posttoday

ห้องสมุดของอนาคต ปลดล็อกผ่านสู่ยุคดิจิทัล

24 สิงหาคม 2558

โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีที่วิ่งไวและมีการแข่งขันกันสูง

โดย...พริบพันดาว ภาพ : prezi.com/lwcharterschools.com/ globalworldinfo.com/commons.wikimedia.org

โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีที่วิ่งไวและมีการแข่งขันกันสูง ยุคสมัยและรุ่นของคนที่แปรเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากแบบเก่าไปอย่างสิ้นเชิงมุมเงียบๆ ของคลังความรู้ที่ผ่านหนังสือแบบกายภาพที่จับต้องได้แบบกระดาษ ก็ตกยุคและซุกอยู่เงียบๆ อย่างโดดเดี่ยว เพราะไม่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคออนไลน์และโซเชียลมีเดีย

การปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนไปของยุคดิจิทัลของห้องสมุดในเมืองไทยกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อรองรับวัฒนธรรมการอ่านของคนในสังคม โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น และคนในวัยทำงานที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคอ่านทุกสิ่งผ่านเครื่องมือการสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แฟบเล็ต ที่บรรจุหนังสือที่เป็นไฟล์ดิจิทัลได้มากมาย

การดำรงอยู่ของห้องสมุดในยุคโซเชียลมีเดีย ต้องตื่นตัวในการสร้างนวัตกรรมสำหรับทุกๆ งานของห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดหา การแค็ตตาล็อก การสืบค้น และการบริการด้านต่างๆ ฯลฯ ห้องสมุดจะกลายเป็นผู้ผลิตเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ รวมทั้งการนำสื่อดิจิทัลมาใช้แทนทรัพยากรแบบเก่าในห้องสมุด รวมถึงการสร้างสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ รวมถึงเครือข่ายจากทั่วโลก เพื่อให้บริการในการศึกษาและค้นคว้าความรู้ในด้านต่างๆ อย่างครบวงจร

ปัจจุบันได้มีร้านกาฟและร้านอาหารที่ตกแต่งในแนวคาเฟ่แบบทันสมัยมากมาย ที่เปิดเป็นพื้นที่ที่สามารถให้คนรุ่นใหม่ได้พบปะสังสรรค์ โดยตกแต่งร้านเพื่อเอาใจนิสิต นักศึกษา คนทำงานฟรีแลนซ์ และคนนอนดึก อาทิ C.A.M.P AIS : Library Cafe เป็นห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library) คลังหนังสือดิจิทัลที่เปิดให้สามารถเลือกยืม e-Book, e-Magazine ได้ง่ายๆ โดยใช้เทคโนโลยีจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมาตรฐานความเร็วระดับโลก หรือร้านกาแฟ Too Fast To Sleep สามย่าน ที่สร้างบรรยากาศเหมือนห้องสมุด

ภาพอดีตของห้องสมุดกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ห้องสมุดของอนาคต ปลดล็อกผ่านสู่ยุคดิจิทัล

 

ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านห้องสมุด

สิบปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มของคนที่มาใช้บริการห้องสมุดลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลและความรู้จากการค้นหาผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่เป็นเสิร์ชเอนจิ้นระดับโลก ซึ่งรวบรวมข้อมูลไว้อย่างครบถ้วนอย่างกูเกิล และเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย

บทบาทของห้องสมุดถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนไป และพยายามมีพัฒนาการเพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่กำลังจะหายไป เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ยังนำแนวการตลาดมาใช้ในการส่งเสริมการบริการห้องสมุด โดยผู้ใช้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการบริการสารสนเทศ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มองว่า เมื่อความต้องการของผู้ใช้บริการห้องสมุดยุคใหม่มีความหลากหลายมากขึ้นและไม่หยุดนิ่ง ทำให้ทางรอดของห้องสมุดประชาชนในหลายประเทศ คือ การปรับรูปแบบการใช้งานพื้นที่เสียใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแหล่งแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิต มิใช่แหล่งรวมและให้บริการทรัพยากรหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว

“นี่คือความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับห้องสมุดของไทย”

วัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park บอกว่าห้องสมุดเป็นรูปแบบหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสากลทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันห้องสมุดในโลกนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการเข้าถึงความรู้และแสวงหาความรู้ของคนรุ่นใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาห้องสมุดอย่างเดียว เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้แหล่งความรู้ต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ห้องสมุดในต่างประเทศหลายแห่งได้ล้มหายตายจากเพราะปรับตัวไม่ได้ แต่ก็มีห้องสมุดอีกหลายแห่งที่ปรับตัวได้ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ความคิดก็ต้องเปลี่ยนไปให้ทันโลก

“ห้องสมุดก็เป็นรูปแบบหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสากลทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือมีข้อมูลและข่าวสารจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าห้องสมุดในโลกนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ กระแสการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ยังไม่ชัดในสังคมไทย แต่เชื่อว่ามาถึงแน่นอน”

ซึ่งปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้น วัฒนชัย วิเคราะห์ว่า เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการเข้าถึงความรู้และพฤติกรรมในการแสวงหาความรู้ของคนรุ่นใหม่ 

ห้องสมุดของอนาคต ปลดล็อกผ่านสู่ยุคดิจิทัล

“การเข้าถึงคือทรัพยากรที่เป็นแหล่งความรู้ ตอนนี้กลายเป็นว่าคนที่จะเข้าถึงความรู้เหล่านั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาห้องสมุดอย่างเดียว เพราะการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตที่มีการแพร่หลายมาก ทำให้ทรัพยากรเนื้อหา แหล่งความรู้ต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการแสวงหาความรู้ด้วย เพราะคนไม่จำเป็นต้องเดินเข้ามาในพื้นที่กายภาพ ใช้เพียงแค่อุปกรณ์พวกสมาร์ทดีไวซ์ การคลิก การเสิร์ช ก็สามารถเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่อย่างมหาศาลในโลกไซเบอร์ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดกายภาพจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ว่านี้ ห้องสมุดในต่างประเทศหลายแห่งได้ล้มหายตายจากเพราะปรับตัวไม่ได้ แต่ก็มีห้องสมุดอีกหลายแห่งที่มีความสามารถในการปรับตัว ก็สามารถที่จะรักษาความเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ไว้ได้”

วัฒนชัย ชี้ว่า การปรับตัวที่เห็นชัดที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดเพื่อการยืมคืน มาสู่การให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้ใช้เป็นหลัก แล้วจัดสรรหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ของผู้ใช้ห้องสมุดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ ซึ่งเปลี่ยนจากผู้ใช้เก่ายุคอะนาล็อกมาเป็นผู้ใช้รุ่นดิจิทัล ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าถึงความรู้ผ่านเครื่องมือตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

“เสิร์ชเอนจิ้นบนอุปกรณ์ที่อยู่ในมือของทุกคน คือโลกห้องสมุดที่ทำให้แรงจูงใจหรือความจำเป็นให้คนเดินเข้าห้องสมุดที่เป็นพื้นที่กายภาพน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ห้องสมุดทางวิชาการ อาทิ ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดเพื่อการอ้างอิง อาจมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี เพราะความเฉพาะเจาะจงทั้งในแง่ของเนื้อหาและทรัพยากรห้องสมุด ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ใช้บริการ ตรงกันข้ามกับห้องสมุดประชาชน การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงกลับไม่ค่อยทันการณ์ ทำให้มีผู้ใช้ห้องสมุดน้อยลง งบประมาณถูกตัดทอนจนไม่เพียงพอ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังพบว่ามีห้องสมุดประชาชนทยอยปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก”

ทางรอดของห้องสมุดประชาชนในหลายประเทศ วัฒนชัย บอกว่า พวกเขาใช้วิธีการปรับรูปแบบการใช้งานพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนเกิดนวัตกรรมการจัดการห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ เป็นแหล่งแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ ทักษะ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

“สำหรับสังคมไทย แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏข่าวคราวการล้มหายตายจากของห้องสมุดประชาชนดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น แต่ไม่ช้าก็เร็ว ในที่สุดชะตากรรมก็อาจไม่แตกต่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะดังกล่าว ห้องสมุดประชาชนจะต้องเริ่มต้นคิดและเตรียมปรับตัวก่อนที่ผลกระทบจะมาถึง”

ประเด็นซึ่งต้องคิดวิเคราะห์ คือ แนวโน้มในอนาคตของห้องสมุดในเมืองไทย วัฒนชัยวิเคราะห์ว่า มี 2 เรื่อง ได้แก่ 1.บทบาทของห้องสมุด 2.รูปแบบและการจัดการพื้นที่ห้องสมุด ส่วนการปรับตัวจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์อย่างน้อย 3 ประการ คือ ความเข้าใจและเท่าทันต่อความก้าวหน้าในโลกเทคโนโลยีและการกระจายตัวของข้อมูลสารสนเทศ การเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ และการปรับมุมมองวิธีคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ของห้องสมุด

“เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ความคิดก็ต้องเปลี่ยนไปให้ทันโลก ห้องสมุดจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง มิฉะนั้นจะไม่ต่างไปจากไดโนเสาร์ยุคดิจิทัล ที่วันหนึ่งก็ต้องสิ้นสูญ”

ห้องสมุดของอนาคต ปลดล็อกผ่านสู่ยุคดิจิทัล

 

กรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านในต่างประเทศ

จากการจัดประชุมวิชาการในหัวข้อ “อนาคตห้องสมุด : สิ่งท้าทายและแนวโน้ม” (Library Futures : Challenges and Trends) ของ TK park ศ.โซเฮล อินอยาตอลเลาะห์ นักรัฐศาสตร์และนักอนาคตศึกษา จากประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า หลายคนเชื่อว่าอนาคตของห้องสมุดนั้นมืดมน การปฏิรูประบบห้องสมุดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก

“การเปลี่ยนแปลงไม่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของประชาชนในยุคการทะลักของสารสนเทศ แต่ยังเพื่อร่วมสร้างให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์บรรจุหนังสือที่หยุดอยู่กับที่ ห้องสมุดควรปรับตัวให้เป็นศูนย์บริการครบวงจร ซึ่งอำนวยความสะดวกในการร่วมสร้างสรรค์ภายในชุมชน เพราะแม้ว่าประชาชนจะยืมหนังสือน้อยลง แต่ผู้คนเข้ามาใช้ห้องสมุดทั้งที่เป็นห้องสมุดกายภาพและห้องสมุดไซเบอร์มากขึ้น”

เยนส์ ธอร์โฮก์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาห้องสมุด จากประเทศเดนมาร์ก ก็มองว่า ความท้าทายทั่วโลกต่อห้องสมุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดประชาชน คือ การเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขการเข้าถึงสารสนเทศ ซึ่งเป็นผลจากอินเทอร์เน็ตและสื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดและสื่ออย่างสิ้นเชิง

“ห้องสมุดได้สูญเสียความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะสถาบันที่เคยมีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในสังคม กลายเป็นผู้ให้บริการสารสนเทศที่ต้องแข่งขันกับเทคโนโลยีพื้นฐานหรือแพลตฟอร์มอื่นอีกหลายประเภท และสูญเสียฐานะผู้ผูกขาดไปโดยสิ้นเชิง ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่การออกแบบห้องสมุดใหม่ทั่วโลก ที่ตอบสนองความต้องการและรูปแบบชีวิตใหม่”

ห้องสมุดควรพิจารณาความจำเป็นของท้องถิ่นในชุมชนอย่างรอบคอบ ซึ่ง เยนส์ ธอร์โฮก์ บอกว่า บ่อยครั้งเชื่อมโยงกับแนวคิดบ้านหลังที่ 3

“หมายถึงพื้นที่สาธารณะแบบเปิดระหว่างที่ทำงานกับที่พำนักส่วนตัว ซึ่งถือเป็นห้องนั่งเล่นของชุมชนอย่างหนึ่ง และควรเป็นผู้ให้บริการกิจกรรมทางวัฒนธรรม หรือให้บริการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่สร้างสรรค์ เช่น แวดวงการอ่าน ชมรมผู้สูงอายุ พื้นที่สำหรับนักประดิษฐ์ (Maker-spaces) และห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตัดต่อข้อมูลดิจิทัล (Fab labs) เป็นต้น เป็นเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้ใช้และมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เป็นความท้าทายพื้นฐานค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน แต่คำตอบที่ถูกต้องจะแตกต่างไปในแต่ละสถานที่ บนความจำเป็นและเงื่อนไขของท้องถิ่น เพราะห้องสมุดเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของบรรณารักษ์”

นีล แมคอินเนส หัวหน้าส่วนงานจดหมายเหตุ สารสนเทศและห้องสมุดเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่รู้จักกันดีในฐานะเมืองแห่งห้องสมุด เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านของแมนเชสเตอร์ว่า จุดแข็งของการบริการของห้องสมุดต่างๆ ในเมืองแมนเชสเตอร์อยู่ที่คุณภาพและการกระจายทรัพยากร โดยผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงทรัพยากรห้องสมุดได้ตลอด 24 ชั่วโมง และให้บริการแอพห้องสมุดที่สามารถใช้กับโทรศัพท์มือถือ

“ทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น เราทำให้ห้องสมุดเป็นเสมือนพื้นที่ในการพบปะสังสรรค์ทำกิจกรรมที่หลากหลายในทุกเพศ วัย อาชีพ มีส่วนของมีเดีย เลานจ์ ที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียนรู้สร้างสรรค์ เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้สร้างดนตรี ออกแบบอาร์ตเวิร์ก หรือใช้บริการเครื่องพิมพ์สามมิติ และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ห้องสมุดแมนเชสเตอร์กลายเป็นกรณีศึกษาของห้องสมุดทั่วโลก ถ้าห้องสมุดปรับตัวไม่ทัน และคงสถานะของ ‘พื้นที่การอ่าน’ เช่นเดิม จะมีห้องสมุดมากมายที่จะสูญพันธ์ุไปโดยเหล่าอุกกาบาตแห่งการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลแน่นอน”

นอกจากการเปลี่ยนผ่านห้องสมุดสู่ยุคดิจิทัลแล้วนั้น ก็ต้องมีการทรานส์ฟอร์เมอร์บรรณารักษ์ร่วมไปด้วยเช่นกัน เพราะบรรณารักษ์ดำรงอยู่ตรงใจกลางของความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมากกว่าอาชีพใดๆ พวกเขาจะนำการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวัตกรรมก็ได้ หรือเพียงแต่เฝ้ามองค่านิยมหลักค่อยๆ สูญสลายและรอคอยจุดจบของอนาคตที่พวกเขาคุ้นเคยก็ได้เช่นกัน

ได้เวลาที่ต้องแปรรูปหรือเปลี่ยนร่างบรรณารักษ์เพื่อให้สอดรับกับห้องสมุดยุคดิจิทัล สิ่งที่ชัดเจนสำหรับบรรณารักษ์ คือ พวกเขาอาจเป็นศูนย์กลางการปฏิวัติองค์ความรู้ของโลกได้ อย่างไรก็ตามเหล่าบรรณารักษ์จะต้องท้าทายเรื่องเล่าดั้งเดิมเกี่ยวกับการเป็นภัณฑารักษ์หรือผู้ดูแลเก็บรักษาทรัพยากร ไม่ว่าในกรณีใด ปรากฏการณ์นี้ใกล้ถึงจุดจบ เนื่องด้วยกูเกิลและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่นั้นได้ดีกว่ามาก

เพื่อรู้เท่าทันอนาคตและความเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดแห่งโลกยุคดิจิทัล ในประเทศไทยนั้น องค์กรที่มีการปรับตัวห้องสมุดให้เป็นพื้นที่ของ Learning Space, Community Space, Maker Space wfh เริ่มเกิดขึ้นแล้ว อาทิ TK park, ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, C.A.M.P Library Cafe ห้างสรรพสินค้าเมญ่า จ.เชียงใหม่ และ Maker Zoo เป็นต้น