย รุ่นที่ 7 ได้เล่าประสบการณ์ของอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิงชนบทกับการแก้ปัญหาความรุนแรงระดับท้องถิ่น ที่รายงานใน Newsletter ของภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนที่ 5 เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2557 ว่า

“ผู้หญิงต้องอยู่กับผู้ชายตลอด ถ้าแต่งงานกับเขาแล้วก็ต้องอยู่กับเขาตลอด จะเป็นจะตายอย่างไรก็ต้องอยู่กับเขา จะกลับไปอยู่พ่อแม่ไม่ได้”

แน่งน้อยถูกฉุดจากผู้ชายที่เคยเห็นหน้ากันแค่สองครั้ง เธอพบว่าตนเองต้องตกเป็นภรรยาคนที่สองของสามี เข้าสู่ความสัมพันธ์วัฒนธรรมผัวเมียครอบครัวม้งที่ผู้หญิงต้องแบกรับภาระและความทุกข์จากความไม่เท่าเทียมทางเพศ และสถานภาพเมียน้อยที่ถูกกดผลักไสให้ไปอยู่ตำแหน่งท้ายสุดของครอบครัว

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

“ความเชื่อของม้งคือ ถ้าข้ามประตูไปแล้วจะกลับมาไม่ได้อีก ก็เลยทำให้เราต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราเป็นทาสเขาไปเลย”

ความเก็บกด อัดอั้นตันใจ และโกรธ เสียใจ แต่ต้องอดทนภายใต้กรอบวัฒนธรรมม้ง ความรู้สึกที่ได้รับความไม่เป็นธรรมค่อยๆ กัดกินจิตใจให้เจ็บปวดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความกดดันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความทุกข์ภายใต้การกดทับทางวัฒนธรรมผ่านครอบครัวสามี

“เราก็อยู่ไปด้วยวันๆ ร้องไห้ไปด้วย ไม่มีความสุข พออายุมากขึ้น ก็หมดความอดทนแล้ว พี่เลยออกจากบ้านเขา ตอนนั้นก็ทำงานสังคมแล้วเลยรู้เรื่องสิทธิบ้าง เลยออกจากชุมชนทำงานในเมือง พอมาอยู่ในชุมชนอีกเรารู้สึกว่าไม่ค่อยมีความอดทนอีก อาจเป็นเพราะว่าเราอายุมากขึ้น ได้แต่คิดว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้ ทำไมไม่ยุติธรรมเลย”

แม้จะออกมาอยู่อย่างเข้มแข็ง ทำมาหากินบนลำแข้งและเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว แต่แน่งน้อยไม่คิดที่จะให้ผู้หญิงม้งทำตามวิธีของตน เพราะมองว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลต้องตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะมีอุปสรรคและแรงกดดันสูงหากไม่เข้มแข็งพอ

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

แสงในความมืดที่ไม่จืดจางน้ำใจ

โครงการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎจารีตม้งที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและครอบครัว ของเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ซึ่งมีทีมวิจัยกฎจารีตม้งได้นำเสนอผลงานและความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการระดมทุนเพื่อทำสื่อเผยแพร่พิธีกรรมรับลูกสาวกลับสู่ตระกูลแซ่เดิม หรือสู่อ้อมอกของพ่อแม่หลังจากแต่งงานแล้วชีวิตประสบปัญหาหย่า ถูกส่งคืน อีกหลายๆ ปัญหา

ครอบครัวที่รับลูกสาวกลับบ้านและตัวลูกสาวเองที่ทางพ่อแม่รับกลับก็มีหลายรายทั้งที่ จ.น่าน และเชียงใหม่  รัศมี ทอศิริชูชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย บอกว่า อุปสรรคมากมายในการทำโครงการรับลูกสาวกลับบ้านคืนสู่ตระกูลแซ่เดิม

“ตอนเริ่มต้นที่ทำงานก็หนักอยู่ เพราะไม่รู้ว่าสังคมชาวม้งจะตอบรับแบบไหน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก พอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าถึงเวลาที่หลายภาคส่วนต้องมาร่วมมือกัน ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ต่อต้านกันค่อนข้างเยอะ คนที่เราเข้าไปทำงานด้วยในชุมชนก็บอกว่าถ้าจะทำในประเด็นเรื่องนี้ต้องรอให้คนเฒ่าคนแก่รุ่นนี้ตายก่อนจึงค่อยทำหรือขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เราก็รู้สึกท้อ

“ผู้เฒ่าผู้แก่บางคนทั้งผู้ชายและหญิงก็มาพูดแรงๆ ว่า ห้ามเอาเรื่องข้างในออกไม่ให้เอาเรื่องข้างนอกเข้า แต่ผู้ใหญ่ก็จะมีอยู่สองส่วน ก็มีส่วนที่สนับสนุนอยู่เช่นกัน ส่วนนี้ก็บอกว่า ทำไปเถอะ เห็นดีด้วยต้องเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ พวกเขาจะอยู่ข้างหลังคอยหนุน ไม่เข้าใจตรงไหนก็มาถามได้ ซึ่งจากถอดใจก็ทำใจได้ว่าอย่างน้อยก็มีคนเข้าใจในโครงการนี้”

รัศมี เปิดเผยว่า พอลงมือทำงานลงสำรวจก็เจอผู้หญิงม้งที่ประสบปัญหาชีวิตคู่เยอะมาก ทีมวิจัยที่ลงไปทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เรื่องพื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงม้ง : กรณีศึกษาผู้หญิงที่ประสบปัญหาครอบครัวในหมู่บ้านแม่สาใหม่และแม่สาน้อย อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่ ล้วนเหน็ดเหนื่อย

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

โครงการนี้ริเริ่มโดยสมาชิกเครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่างๆ กับแผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงฯ และเล็งเห็นถึงปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมม้ง อันเกิดจากกฎจารีตที่สร้างภาวะความเป็นชายขอบให้กับผู้หญิงม้ง โดยเฉพาะผู้ที่ประสบปัญหาครอบครัวทั้งจากการหย่าร้าง การเป็นม่ายและการมีบุตรนอกสมรส

“โครงการนี้สามารถเปิดพื้นที่ปัญหาของหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิผล อันเห็นได้จากการสนับสนุนโครงการจากผู้นำชุมชน ผู้นำตระกูลแซ่ และผู้นำพิธีกรรม จนสามารถค้นหารื้อฟื้นรูปแบบพิธีกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาจากจารีตดังกล่าวและได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนในหมู่บ้าน 2 หมู่บ้านที่มีอยู่ 200 กว่าหลังคาเรือน ก็พบว่ากลุ่มผู้หญิงที่ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีสามีและได้รับความเดือดร้อนมีอยู่ถึง 73 ราย โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่มีปัญหากับกลุ่มที่มีลูกหลานดูแลก็แบ่งเป็นครึ่งต่อครึ่ง

“คนที่ประสบปัญหาส่วนใหญ่เขาก็บอกว่า ช่วยไม่ได้หรอกก็เราเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ได้เรื่องหรอก แต่พวกเธออยากทำก็ทำไป แต่ก็มีน้อยคนที่จะมาร่วมในโครงการ ตอนนี้ที่แก้ไขไปแล้วก็มีประมาณ 20 กว่าคนในโครงการ ส่วนในหมู่บ้าน 2 หมู่บ้านนี้สำเร็จแค่ 3 คน เขาบอกว่าเขายอมแก้ถ้าผู้นำมาประกอบพิธีกรรมให้ พอแก้เสร็จปั๊บ ชาวบ้านในหมู่บ้านก็จะด่าเราว่า คอยดูนะครอบครัวเหล่านี้จะเกิดความฉิบหายมีอาเพศแน่ๆ ก็มีทั้งคนโจมตีและให้กำลังใจ”

หากย้อนหลังกลับไป การรวมตัวของผู้หญิงม้งเป็น “เครือข่ายสตรีม้งแห่งประเทศไทย” มีขึ้นตั้งแต่ปี 2527 โดยมีการประชุมร่วมกันเป็นประจำ มีการรวมตัวกันเรียกร้องกับผู้อาวุโส 7 ข้อ คือ

1.การออกจากผีของผู้หญิงโดยการแต่งงาน หากมีความจำเป็นที่ผู้หญิงจะกลับเข้าผีเดิม ขอให้มีพิธีกรรมให้ผีกลับเข้าบ้านได้

2.กรณีที่ท้องนอกสมรส ไม่ว่าจะเกิดจากการข่มขืน หรืออื่นๆ ขอให้บุตรสาวเหล่านี้สามารถกลับเข้ามาคลอดบุตรที่บ้านได้

3.กรณีแม่ม่ายหากไม่ต้องการแต่งงานใหม่ ขอให้ครอบครัวของสามีช่วยทำหน้าที่ดูแล

4.บุตรสาวควรได้รับการศึกษา (เท่ากับหรือสูงกว่าผู้ชาย)

5.ค่าสินสอดขอให้เปลี่ยนเป็นสินสมรส เพื่อปรับแนวคิดเรื่องการซื้อผู้หญิง และการตั้งครอบครัวใหม่

6.การเลี้ยงดูบุตรหลานเป็นหน้าที่ของผู้ชาย และผู้หญิงโดยรวม

7.ให้โอกาสกับผู้หญิงได้เรียนรู้กับสังคมภายนอก

‘รับลูกสาว (ม้ง) กลับบ้าน’ น้ำตาที่ไหลคงมีวันจางหาย...

รัศมีบอกว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก ขั้นตอนการรับหญิงสาวกลับมานั้นยุ่งยาก และมีความขลาดกลัวต่อการผิดผีบรรพบุรุษ

“ผู้หญิงส่วนใหญ่พอกลับมาก็ถูกบอกว่า เข้าอยู่ในบ้านพ่อแม่ไม่ได้นะต้องอยู่นอกบ้าน บางคนเขาก็สร้างกระท่อมเล็กๆ หรือบ้านเล็กๆ ให้อยู่ข้างนอก ต่อมาก็ให้เข้าอยู่ในบ้านได้ แต่ต้องประกอบพิธีกรรมอะไรหลายอย่าง พ่อแม่ก็ไม่กล้าบอกลูกเพราะด้วยความรัก ก็ให้คนอื่นหรือคนข้างบ้านเป็นคนไปบอกลูกสาวว่า วันนี้พ่อแม่ของเธอจะประกอบพิธีกรรมสำคัญทางบรรพบุรุษ ให้เธอกับลูกออกไปนอกบ้าน อยู่ร่วมพิธีกรรมกับเขาไม่ได้ เพราะเธอไม่ใช่คนของเขาและบรรพบุรุษก็ไม่ได้รับเธอเป็นคนในบ้านหลังนี้

“ตอนที่เราทำวิจัยก็ได้ถามผู้เฒ่าผู้แก่ เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ทุกวันเสาร์ก็นัดหญิงสาวที่กลับบ้านไม่ได้มาเจอกันเป็นระยะเวลา 3-4 เดือนติดต่อกัน เป็นการพูดคุยเยียวยาทางจิตใจ พูดคุยปรับทัศนคติ ซึ่งปัญหานี้มีทางแก้หรือทางออก แต่คนไม่ได้พูดคุยกัน พอมีการพูดคุยกันก็มีการตอบรับ คนที่มองไม่เห็นปัญหาถึงจุดนี้หรือเคยต่อต้านโครงการนี้ในช่วงแรกก็บอกว่า เออ! จริงๆ แล้วมันก็มีทางออกเป็นแบบนี้ ต้องแก้ไขไปตามขั้นตอนเฉพาะเรื่อง ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกว่าช่วยแก้ได้ถ้ามีคนอาสาหรือคนอยากทำ”

แม้จะมีความสำเร็จเพียงน้อยนิดในการที่จะเปิดใจให้ครอบครัวชาวม้งรับลูกสาวกลับสู่บ้านเกิด เนื่องด้วยติดขัดกับกฎของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาแต่โครงการ “พิธีกรรมรับลูกสาวกลับสู่ตระกูลแซ่เดิม...หรือสู่อ้อมอกของพ่อแม่” ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 กำลังเปิดประตูบานใหม่ให้กับผู้หญิงชาวม้งที่ล้มเหลวในชีวิตสมรสได้ซับน้ำตากลับสู่ครอบครัวเดิม มีทางออกของชีวิตที่มากขึ้น ไม่ต้องหมดสิ้นหนทางเหมือนในอดีต...